แนะ ออกเงื่อนไขร่วม เช่น ฉีดวัคซีนแล้วยังต้องมีใบตรวจเชื้อ ‘สธ.’ เผย 8 ขั้นตอนบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ใช้เวลารับบริการ 37 นาที
เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2564 นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กล่าวว่าผลของวัคซีนมี 1. ป้องกันการติดเชื้อ คือ เชื้อเข้าร่างกายแล้วสร้างภูมิคุ้มกันกำจัดเชื้อได้ทันที 2. ป้องกันการป่วยคือติดเชื้อได้แต่ไม่มีอาการ และ 3. ป้องกันการตาย คือ ติดเชื้อได้แต่อาการป่วยไม่รุนแรง ซึ่งปัจจุบันวัดผลวัคซีนหวังเพียงแค่ ข้อ 2 และ 3 คือ ป้องกันการป่วยและการตายเท่านั้น โดยเฉพาะกับวัคซีนโควิด 19 ในภาวะฉุกเฉิน ยังต้องมีการติดตามข้อมูลทั่วไปเรื่องของความปลอดภัยและผลข้างเคียง ดังนั้น ยืนยันว่าหากมีการฉีดวัคซีนแล้วก็ยังติดเชื้อได้
ส่วนกรณีข้อเสนอของ ประธานกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เรื่องพาสปอร์ตวัคซีน โดยเปิดทางให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัวนั้น ศบค. ต้องคงต้องใช้หลักวิชาการส่วนนี้เข้ามาทบทวนพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ แล้วต้องรอผลสรุปอีกครั้ง โดยคาดว่าหากจะพิจารณาหาจุดสมดุลของการท่องเที่ยว อาจมีเงื่อนไขเสริมเข้าไปนอกจากการฉีดวัคซีนเพียงอย่างเดียวเช่นต้องมีการตรวจเชื้อร่วมด้วยหรือไม่
ทั้งนี้ รูปแบบพาสปอร์ตวัคซีน ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เคยเป็นหนึ่งในมาตรการควบคุมโรคไข้เหลือง ที่ระบาดในประเทศแอฟริกาใต้ โดยบุคคลที่ใดเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าว ต้องฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อในพื้นที่ และไม่นำเชื้อกลับมาแพร่ต่อ แต่สำหรับวัคซีนไข้เหลืองเป็นวัคซีนที่วิจัยและคิดค้นทดลองยาวนานทำให้สามารถป้องกันการติดเชื้อได้
อย่างไรก็ตาม กรณีวัคซีนโควิด-19 หากดูประเทศที่มีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนประชากรมากที่สุด คือ ประเทศอิสราเอล ที่ครอบคลุมไปแล้วกว่า 30 % พบว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง 33 % เช่นเดียวกับ ประเทศอังกฤษ หลังจากปูพรมฉีดวัคซีนไปก็มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง แต่ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวยังไม่ได้ออกมาสมบูรณ์แบบ เป็นเพียงรายงานข่าว จึงยังไม่สามารถอ้างอิงได้ โดย จนถึงเวลานี้จึงยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่บ่งชี้ชัดว่าวัคซีน โควิด-19 ไม่ว่าจะผลิตโดยบริษัทใดสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ตามที่ได้หรือไม่
เผย 8 ขั้นตอนบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ใช้เวลารับบริการ 37 นาที
ขณะที่วันนี้ (5 ก.พ.) นายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ตรวจเยี่ยมการเตรียมระบบให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในโรงพยาบาล ของสถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี โดยกล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมการทดสอบระบบการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของสถาบันบำราศนราดูร ซึ่งเป็นสถาบันเชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อ โรคติดเชื้อของประเทศ พบว่าระบบที่จัดไว้มี 8 ขั้นตอน เป็นลำดับอย่างต่อเนื่องผ่านไปด้วยดี ใช้เวลารวม 37 นาที สามารถเป็นต้นแบบให้กับโรงพยาบาลอื่น ๆ นำไปปรับใช้ได้
โดยก่อนเข้ารับบริการจะมีการคัดกรอง วัดไข้ ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล และจัดให้เว้นระยะห่างทุกขั้นตอน เมื่อเข้ารับบริการตั้งแต่ จุดที่ 1 ลงทะเบียน โดยใช้เครื่อง KIOSK ลดการสัมผัส, จุดที่ 2 ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต, จุดที่ 3 คัดกรอง ซักประวัติ, จุดที่ 4 รอฉีดวัคซีน จุดที่ 5 รับการฉีดวัคซีน ใช้เวลาเพียง 5-7 นาที จากนั้น จุดที่ 6 ให้นั่งพักรอสังเกตอาการจนครบ 30 นาที มีการจัดห้องปฐมพยาบาล แพทย์/ วิสัญญีพยาบาล และอุปกรณ์ช่วยชีวิตพร้อมดูแล และทุกรายต้องสแกน Line official account “หมอพร้อม” เพื่อใช้ติดตามอาการหลังการฉีดวัคซีน 1 วัน 7 วัน และ 30 วัน จากนั้นแจ้งเตือนรับวัคซีนเข็มที่ 2
จุดที่ 7 ก่อนกลับบ้าน พยาบาลจะตรวจสอบเวลาว่าครบ 30 นาที สอบถามอาการ และให้คำแนะนำ พร้อมแจกเอกสารให้ความรู้ และ จุดที่ 8 มี Dash Board จาก Line OA “หมอพร้อม” แสดงการประเมินผลความครอบคลุมการฉีดวัคซีน และอาการไม่พึงประสงค์ของวัคซีนแต่ละชนิด ทั้งนี้ เมื่อได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็ม จะได้รับใบยืนยันการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทาง Line OA “หมอพร้อม” อีกด้วย
“ขอให้บุคลากรการแพทย์และประชาชนกลุ่มเป้าหมายมั่นใจการให้วัคซีนครั้งนี้ รัฐบาลเน้นย้ำความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการคัดเลือกวัคซีนสำหรับคนไทย และสถานพยาบาลได้เตรียมความพร้อม จัดระบบให้คำแนะนำ เฝ้าระวัง ติดตามอาการไม่พึงประสงค์ไว้พร้อมแล้ว”
ด้าน นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านการให้บริการวัคซีน ฝึกอบรม และกำกับติดตามผล กล่าวว่า ระบบบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของสถาบันบำราศนราดูร มีขั้นตอนที่ครบถ้วน จะนำไปเป็นต้นแบบให้กับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมา โรงพยาบาลต่าง ๆ มีการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้ประชาชนทุกปีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม วัคซีนโควิด-19 ที่จะมีการฉีดในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการให้บริการวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายที่มีจำนวนมากที่สุด จึงต้องมีการจัดขั้นตอนที่มากกว่าการฉีดวัคซีนอื่น ๆ และเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนมั่นใจและมีความปลอดภัยมากที่สุด โดยโรงพยาบาลสามารถปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานที่แต่ละแห่ง ตามบริบทของพื้นที่