วอนรัฐ งดดำเนินคดีแรงงานผิด​ กม. เร่งรับเข้าตรวจโรค สกัดโควิด

มูลนิธิรักษ์ไทย แนะ รัฐไม่สร้างความกลัว งดส่งกลับ-ดำเนินคดีทุกกรณี​ ขอให้รับเข้าตรวจโรค 100% เผย ลงพื้นที่พบ เข้าไม่ถึงหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ รายได้ลด​-ตกงาน

เมื่อวันที่​ 19​ ธ.ค.​ 2563​ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบุ 12 คน ติดโควิด-19 ในประเทศ เกี่ยวข้องกรณี เจ้าของแพปลา ในตลาดกุ้ง จ.สมุทรสาคร มีประวัติสัมผัส 8 คน แต่ยืนยันไม่ถึงขั้นล็อกดาวน์จังหวัด​

ขณะที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร และผู้กํากับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดสมุทรสาคร ได้ออกคำสั่งจังหวัด เรื่อง ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ผู้​ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคําสั่งฉบับนี้ มีโทษตาม มาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2554 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ตามมาตรา 18 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

ด้วยเหตุที่เป็นกรณีมีความจําเป็นเร่งด่วน เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนและประโยชน์สาธารณะ หากปล่อยให้เนิ่นช้าไป จะก่อผลเสียหายร้ายแรงต่อส่วนรวม จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้งตามนัยมาตรา 30 วรรค 2(1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

เนื้อหาในประกาศระบุ

ด้าน​ วัชระพล บูรณะเนตร​ ผู้ประสานงานภาคสนาม​ มูลนิธิรักษ์ไทยสมุทรสาคร​ กล่าวกับ​ The​ Active​ ว่า การประกาศห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว เป็นเหมือนการตีตรา เพราะเช่นนั้นแล้วควรห้ามเคลื่อนย้ายคนไทยออกนอกพื้นที่ด้วย​ เพราะโควิด-19 คงไม่ได้ติดเฉพาะแรงงานข้ามชาติ

การสืบสวนโรคเมื่อวานนี้ เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิรักษ์ไทย​ ได้ไปเป็นล่ามภาษาเมียนมานำแรงงานไปตรวจเชื้อโควิค พบว่า แรงงานส่วนใหญ่ลงทะเบียนเข้ามาอย่างถูกต้อง​ ซึ่งมีจำนวนกว่า 2​ แสนคน ส่วนแรงงานที่ไม่มีบัตร ก็สื่อสารทำความเข้าใจให้เข้ามาตรวจเชื้อ​ โดยคุยกับทาง​จังหวัด​ว่าจะไม่ดำเนินคดีและส่งกลับประเทศ และควรต้องตรวจก่อนตรวจไปก่อน​ ส่วนเรื่องการดำเนินการทางกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองอาจยืดหยุ่นผ่อนผันไปก่อน​ เพื่อไม่ให้เกิดความหวาดกลัวในกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีบัตร แล้วไม่ยอมเข้ามาตรวจหาเชื้อ​ ซึ่งอาจเป็นช่องโหว่ให้เกิดการระบาด

“แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่​ เวลาเจ็บป่วยเล็กน้อยก็ยังเดินทางมาทำงาน ต้องเจ็บป่วยมากจริง ๆ ถึงจะไปโรงพยาบาล ส่วนใหญ่ก็จะนอนอยู่ในห้องพัก”

เขาบอกอีกว่า​ จากการลงพื้นที่พบว่าแรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงอุปกรณ์การป้องกัน เช่นหน้ากากอนามัย​ เจลล้างมือ จึงขอรับการสนับสนุนจากสภากาชาดไทย เข้าไปแจกสิ่งของเหล่านี้ โดยจากการระบาดของโควิด​ ก็ทำให้รายได้ของแรงงานข้ามชาติลดลง​ บางรายอยู่ในไทยแบบตกงาน บางส่วนยังคงรอขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติซึ่งมีภาระค่าใช้จ่ายในการทำเอกสาร

ส่วนกรณีผู้ติดเชื้อโควิดที่เป็นเจ้าของแพปลา ติดเชื้อจากแรงงานข้ามชาติหรือไม่​ คงต้องรอ ทีมสอบสวนโรค สอบประวัติการเดินทางย้อนกลับว่าไปที่ไหนมาบ้าง​ ส่วนแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในตลาดส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่อยู่ในไทยมานานแล้ว​ ไม่ได้ออกไปไหน​ น่าจะมีความเป็นไปได้น้อยที่จะติดจากแรงงานข้ามชาติในตลาดกุ้ง

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS