สธ. ไม่ล็อกดาวน์​ “สมุทรสาคร” เร่งตรวจเชิงรุกเพิ่ม ยันเลือกตั้ง​ อบจ. ตามปกติ

ขอให้คงมาตรการป้องกันโรค ทำให้ตลาดเป็นพื้นที่สวมหน้ากาก 100% ด้าน หมอจุฬาฯ หวั่น ​เป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์

วันนี้ (19​ ธ.ค.​ 2563)​ ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข  จ.นนทบุรี นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 และการพบผู้ติดเชื้อในประเทศ โดย นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า วันนี้ ประเทศไทยมีผู้ป่วยโควิด 19 รายใหม่ 34 คน หายป่วยเพิ่ม 19 คน ยอดป่วยสะสมรวม 4,331 คน หายป่วยสะสม 4,024 คน กำลังรักษาในโรงพยาบาล 247 คน เสียชีวิตรวม 60 คน

ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อรายใหม่แบ่งเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้ารับการกักกัน 22 คน ได้แก่ สหราชอาณาจักร 4 คน เยอรมนี สหรัฐอเมริกา บังกลาเทศ นามิเบีย และซาอุดิอาระเบีย ประเทศละ 2 คน เคนยา บาห์เรน รัสเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไต้หวัน เนเธอร์แลนด์ อินเดีย และอิตาลี ประเทศละ 1 คน ทั้งหมดเข้ารับการรักษาตามระบบแล้ว ส่วนใหญ่เป็นผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ มีเพียง 2 คน มีอาการไข้ หายใจลำบาก และจมูกไม่ได้กลิ่น

ส่วนผู้ติดเชื้อภายในประเทศมีจำนวน 12 คน เกี่ยวข้องกับกรณีหญิงไทยอายุ 67 ปี เจ้าของแพปลาในตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ทั้งหมดเข้ารับการรักษาแล้ว โดยเป็นผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ 4 คน ส่วนอีก 8 คน มีอาการ ได้แก่ ไข้ ไอ ปวดศีรษะ มีน้ำมูก เสมหะ หายใจลำบาก ปวดกล้ามเนื้อ จมูกไม่ได้กลิ่น และลิ้นไม่ได้รับรส ทั้งนี้ ความเสี่ยงสำคัญคือการไม่สวมหน้ากาก ดังนั้น ผู้ที่ไปตลาดกลางค้ากุ้งตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2563 หากสงสัยหรือกังวลสามารถขอเข้ารับการตรวจหาเชื้อได้ไม่มีค่าใช้จ่าย หรือหากมีข้อสงสัยโทรสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

“ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นต้องล็อกดาวน์ จ.สมุทรสาคร เนื่องจากยังได้รับความร่วมมือในการมาตรวจหาเชื้อ อย่างไรก็ตาม หากพบจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นคลัสเตอร์ที่ไม่สามารถบอกต้นสายปลายเหตุได้ จะมีการออกมาตรการจากเบาไปหาหนัก ซึ่งการล็อกดาวน์จะเป็นวิธีสุดท้าย จะเกิดขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชน การออกจากบ้านต้องสวมหน้ากาก 100%”

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีผู้ป่วยโควิด 19 ที่เกี่ยวข้องกับ จ.ท่าขี้เหล็ก ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ทุกจังหวัดมีความปลอดภัย แต่ยังต้องระวังการลักลอบเข้าประเทศ ขอให้เข้ามาอย่างถูกต้องเข้าสู่ระบบกักกันโรค ส่วนกรณีตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ข้อมูลการระบาดยังเกี่ยวข้องกับตลาดกลางค้ากุ้ง สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อ คือ การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ซึ่งขณะนี้มีรถเก็บตัวอย่างตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย พระราชทาน 3 คัน ลงไปเก็บตัวอย่างแล้ว ตั้งเป้าอย่างต่ำให้ได้ 2-3 พันคน หรืออาจถึง 5 พันคน ขึ้นกับสถานการณ์ โดยจะนำผลการตรวจทางห้องปฏิบัติและการสอบสวนโรค เพื่อตีวงและคำนวณขอบเขตการระบาด เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังในสถานพยาบาล คลินิก และร้านขายยา ถ้าพบผู้ป่วยมีอาการสงสัยให้ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทันที

นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการ จ.สมุทรสาคร และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ได้มีข้อสั่งการให้จำกัดการเคลื่อนย้ายแรงงานบางกลุ่มในจังหวัด สำหรับประชาชนมาตรการหลักที่ต้องปฏิบัติ คือ การสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง และสแกนไทยชนะ

การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 จ.สมุทรสาคร ยังจัดได้เนื่องจากยังไม่มีคำสั่งยกเลิกจาก กกต. หรือผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ให้ใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยมากที่สุด เน้นย้ำการสวมหน้ากากตลอดเวลา ต่อแถวเข้าคูหาเว้นระยะห่าง 1 เมตร และอย่ารอไปลงคะแนนช่วงท้ายของการปิดหีบ เพราะอาจเกิดความแออัดได้ การจัดจุดล้างมือ หากเตรียมปากกาส่วนตัวไปได้ จะช่วยลดการสัมผัสร่วมกัน หรือหากมีสัมผัสขอให้ล้างมือ

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า จากการสอบสวนโรคกรณีหญิงไทยอายุ 67 ปี เจ้าของแพปลาในตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ได้ตรวจผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและค้นหากลุ่มเสี่ยงในชุมชน ทำให้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม 12 คน ในรอบ 24 ชั่วโมง แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในครอบครัว 4 คน ได้แก่ มารดา พี่สาว น้องสะใภ้ และคนที่มาทำงานด้วย มีความเกี่ยวข้องกับตลาดกลางกุ้ง 6 คน ได้แก่ ลูกจ้าง ภรรยาของลูกจ้าง คนทำงานแพปลาข้าง ๆ และผู้มาซื้อของ ส่วนอีก 3 คน อาศัยอยู่ใกล้กับตลาดค้ากุ้ง 2 คน อยู่ระหว่างการสอบสวน 1 คน ทำให้ประเมินได้ว่ามีการติดเชื้อในคนที่ทำงานในตลาดเดียวกัน ตลาดข้างเคียง และคนในครอบครัว  ส่วนการค้นหาผู้สัมผัสเพิ่มเติมในพื้นที่ตลาดกลางกุ้งและตลาดทะเลไทยระหว่างวันที่ 17-19 ธ.ค. 2563 จำนวน 1,449 คน ผลการตรวจจะทยอยออกมา

สถานการณ์ขณะนี้คนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่และจะไปใช้บริการ ต้องมีการป้องกันตนเอง สิ่งที่ต้องปฏิบัติต่อเนื่อง คือ การเว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก โดยพื้นที่ตลาดต้องเป็นพื้นที่สวมหน้ากาก 100% และถอดเมื่อจำเป็นขณะรับประทานอาหาร และการล้างมือ โดยจัดจุดล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ทั้งหมดจะช่วยป้องกันความเสี่ยงทั้งป้องกันการรับเชื้อกรณีที่ยังไม่ติดเชื้อ หรือในรายที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการจะช่วยลดโอกาสการแพร่เชื้อไปยังบุคลลอื่น ๆ

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า เหตุการณ์ตลาดกลางกุ้งมีความแตกต่างจากกรณีการระบาดของตลาดในเมืองอู่ฮั่น เนื่องจากขณะนี้เรารู้จักโรคโควิด 19 มากขึ้น และมีวิธีในการป้องกัน นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่โล่ง ทำให้อากาศถ่ายเทได้ดี การปิดทำความสะอาดทำให้ลดความเสี่ยงลงจนเป็นปกติ การไปใช้บริการไม่ได้เกี่ยวกับสถานที่ แต่เกี่ยวกับบุคคลในสถานที่ที่ต้องร่วมกันป้องกันการแพร่เชื้อ ซึ่งเรารับมือได้ดีกว่าเหตุการณ์อู่ฮั่นในช่วงแรกที่ยังไม่มีการป้องกัน สำหรับอาหารทะเลสามารถรับประทานได้ตามปกติ เนื่องจากการป้องกันโรคที่สำคัญ คือ การปรุงสุกร้อนที่สามารถฆ่าเชื้อได้รวมถึงเชื้อก่อโรคโควิด 19 และคงมาตรการส่วนบุคคล คือ กินร้อนใช้ช้อนกลางส่วนตัว และใส่หน้ากากเมื่ออยู่พื้นที่สาธารณะ 

หมอจุฬาฯ หวั่น​ เคสตลาดกุ้ง ซูเปอร์สเปรดเดอร์

ด้าน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์​เฟซบุ๊ก​แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า วันนี้เป็นวันครบรอบ 9 เดือน นับจากวันที่ 19 มีนาคม 2563 ที่โรงเรียนแพทย์ได้เรียนเสนอให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ตัดสินใจดำเนินมาตรการเข้มข้นเพื่อจัดการการระบาดในระลอกแรก นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เราจึงมีตัวเลขติดเชื้ออยู่ระดับหลักพันดังเช่นวันนี้

เราช่วยกันทั้งประเทศอย่างเต็มที่เพื่อจัดการระลอกแรกได้ แต่ปัจจุบันคงต้องยอมรับกันเสียทีว่าสถานการณ์มีความเสี่ยงมากที่จะเกิดการระบาดซ้ำ เนื่องจากมีเคสติดเชื้อในประเทศหลากหลายรูปแบบ หลายเคสหาต้นตอไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาการลักลอบเข้าเมืองอีกจำนวนไม่น้อย

ล่าสุดของเคสติดเชื้อที่ตลาดกุ้งนั้น หากวิเคราะห์ตามหลักระบาดวิทยาแล้ว เหมือนเป็นปรากฏการณ์ swiss cheese phenomenon คือ รูของเนยแข็งมาเรียงตรงกันพอดี ทั้งในแง่ของตัวผู้ติดเชื้อที่ดูจะมีประวัติไม่ค่อยได้ใส่หน้ากากป้องกัน ทำอาชีพที่ต้องพบปะคนเยอะทั้งคนงานและคนที่มาซื้อของ

นอกจากนี้ในแง่ของเชื้อที่มีนั้นก็มีปริมาณมาก โอกาสแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นย่อมสูง และในแง่ของสิ่งแวดล้อม ที่มีโอกาสแออัด และมีการจับต้องสิ่งของสาธารณะต่างๆ ร่วมกันได้มาก

จำนวนผู้ติดเชื้อที่รายงานกันมาดูเพิ่มขึ้นจากเดิม และยังไม่รู้ว่าจะจบลงที่ตัวเลขเท่าใด ลักษณะแบบนี้ผมจัดเป็น superspreading event หรือการแพร่ในวงกว้าง ที่ต้องรีบจัดการอย่างเร่งด่วนและเข้มงวด

สถานการณ์เช่นนี้ ควรพิจารณาคัดกรองคนเข้าออกพื้นที่จังหวัด รณรงค์ให้เลี่ยงการเดินทางเข้าออกโดยไม่จำเป็น ใส่หน้ากาก 100% และให้ประชาชนทุกคนในพื้นที่สังเกตอาการตนเองและสมาชิกในครอบครัว รวมถึงการเร่งทำการตรวจคัดกรองโควิดวงกว้าง เน้นการตรวจให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้​ การจะจัดการปัญหานี้ ใช้เวลามากกว่าหนึ่งสัปดาห์แน่นอน

การสั่งหรือประกาศนโยบายอะไรออกไปในช่วงวิกฤตินั้น ต้องใช้สติ และปัญญาในการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ มิฉะนั้นแทนที่จะเกิดผลดี กลับทำให้เกิดภาวะเครียด และโอกาสผิดพลาดสูงขึ้นได้

หวัดธรรมดา…เห็นคำนี้ก่อนระลอกแรกมาแล้ว โชคดีที่ทุกคนในประเทศช่วยกันเต็มที่จึงรอดมาได้ ดังนั้นมันจึงไม่ใช่หวัดธรรมดา​ ไวรัสกระจอก…เห็นคำนี้แล้ว เราต้องสู้ทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดระลอกสอง เพราะจะแรง เร็ว คุมยาก ยืนยันว่ามันไม่ใช่ไวรัสกระจอก เห็นชัดๆ ว่าติดไปแล้วเกือบ 76 ล้าน ตายไปแล้วกว่า 1.6 ล้านคนทั่วโลก

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS