ไขข้อข้องใจ ไม่เคยมีใครถูกระบุว่าเสียชีวิตจากฝุ่นพิษ เพราะไม่ถูกระบุในเวชระเบียนทางการแพทย์และต้องผ่าศพพิสูจน์
กรณีการรายงานข่าวว่าการเสียชีวิตของ เอลลา คิสซี-เดบราห์ เด็กหญิงชาวอังกฤษวัย 9 ขวบ ที่ศาลพิจารณาระบุสาเหตุการเสียชีวิตของเธอ ว่าเกิดจากมลพิษทางอากาศเมื่อวันที 16 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดย The MATTER รายงานว่า มีการชันสูตรศพ และพบว่าเธอเสียชีวิตจากระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน มีอากาการหอบหืดและพบสารพิษที่มาจากมลพิษทางอากาศในร่างกายมากเกินไป โดยองค์กรการกุศลโรคหอบหืดประจำอังกฤษและมูลนิธิโรคเกี่ยวกับปอดเปิดเผยว่า เอลลา เป็นบุคคลแรกของโลกในประวัติศาตร์ ที่พบมลพิษทางอากาศในร่างกายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของเธอ
The Active สอบถามเพิ่มเติม จาก ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด และทำวิจัยผลกระทบด้านสุขภาพจากปัญหาหมอกควัน หลังจากที่ประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือ มีปัญหานี้มาอย่างยาวนานกว่า 15 ปี
ศ.นพ.ชายชาญ กล่าวว่า เหตุผลว่าทำไมประเทศไทยจึงไม่มีใครถูกระบุเสียชีวิต หรือเจ็บป่วยจากฝุ่น PM 2.5 เนื่องจาก ฝุ่นพิษจิ๋ว เป็นโรคที่ไม่อยู่ในเวชระเบียนทางการแพทย์ เมื่อลงบันทึกการเสียชีวิต จะบันทึกการเสียชีวิตตามอาการเจ็บป่วย แบบ บัญชีจำแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรคและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง หรือ ICD-10 เช่น เสียชีวิตจากหัวใจขาดเลือด ปอดอักเสบ ถุงลมโป่งพอง มะเร็งปอด ฯลฯ
“เราจะบันทึกแบบนี้ แต่เราไม่ได้บอกว่ามาจาก PM 2.5 เพราะเราตรวจหาฝุ่น PM 2.5 ในเลือดไม่ได้ เราจะต้องผ่าศพพิสูจน์ แล้วส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน (Electron microscope) ฉะนั้น จึงถูกระบุได้แค่ ปอดอักเสบตาย หัวใจขาดเลือดเท่านั้น”
สธ. เริ่มสอบสวนโรค ป่วยแล้วจากฝุ่น 3 พันกว่าคน
ในปี 2562- 2563 กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เริ่มมีการสอบสวนโรคที่คาดว่าเกิดจากฝุ่น PM 2.5 โดยเริ่มนำร่องให้โรงพยาบาลเครือข่ายในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำการสอบสวนโรค ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. 2561 – 27 ก.ค. 2563
พบว่า มีผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ จากมลพิษทางอากาศในเขตกรุงเทพและปริมณฑล 22 แห่ง รวม 3,409 คน จำแนกเป็นผู้ป่วยที่มารับการรักษาในแผนกผู้ป่วยนอก (OPD) 1,311 คน ร้อยละ 38.50 และแผนกห้องฉุกเฉิน 2,098 คน ร้อยละ 61.50 แบ่งเป็นเพศชาย 1,802 คน ร้อยละ 53.20 เพศหญิง 1,577 คน ร้อยละ 46.80 อัตราส่วนเพศหญิงต่อเพศชาย 1:1.14
ส่วนจำนวนผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ จำแนกตามกลุ่มอายุ รายงานสูงที่สุดในกลุ่มอายุระหว่าง 60-69 ปี 671 คน ร้อยละ 19.68 รองลงมา กลุ่มอายุระหว่าง 50-59 ปี 635 คน ร้อยละ 18.63 และอายุระหว่าง 0-4 ปี 401 คน ร้อยละ 11.76 โดยจำแนกตามกลุ่มโรคการวินิจฉัยและโรคประจำตัว ในกลุ่มโรค ได้แก่ โรคหอบหืด โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคทางเดินหายใจอื่น ๆ