หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ยังขาดตลาด

นักวิชาการ ชี้ ไทยยังขาดหน้ากากทางการแพทย์ที่ อย.-สมอ. ให้การรับรอง ส่วนหน้ากากทั่วไป ทดสอบเพียงอนุภาคการกรองและการต้านการหายใจ

จากกรณีที่ สำนักบริหารการสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร บ.ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ชี้แจงในเอกสาร กรณีที่มีการจำหน่ายหน้ากากอนามัยเกินราคา 2.50 บาท นั้น โดยในเอกสาร ระบุว่า มีซัพพลายเออร์รายหนึ่งเป็นผู้นำหน้ากากอนามัยมาจำหน่ายในช่องทางการจำหน่ายของบริษัท โดยสินค้าดังกล่าวนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ได้มีหนังสือชี้แจงว่าไม่ใช่เครื่องมือแพทย์ โดยมีวัตถุประสงค์การใช้งานสำหรับป้องกันฝุ่นละออง หมอกควัน และเกสร จึงไม่ใช่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical mask) แต่อย่างใด การจำหน่ายหน้ากากอนามมัยดังกล่าว จึงไม่ใช่การจำหน่ายหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ต้องจำหน่ายในราคาไม่เกิน 2.50 บาท (รวม VAT ) แต่อย่างใด

The Active สอบถามเพิ่มเติม กับ รศ.พานิช อินต๊ะ หัวหน้าหน่วยวิจัยสนามไฟฟ้าประยุกต์สำหรับงานวิศวกรรม วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการผลิตหน้ากากอนามัย หน่วยงานภาครัฐ ได้รับการอธิบายเพิ่มเติมว่า หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ปกติแล้วที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานที่ อย. และ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำหนด นั้น หน้ากากอนามัยจะต้องผ่านการทดสอบ  5 อย่าง

  1. การกรองแบคทีเรีย  มากกว่าหรือเทียบเท่า 95%
  2. การกรองอนุภาค 0.1 ไมครอน มากกว่าหรือเทียบเท่า 95%
  3. การต้านการหายใจ ดูการสวมใส่สบาย หายใจสะดวก
  4. การลามไฟ
  5. การซึมผ่านของเหลว

“หน้ากากที่ผลิตในประเทศไทย ยังไม่มีผู้ประกอบการใดได้รับการรับรอง ผลิตภัณฑ์ชนิดหน้ากากทางการแพทย์ ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ เนื่องจาก แลปทดสอบที่ได้รับมาตรฐานจาก สมอ. เพิ่งเริ่มต้นช่วงที่มีการระบาดโควิด-19”

เขาระบุเพิ่มเติมว่า ปกติแล้วหน้ากากอนามัยทั่วไปที่ไม่ใช่หน้ากากทางการแพทย์ จะทดสอบเพียงแค่อนุภาคการกรอง และการต้านการหายใจ ซึ่งถ้าเป็นห้องทดสอบปฏิบัติการที่ได้รับมาตรฐาน ก็จะทดสอบอนุภาคการกรองที่ขนาด 0.1 ไมครอน หน้ากากจึงมีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก แต่คุณสมบัติอื่น ๆ จะไม่มีการทดสอบ 

ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า รูปแบบหน้ากากทั่วไปที่จำหน่ายเกินราคา ก็มีลักษณะเหมือนกับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ สร้างความสับสนให้กับผู้บริโภค ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ต้องระบุให้ชัดเจนว่าไม่ใช่หน้ากากทางการแพทย์ ขณะที่หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลเรื่องนี้ต้องเข้ามาควบคุม และทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงหน้ากากอนามัยที่มีมาตรฐานตรงตามการป้องกันตัวเองได้ เพราะ 1 ปี ที่ผ่านมา ยังไม่เห็นความคืบหน้า เบื้องต้นแนะนำให้ผู้บริโภคซื้อหน้ากากตามร้านขายยา

ขณะที่ องค์การเภสัชกรรม เพิ่งมีการเปิดไลน์การผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2563 มีกำลังการผลิต 8 แสน – 1 ล้านชิ้นต่อเดือน โดยจะเน้นกระจายตามโรงพยาบาลที่อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่เหลือจะจำหน่ายหน้าร้านขายยาขององค์การเภสัชกรรม ทั้ง 8 ร้าน และกิจกรรมเพื่อสังคม 

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส