“ไทยภักดี” เสนอปฏิรูปโซเชียลมีเดีย

แก้ปัญหาการเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ จาบจ้วงสถาบันฯ ยันแจ้งจับ 112 เด็ก เป็นไปตามกฎหมาย คนทำต้องรับผิด ส่วนการลงโทษ ขึ้นกับศาลพิจารณา

วันนี้ (17 ธ.ค. 2563) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรียกร้องกระทรวงฯ ให้เป็นเจ้าภาพนำเรื่องการปฏิรูปการใช้โซเชียลมีเดียเข้าสู่รัฐสภา โดยเสนอให้เร่งแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาแนวทางการปฏิรูปการใช้โซเชียลมีเดีย โดยคิดว่าเป็นแนวทางที่เป็นกลางที่สุดและจะเป็นทางออกที่ดีต่อประเทศในเวลานี้

“ทุกคนรับรู้ว่าโซเชียลมีเดียมีปัญหามาก โดยเฉพาะปัญหาต่อประเทศและสถาบันพระมหากษัตริย์ ทุกคนบอกว่าตัวเองถูกกระทบจาก Face News ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล อย่างปัญหาการฟ้องคดีมาตรา 112 ก็น่าจะคลี่คลายลง วิธีการแก้ปัญหาจึงต้องเร่งออกกฎหมายใหม่”

นพ.วรงค์ ระบุด้วยว่า เมื่อครบ 30 วัน จะตามเรื่องอีกครั้ง ถ้าไม่คืบหน้าจะยกระดับการเรียกร้อง พร้อมเรียกร้องให้เครือข่ายใหญ่โซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ดูแลการสื่อสารในช่องทางของตนเองมากกว่านี้

ส่วนกรณีที่ขณะนี้มีการมาตรา 112 ดำเนินคดีต่อเด็กและเยาวชนจำนวนหลายคนนั้น นพ.วรงค์ กล่าวว่า กฎหมายก็คือกฎหมาย คนทำผิดก็ต้องรับผิด การที่มีประชาชนไปแจ้งความให้ดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 จำนวนมากนั้น มาจากการตื่นตัวของประชาชนที่ทนไม่ได้ ส่วนการพิจารณาคดีจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับศาล และการพิจารณาลงโทษเด็กอาจไม่รุนแรงเท่าผู้ใหญ่

“ในช่วงที่ผ่านมา มีการใช้ถ้อยคำหยาบคายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นความชอบธรรมที่จะเชิญชวนประชาชนเก็บหลักฐานเพื่อดำเนินคดี ถ้าเด็กเป็นคนซื่อไม่ทันเหตุการณ์ ในขั้นตอนของศาลก็อาจจะมองว่าเด็กไม่รู้เรื่อง”

พร้อมยืนยันว่า ตนทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 50 ที่บัญญัติว่า บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์ชาติ ศาสนา และพระมหากษัริย์ ถ้าถูกจาบจ้วงก็เป็นหน้าที่ของชาวไทยที่ต้องปกป้อง ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง และหลายประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ ก็ยังมีการใช้กฎหมายแบบนี้อยู่ ส่วนที่ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง แกนนำราษฎรนนทบุรี ประกาศจะไปแจ้งความมาตรา 112 กับตนนั้น ยังไม่ทราบเรื่องนี้

ขณะที่การออกหมายเรียกผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรด้วยมาตรา 112 ก็ยังมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อวานนี้ (16 ธ.ค.) อินทิรา เจริญปุระ หรือ ทราย ศิลปินและนักแสดงชื่อดัง ที่สนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มราษฎร ได้โพสต์ข้อความโชว์เอกสารในโซเชียลมีเดียเป็นหมายเรียกผู้ต้องหาออกโดยสถานีตำรวจบางเขน โดยระบุข้อกล่าวหาว่า “ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต”

อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตต่อการใช้มาตรา 112 ในกรณีนี้ว่า อาจมีปัญหาในข้อกฎหมาย เพราะบทบัญญัติมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” ซึ่งไม่มีข้อความใดที่ให้รวมถึงการ “ร่วมกัน” ตามข้อกล่าวหาของสถานีตำรวจบางเขน

ด้าน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดตัวเลขผู้ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. จนถึงเมื่อวานนี้ มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหานี้แล้วอย่างน้อย 30 คนใน 18 คดี หนึ่งในนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีเป็นเยาวชนอายุ 16 ปี และนักศึกษาที่ยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยอีกจำนวนหนึ่ง โดยสถิตินี้นับคดีที่ผู้ได้รับหมายเรียกไม่ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาด้วย

จากจำนวนคดีมาตรา 112 ทั้งหมดนั้น มี 6 คดี ที่เป็นการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมจากคดีเดิม ได้แก่ คดีชุมนุม #เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง ศาลหลักเมืองอุบลราชธานีเมื่อวันที่ 22 ส.ค., คดีชุมนุม #เจาะกะลาตามหาบักคำผาน ลานหน้าบึงพลาญชัย จ.ร้อยเอ็ดเมื่อวันที่ 3 ก.ย., คดีชุมนุม #คนนนท์ไม่ทนเผด็จการ เมื่อวันที่ 10 ก.ย., คดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสนามหลวงเมื่อวันที่ 19 ก.ย., คดีชุมนุม #ไปสภาไล่ขี้ข้าศักดินา ที่หน้ารัฐสภา เมื่อ 24 ก.ย. และคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนีเมื่อวันที่ 26 ต.ค.

ทั้งนี้ กรณีของ ทราย เจริญปุระ เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายให้รายงานตัววันที่ 21 ธ.ค. พร้อมกับ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ อานนท์ นำภา ที่โดนแจ้งความเพิ่มเติมและเรียกให้ไปรายงานตัวในวันเดียวกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว