พี่น้อง​ชาติพันธุ์​ 2​ พรมแดน​ หยุดการติดต่อ​ กันโควิด-19​

ยุติการติดต่อกันชั่วคราว​ แม้เป็นเครือญาติกัน ด้าน ‘อนุทิน’​ สั่งยกระดับ​ชายแดน​ มอบ​ อสม. เฝ้าระวังผู้ที่เดินทางกลับเข้ามาในพื้นที่

วันนี้ (8 ธ.ค. 2563) ที่หมู่บ้านจะลอ​ ต.แม่ฟ้าหลวง​ อ.แม่ฟ้าหลวง​ จ.เชียงราย​ ‘วุฒิ​ชัย​ วิบูล​พัน​ธุ์ทิพย์’​ ผู้ใหญ่บ้าน​ ม.10​ กล่าวว่าหมู่บ้านนี้​ มีพรมแดนอยู่ติดกับหมู่บ้านผ้า​ขาว​ รัฐฉาน​ ประเทศเมียนมา​ ซึ่งมีจำนวนผู้​ติดเชื้อ​โควิด-19 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง บางจุดเดินข้ามมาได้โดยไม่เครื่องขวางกั้น

โดยทั้ง​ 2​ ชุมชน​เป็นกลุ่มชาติ​พันธุ์​อ่าข่า​ มีความสัมพันธ์​ลักษณะ​เครือญาติ​ ข้ามไปมาหาสู่โดยตลอด​ แต่การแพร่ระบาด​ของโควิด-19​ ทำให้​ทั้ง​ 2​ ชุมชนต้อง​ยุติการติดต่อกันชั่วคราว​ โดยไม่รู้ว่าโรคระบาด​จะจบลงเมื่อไหร่

“เด็ก ๆ หมู่บ้านผ้าขาว​ เมียนมา​ ก็มาเรียนที่โรงเรียน ตชด. ฝั่งไทย​ ใช้ระบบสาธารณสุขของไทย ร่วมประเพณีเดียวกัน​ แต่หลังจากเกิดโรคระบาดต้องยอมขาดการติดต่อชั่วคราว​ โดยมีการเจรจาระหว่างผู้นำชุมชนทั้ง 2 แห่งเพื่อป้องกันโรค​ ก็รู้สึกสงสารเหมือนกันที่พี่น้องไม่สามารถข้ามเข้ามาได้ในช่วงนี้”

ด้าน​ ‘โสภา​ วิบูลโอฬาร’​ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านจะลอ​ จ.เชียงราย (อสม.)​ กล่าวว่า บทบาทของ อสม.​ ในหมู่บ้านชายแดนดูหนักกว่าที่อื่น​ มีการจัดเวรยามเฝ้าระวังบุคคลเข้าออกหมู่บ้าน​ ตรวจวัดไข้และให้เจลล้างมือ​ เข้มงวดการใส่หน้ากากอนามัย 100% ในหมู่บ้านต้องเดินเคาะประตูบ้าน​ทุกหลัง​ สำรวจคนแปลกหน้าและดูอาการทั่วไปของทุกคน​

เธอกล่าวอีกว่า​ ​มากกว่าเบี้ย​เลี้ยงที่ได้รับ​ คือ ความอุ่นใจว่าหมู่บ้านจะปลอดเชื้อ​ ทั้งนี้​ บริเวณแนวตะเข็บชายแดนทั้ง​ อ.แม่ฟ้าหลวง และ อ.แม่สาย​ จ.เชียงราย​ 130 กิโลเมตร​ มีกลุ่มชาติพันธุ์​ตั้งหมู่บ้านเกือบร้อยแห่ง​ ที่ต้องเฝ้าระวังในรูปแบบเดียวกัน

ด้าน​ ‘อนุทิน​ ชาญ​วี​รกูล’​ ​รองนายก​รัฐมนตรี​และ​รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​สาธารณสุข​ กล่าวว่า เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำ ได้สั่งการให้ดำเนินการ ดังนี้

  1. ประสานฝ่ายความมั่นคง ยกระดับการเฝ้าระวังตามแนวชายแดน ทั้งช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศและช่องทางธรรมชาติ
  2. เปิดช่องทางพิเศษรับคนไทยกลับจาก จ.ท่าขี้เหล็ก ให้ด่านฯ สามารถอนุญาตให้เข้ามาได้เลย
  3. ให้ อสม. เฝ้าระวังผู้ที่เดินทางกลับเข้ามาอยู่ในพื้นที่ โดยให้ผู้ที่เดินทางมาจาก จ.ท่าขี้เหล็ก เดือน พ.ย. มารายงานตัว และรับการตรวจคัดกรองทุกคน
  4. เตรียมความพร้อมบริหารจัดการทรัพยากร ยกระดับการจัดการหากมีผู้ป่วยมากขึ้น
  5. เพิ่มความเข้มข้นมาตรการป้องกันควบคุมโรคในสถานประกอบการ หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรค และ
  6. การให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่ประชาชน ป้องกันการเกิดข่าวปลอมหรือข่าวลวง

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS