เรียกร้องรัฐทบทวน มาตรการ “แรงงานข้ามชาติ” ช่วงโควิด-19

เครือข่ายด้านองค์กรประชากรข้ามชาติ ระบุ รัฐบริหารจัดการล้มเหลว ทำผู้ประกอบการหวาดกลัว ไม่เข้ากระบวนการตรวจโรคป้องกันการแพร่ระบาด

เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2563 เครือข่ายด้านองค์กรประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group: MWG) และ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลไทยทบทวนมาตรการจัดการแรงงานข้ามชาติ และยุติการจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายคนเข้าเมือง และกฎหมายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว สำหรับคนไทยและคนต่างชาติ ช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

เนื้อหาแถลงการณ์ ระบุว่า ตามที่เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. พล.ต.ท. สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้แถลงข่าวถึงกรณีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง วางแผนดำเนินการร่วมกันเพื่อกวาดล้างแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการสร้างความหวาดกลัวทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ดังเห็นได้จากกรณีที่บริษัทแห่งหนึ่งนำแรงงานไม่มีเอกสารไปทิ้งข้ามจังหวัด จนกลายเป็นกระแสความหวาดกลัวว่าจะมีการแพร่กระจายโรคโควิด-19 มากขึ้น

หากย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 กระทั่งปัจจุบัน แรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 เกิดขึ้นจากการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและสถานการณ์ ไม่ชัดเจน และขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ การต่อใบอนุญาตทำงานและวีซ่าในช่วงที่มีการปิดพรมแดน

แม้หลังจากที่การระบาดระลอกแรกลดลง และสถานประกอบการต่าง ๆ มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลก็ไม่ได้มีนโยบายส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติกลับเข้าสู่ระบบแต่อย่างใด เช่น ไม่ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับการทำงานที่อำนวยให้แรงงานข้ามชาติสามารถถ่ายเทจากกิจการที่ลดแรงงาน ไปสู่กิจการที่ต้องการแรงงานโดยการเปลี่ยนนายจ้างได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือให้นายจ้างสามารถนำเข้าแรงงาน โดยเฉพาะที่กลับไปประเทศต้นทางในช่วงแรกที่โควิดระบาด กลับเข้ามาทำงานโดยผ่านมาตรการคัดกรองโรคได้

ส่งผลให้มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ถูกเลิกจ้างจากกิจการที่ปิดตัวลงหรือลดจำนวนแรงงาน ซึ่งจากตัวเลขแรงงานข้ามชาติเปรียบเทียบระหว่างเดือนสิงหาคม 2562 กับเดือนตุลาคม 2563 มีแรงงานข้ามชาติหายไปจากระบบถึง 592,450 คน ในขณะเดียวกันปัญหาสภาพเศรษฐกิจช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ในประเทศต้นทางก็เป็นเสมือนปัจจัยผลักให้แรงงานข้ามชาติตัดสินใจเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยในรูปแบบต่าง ๆ 

เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ระลอกใหม่ แทนที่รัฐบาลจะใช้มาตรการด้านสาธารณสุขนำในการแก้ปัญหา เพื่อให้แรงงานข้ามชาติทุกคน ไม่ว่าจะทำงานโดยถูกกฎหมายหรือไม่ก็ตาม สามารถเข้าถึงการป้องกัน ตรวจและรักษา ซึ่งคนเหล่านั้นรวมทั้งนายจ้างจะต้องไว้วางใจและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ แต่ข่าวสารและสัญญาณที่นายกรัฐมนตรีและฝ่ายความมั่นคงส่งออกไปนั้น ได้ทำลายบรรยากาศของความไว้วางใจและความร่วมมือในการป้องกันรักษาโรคโควิด-19 ลงอย่างน่าเสียดาย

การกวาดล้างแรงงานข้ามชาติที่อาศัยโดยไม่ได้รับอนุญาต ที่รัฐบาลไทยใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง กลับกัน การประกาศกวาดล้างแรงงานส่งผลให้ผู้ประกอบการและแรงงานข้ามชาติทั้งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างถูกต้อง และโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต เกิดความหวาดกลัวที่จะถูกจับกุมดำเนินคดี ผู้ประกอบการและแรงงานข้ามชาติจึงใช้วิธีการหลบหนี ปกปิดตัวตนเพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ถูกดำเนินคดี และเลือกที่จะไม่เข้าสู่กระบวนการตรวจโรค ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 เป็นวงกว้าง

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ในฐานะองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติ มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ประกาศให้ชัดเจนว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายในการตรวจจับ กวาดล้างแรงงาน และนายจ้างที่ผิดกฎหมาย แต่ต้องการความร่วมมือจากแรงงานทุกคนในการตรวจ คัดกรอง และรักษาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่แรงงานยุติการกวาดล้างและดำเนินคดีอาญาต่อแรงงานข้ามชาติและนายจ้างที่ผิดกฎหมายทุกกรณี ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 โดยทันที โดยให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้นปฏิบัติงานภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข

และขอให้รัฐบาลสร้างความไว้วางใจให้กับแรงงานข้ามชาติ และสนับสนุนการทำงานด้านสาธารณสุขเพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงการตรวจและรักษาโรคโควิด-19 ได้โดยสะดวกเช่นเดียวกับชาวไทย เข้าไปช่วยเหลือดูแลในด้านชีวิตความเป็นอยู่ โดยไม่คำนึงถึงสถานะของแรงงานข้ามชาติ

ดูเพิ่ม

แถลงการณ์ เรียกร้องรัฐบาลไทยทบทวนมาตรการการจัดการแรงงานข้ามชาติ และยุติการจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายคนเข้าเมือง และกฎหมายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว สำหรับคนไทยและคนต่างชาติ ช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ฉบับภาษาไทย ฉบับภาษาอังกฤษ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active