รับเสี่ยงแต่จำเป็น สร้างหลายทางเลือกให้คนไทยเข้าถึงวัคซีน
“นพ.สุวิทย์” แจง สธ. เลือกจองวัคซีนกับ “แอสตราเซนเนกา” แม้ยังพัฒนาไม่สำเร็จ เพราะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ชี้ ข้อเสียวัคซีนไฟเซอร์ ต้องเก็บที่อุณหภูมิ -70 องศา ขนส่งยาก คาดคนไทยได้ใช้วัคซีนล็อตแรก เดือน พ.ค. ปี 64
จากกรณีวานนี้ (17 พ.ย. 63) ครม.มีมติเห็นชอบให้ไทยจองซื้อวัคซีนโควิด-19 จากแอสตราเซนเนกาจำนวน 26 ล้านโดส วงเงิน 6 พันล้านบาท เพื่อให้คนไทย 13 ล้านคน หรือ 20% ของประชากรเข้าถึงวัคซีน
นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ด้านการต่างประเทศ เปิดเผย กับ The Active ว่า รัฐบาลพยายามทุกทางที่จะหาวัคซีน มาเพื่อคนไทยได้อย่างเหมาะสม โดยทางเลือกแรก เลือกจองกับ บริษัท แอสตราเซนเนกา เพราะว่า จะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี มาผลิตในไทยที่โรงงานของบริษัท สยามไบโอไซเอน ประเทศไทยก็จะกลายเป็นศูนย์กลางของการผลิตวัคซีนโควิด ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ไทยตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้กับประชากรให้ได้ 50%
ขณะที่อีกแนวทางหนึ่ง ที่กำลังจะเสนอ ครม. ให้พิจารณาคือการร่วมลงขันกับหลายประเทศในโครงการของสหประชาชาติ เพื่อร่วมกันซื้อจัดซื้อวัคซีน หรือ Covax ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างพิจารณา ยังไม่รู้ว่าจะได้วัคซีนจาก Covax เมื่อไหร่ แต่คาดว่าน่าจะเป็นกลางปีหน้าเช่นกัน
ส่วนกรณีที่บริษัท ไฟเซอร์ และ บริษัท โมเดอร์นา 2 บริษัทผลิตวัคซีนที่ได้ผลถึง 90% ยอมรับว่าจะมีการเจรจาเบื้องต้นกับ บริษัท ไฟเซอร์ในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ แต่วัคซีนของไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา เป็นวัคซีนที่มีข้อจำกัดเยอะ คือ ต้องเก็บในความเย็น -70 องศาเซลเซียส เมื่อนำออกมาก็จะมีอายุการใช้งาน 4 วัน – 1 เดือน หากต้องฉีดในปริมาณหลายล้านโดส จะเป็นอุปสรรคในเรื่องการขนส่ง อย่างไรก็ตามวัคซีนจากทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นา ใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ พัฒนาอยู่ ซึ่งคาดว่าปลายปี 2564 จะทำสำเร็จ
ส่วนวัคซีนของแอสตราเซนเนกา แม้ว่าจะยังพัฒนาไม่สำเร็จเหมือนอย่าง ไฟเซอร์ กับ โมเดอร์นา เพราะว่าระหว่างทำการวิจัย เกิดมีผู้ทดลองสันหลังอักเสบ ต้องหยุดทำการวิจัยไปพักหนึ่ง อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าเกี่ยวกับวัคซีนหรือไม่และคาดว่าใช้เวลาอีก 1-2 เดือนก็จะรู้ผลว่ามีภูมิคุ้มกันเกิน 90% หรือไม่
นพ.สุวิทย์ บอกอีกว่า ปัจจุบันยังมีความรู้ไม่มากพอว่าวัคซีนโควิด-19 ฉีดแล้วสร้างภูมิคุ้มกันอยู่ได้นานแค่ไหน ก็คาดหวังว่าจะฉีดเข็มเดียวและป้องกันได้ตลอดชีวิต แต่ก็ต้องใช้เวลาศึกษากัน 20-30 ปี เบื้องต้นอาจจะฉีดเข็มหนึ่ง อยู่ได้ประมาณ 1-2 ปีเท่านั้น
“ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน อยากเรียนให้ประชาชนทราบว่าการตัดสินใจของรัฐบาลมีความเสี่ยง แต่เป็นความเสี่ยงที่จำเป็น เพราะตอนนี้ยังไม่รู้เลยว่าวัคซีนที่จองไปนั้น จะได้ผลหรือไม่ แต่ถ้าไม่จองไว้ คนอื่นก็จะเอาไปหมด คนไทยก็จะไม่ได้ใช้” นพ.สุวิทย์ กล่าว
สำหรับงบประมาณที่ใช้ไปกับการพัฒนาและจัดหาวัคซีนนั้น งบประมาณก้อนแรกจากงบประมาณกลาง 1,000 ล้านบาท พัฒนาร่วมกับอ๊อกฟอร์ด 600 ล้านบาท และ 400 ล้านบาทให้กับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังมีสำรองในส่วนของงบประมาณเงินกู้ที่สำรองไว้ประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท และเร็ว ๆ นี้กำลังจะพิจารณาเข้าโครงการ Covax รวมทั้งล่าสุดจองซื้อวัคซีนโควิด-19 จากแอสตราเซนเนกา อีก 6 พันล้านบาท รวมงบประมาณที่ใช้เพื่อวัคซีนโควิดทั้งหมด 1 หมื่นล้านบาท