เตรียมลงโทษผู้ติดโควิด-19 แต่ไม่มีแอปฯ “หมอชนะ”

โฆษก ศบค. แจง ถือว่าละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โทษ คุก 2 ปี ปรับ 40,000 บาท ให้ ผญบ. กำนัน นายจ้าง ออกเอกสารรับรองเดินทางข้ามเขตได้

วันนี้ (7 ม.ค. 2564) นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามข้อกำหนด ตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 17) ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด โดยมีสาระสำคัญ คือ

1. การยกระดับการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค เช่น การรักษาระยะห่าง การสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย การล้างมือ การตรวจวัดอุณหภูมิ การติดตั้งระบบแอปพลิเคชันที่กำหนด ตลอดจนยอมรับการกักกันตนเองตามระยะเวลาและในสถานที่ที่กำหนด และสนับสนุนการติดตั้งและใช้ระบบแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ควบคู่กับการใช้แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ”

“ต่อไปนี้หากใครติดเชื้อโควิด และพบว่าไม่ติดตั้งแอปฯ หมอชนะ จะถือว่าละเมิดข้อกำหนดฉบับที่ 17 เพราะมีหลายครั้งที่ไม่สามารถติดตามได้”

2. การยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่จำเป็นต้องมีมาตรการเข้มงวดอย่างยิ่ง โดยการตรวจสอบและควบคุมการใช้เส้นทางคมนาคมในการเดินทางเข้าออกพื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้แก่ จันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง และสมุทรสาคร

ให้ตั้งจุดตรวจหรือจุดสกัดเพื่อคัดกรองการเดินทางเข้าออกพื้นที่อย่างเข้มข้น และให้ผู้ที่อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดติดตั้งและใช้ระบบแอปฟลิเคชัน “หมอชนะ” ส่วนบุคคลที่ประสงค์จะเดินทางออกนอกพื้นที่ควบคุมสูงสุดต้องแสดงเหตุผลความจำเป็น โดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรแสดงตนอื่น ๆ ควบคู่กับเอกสารรับรองความจำเป็นที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่

3. การปราบปรามและลงโทษผู้กระทำผิดอันเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค เช่น บุคคลที่เกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบขนย้ายแรงงานต่างประเทศ การเปิดบ่อนพนัน อันเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค

4. โทษ โดยระบุว่า ผู้ฝ่าฝืนข้อกำหนดฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือหากผู้ติดเชื้อจงใจปกบิดข้อมูลหรือแจ้งข้อมูลเท็จต่อเจ้าหน้าที่ อันทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนและควบคุมโรคเป็นผลให้เชื้อโรคแพร่ออกไป อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าหนักงานควบคุมโรคติดต่อซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ด้วย

นายแพทย์ทวีศิลป์ ย้ำว่าหลังจากนี้จะมีความยุ่งยากมากขึ้น แต่ยังไม่ห้ามเดินทาง แต่ก็ขอให้เป็นความจำเป็นจริง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นการเดินทางเพื่อไปทำงาน จึงขอให้ผู้ประกอบการสนับสนุนให้พนักงานทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home เพราะยิ่งลดเดินทางก็เท่ากับลดโรค

ส่วนการขอเอกสารเดินทางในกลุ่ม 5 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ชี้แจงว่า กรณีที่เป็นประชาชนทั่วไปสามารถให้ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หรือนายอำเภอ ในพื้นที่ออกเอกสารให้ได้ ไม่จำเป็นต้องไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนสถานประกอบการก็สามารถให้นายจ้างเป็นผู้ออกให้ได้ตามแบบฟอร์มที่ราชการกำหนด ส่วนพื้นที่อื่นนอกเหนือจากนี้ ก็ให้เป็นตามข้อกำหนด แต่ย้ำว่าทุกคนควรมีแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ไม่ว่าอยู่พื้นที่ใด

ส่วนสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในวันนี้ (7 ม.ค.) จำนวน 305 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 193 คน จากการตรวจเชิงรุก 109 คน และผู้เดินทางจากต่างประเทศ 3 คน รวมสะสม 9,636 คน และเสียชีวิต 1 คน

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว