สธ. สั่งทุกโรงพยาบาล เป็นพื้นที่สวมหน้ากาก 100 %

ปลัด สธ. ย้ำ บุคลากรสาธารณสุขต้องเป็นตัวอย่าง ลดความเสี่ยงรับและแพร่กระจายเชื้อ หลังพบสวมหน้ากากใน รพ. เหลือเพียงร้อยละ 73.49

วันนี้ (15 ธ.ค. 2563) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้กำชับให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ให้โรงพยาบาลเป็นพื้นที่สวมหน้ากาก 100 เปอร์เซ็นต์ ย้ำเตือนบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เป็นตัวอย่างประชาชนในการป้องกันโรคโควิด-19 และช่วยสอดส่อง แนะนำประชาชนให้สวมหน้ากากเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลขอให้สวมหน้ากากตลอดเวลา ซึ่งการสวมหน้ากากอนามัยเปรียบเสมือนวัคซีนป้องกันโรคที่ทำได้ด้วยตนเอง มีประสิทธิภาพสูง มีความคุ้มค่าโดยไม่ต้องลงทุน

จากผลสำรวจล่าสุดพบว่า ประชาชนสวมหน้ากากในโรงพยาบาลเพียงร้อยละ 73.49 รวมทั้งให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. กระตุ้นเตือนคนในชุมชนให้สวมหน้ากาก ลดความเสี่ยงการรับและแพร่กระจายเชื้อ ป้องกันตนเอง ครอบครัว และสังคมจากโรคโควิด-19 เนื่องจากขณะนี้พบว่าประชาชนมีพฤติกรรมสวมหน้ากากลดลง ไม่ถึงร้อยละ 90 ทั้งที่การสวมหน้ากากถือเป็นวัคซีนที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคโควิด-19 ที่ประชาชนสามารถทำได้เองในขณะนี้

ทั้งนี้ จากผลการสำรวจอนามัยโพล ครั้งที่ 3 วันที่ 7-11 ธ.ค. 2563 เก็บตัวอย่างจากประชาชนทั่วประเทศจำนวน 23,511 คน เรื่องการสวมหน้ากาก พบว่า สวมหน้ากากเป็นประจำร้อยละ 86.19 เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งที่ 2 (วันที่ 23-27 พ.ย.) ที่สวมหน้ากากป้องกันร้อยละ 81.21 สำหรับสถานที่สาธารณะที่ประชาชนสวมหน้ากากเป็นประจำมากที่สุด คือ ห้างสรรพสินค้า/คอมมูนิตีมอลล์ ร้อยละ 75.35 โรงพยาบาลร้อยละ 73.49 ร้านสะดวกซื้อ ร้อยละ 71.46 ตลาด/ตลาดนัดร้อยละ 68.57 ห้องประชุม/ศูนย์ประชุมร้อยละ 68.54 และรถสาธารณะ ร้อยละ 68.22

ส่วนสถานที่ที่ประชาชนสวมหน้ากากน้อย คือ สวนสาธารณะ/สนามกีฬาร้อยละ 53.58 และฟิตเนส/โรงยิมร้อยละ 54.43 เนื่องจากต้องออกกำลังกาย และใส่หน้ากากเพียงบางเวลาเท่านั้น สำหรับความกังวลของประชาชนต่อสถานการณ์โควิด 19 พบว่า ส่วนใหญ่ มีความกังวลในระดับปานกลางร้อยละ 37 กังวลมากร้อยละ 33.6 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 23.3 กังวลเล็กน้อยร้อยละ 25.3 และรู้สึกเฉย ๆ ร้อยละ 4.1

“ขอให้ประชาชนร่วมมือกันสวมหน้ากากทุกครั้งที่ออกนอกบ้านและตลอดเวลาขณะอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันโรคโควิด-19 แล้ว ยังช่วยลดการป่วยจากโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ด้วย รวมทั้งล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารร่วมกันควรใช้ช้อนกลางส่วนตัว เว้นระยะห่าง ลดการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่แออัด และลงทะเบียนเข้าออกสถานที่ที่ใช้บริการ ด้วยแพลตฟอร์มไทยชนะ เป็นการช่วยประเทศไทยในการควบคุมป้องกันโรค”

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS