“ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” สธ. รณรงค์รับปีใหม่

วางมาตรการเดินทางปลอดภัย ตรวจหาแอลกอฮอล์ในเลือดผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุทุกราย เอาผิดร้านค้าขายแอลกอฮอล์ให้เด็กเยาวชน

กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ คาถาปีใหม่ ปลอดโรคปลอดภัย “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” ณ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี วางมาตรการเดินทางปลอดภัย เน้นเอาผิดเชิงกฎหมาย พร้อมเตรียมบุคคลากรหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉิน 57,000 คน ให้บริการผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉิน อุบัติเหตุทางถนน พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักความเสียหายจากการดื่มแล้วขับ

สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 ที่ใกล้มาถึงนี้  ยังอยู่ในภาวะของการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยประชาชนที่จะเดินทางกลับบ้านหรือเดินทางท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย ได้อยู่กับครอบครัวอย่างอบอุ่นและมีความสุข โดยเฉพาะเรื่องอุบัติเหตุจะพบมากขึ้นจากช่วงปกติ ข้อมูลช่วงเทศกาลปีใหม่ย้อนหลัง 5 ปี พบผู้เสียชีวิต 2,526 คน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการดื่มแล้วขับ ซึ่งข้อมูลปี 2562-2563 กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการตรวจแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุ พบว่า ผู้ขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกฎหมายกำหนด คือ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ถึง 54.66% ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์สูงถึง 39.53%

ในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายรณรงค์ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” ให้ประชาชนร่วมรับผิดชอบ ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ อย่างเด็ดขาด เพื่อความปลอดภัยของตนเองและเพื่อนร่วมทาง และยังร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551

ตรวจแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุทุกราย ห้ามการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี กรณีตรวจพบจะให้มีการสืบกลับไปยังร้านค้าที่ฝ่าฝืน และจะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ เตรียมแนวทางให้ อสม.คัดกรองสังเกตอาการคนเมาที่ด่านชุมชนและคัดกรองป้องกันโรคโควิด 19 ด้วย เพื่อช่วยสกัดกั้นคนเมาไม่ให้ออกไปสู่ท้องถนน สำหรับความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้ให้โรงพยาบาลทุกแห่งเตรียมความพร้อม ศูนย์รับแจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน 1669 ทั่วประเทศ ชุดปฏิบัติการทั่วประเทศ ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ เอกชน และโรงพยาบาลต่างๆ พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Emergency Operation Center : EOC) ที่ส่วนกลางและระดับจังหวัด เป็นศูนย์ประสานและสนับสนุนการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ได้เตรียมชุดปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับแล้ว 8,255 หน่วย รถปฏิบัติการฉุกเฉิน 20,338 คัน และผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินรวม 164,795 คน เพิ่มบุคลากรมากขึ้นจากเดิม 120-130 เปอร์เซ็นต์ เตรียมพร้อมห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู และระบบส่งต่อ จัดหน่วยกู้ชีพระดับพื้นฐาน และหน่วยปฏิบัติการระดับสูง ประจำบนเส้นทางถนนสายหลักที่มีจุดตรวจ/จุดบริการอยู่ห่างกันมาก กรณีบาดเจ็บ/เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถรับบริการที่โรงพยาบาลใกล้ที่สุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรก ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP)

บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขได้อุทิศตน ทุ่มเท เสียสละ และเต็มใจทำงานโดยไม่มีวันหยุด จึงขอให้ประชาชนช่วยกันลดอุบัติเหตุ ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ ทั้งนี้ ในช่วง 7 วันเทศกาลปีใหม่ปีที่ผ่านมา มีผู้บาดเจ็บเข้าโรงพยาบาล 29,545 ราย เฉลี่ยวันละ 4,220 ราย สูงกว่าช่วงปกติ

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการขับขี่ปลอดภัย มั่นใจไร้แอลกอฮอล์ โดยกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน  กรมการขนส่งทางบก สนับสนุนค่าตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดให้ทุกราย ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 เพื่อนำผลตรวจไปประกอบสำนวนคดีตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ปัญหาดื่มแล้วขับยังมีแนวโน้มเป็นปัญหาต่อเนื่อง ยังพบร้านค้ากระทำความผิดกฎหมาย จึงได้ประชาสัมพันธ์ให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ตั้งแต่ช่วงก่อนเทศกาล

ขอให้ประชาชนเป็นหูเป็นตาคอยสอดส่องดูแลผู้กระทำผิดกฎหมาย ทั้งการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี การจำหน่ายในสถานที่ห้ามขาย เช่น ปั๊มน้ำมัน สถานที่ราชการ สถานศึกษา ศาสนสถาน สวนสาธารณะ การขายสุราในเวลาที่ห้ามขาย 2 ช่วงเวลา คือหลัง 24.00-11.00 น. และ 14.00-17.00 น. การเร่ขาย และการโฆษณาหรือส่งเสริมการขาย (ลด แลก แจก แถม) ให้แจ้งได้ที่ศูนย์ร้องเรียนบุหรี่และสุรา หมายเลข 0 2590 3342 หรือสายด่วน 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง

นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า อสม. กว่า 1.05 ล้านคนทั่วประเทศ เป็นเครือข่ายสำคัญของระบบสาธารณสุขไทย ทำงานใกล้ชิดกับประชาชน เชื่อมประสานเจ้าหน้าที่และเครือข่ายต่างๆ ในชุมชนได้เป็นอย่างดี โดยกระทรวงสาธารณสุข กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้อบรมให้ความรู้ในการประเมินและคัดกรองคนเมาเบื้องต้น ณ ด่านชุมชน เพื่อสกัดกั้นคนเมาในชุมชนไม่ให้ขับขี่พาหนะ ให้กับประธานชมรม อสม. ระดับจังหวัดทุกจังหวัดเพื่อนำความรู้ไปสื่อสาร และถ่ายทอดให้กับ อสม. ในพื้นที่ 

เน้นย้ำให้เฝ้าระวังการบังคับใช้กฎหมาย ป้องกันการกระทำผิดเกี่ยวกับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี รวมทั้งได้พัฒนาทักษะการเป็นจิตอาสาด้านการแพทย์และสาธารณสุข สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นและทักษะการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) พร้อมช่วยเหลือประชาชนในภาวะวิกฤต

สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า 7 วันอันตรายปีใหม่ 2563 ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุขับรถเร็ว ร้อยละ 42.8 และดื่มแล้วขับ ร้อยละ 23.8 และยังพบว่าในจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนนี้ ร้อยละ 34 มาจากงานเลี้ยงสังสรรค์ โดยปีนี้ สสส. มุ่งสื่อสารภายใต้แคมเปญ ‘ลดเร็ว ลดเสี่ยง’

ย้ำถึงการขับรถที่ความเร็ว 80 กม./ชม. เท่ากับการตกตึก 8 ชั้น โดยเฉพาะผู้ใช้รถจักรยานยนต์หากใช้ความเร็วที่สูงขึ้น มีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง ร้อยละ 42 และถ้าสูงกว่า 100 กม./ชม. โอกาสเสียชีวิต ร้อยละ 80 มุ่งกระตุ้นเตือนให้ผู้ขับขี่ตระหนักว่า ทุกคนสามารถลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุได้ เพียงปฏิบัติตามกฎจราจร…ลดเร็ว ลดเสี่ยง…ดื่มไม่ขับ

                                           

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้