แนะ แก้กฎหมายล้มละลาย ให้ลูกหนี้เข้าแผนฟื้นฟู แก้วิกฤต

นักวิชาการ เสนอ รื้อแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เน้นท่องเที่ยวสุขภาพรับสังคมสูงวัย ชี้ โควิด-19 ถ่างช่องว่างความเหลื่อมล้ำ

เศรษฐกิจ ซึมยาว คนจน ซึมหนี้” คำนิยามในยุควิกฤตเศรษฐกิจ ที่มีวิกฤตโรคระบาดเป็นตัวกระตุ้น ให้ปัญหาปากท้องของประชาชนและภาคธุรกิจกระทบไปทั่วทุกหัวระแหง

สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านการเงิน บรรยายพิเศษที่ไทยพีบีเอส วันนี้ (5 พ.ย. 2563) กล่าวถึงสถานการณ์ภาพรวมหนี้ครัวเรือนปัจจุบัน ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุ มีจำนวนบัญชีหนี้ในระบบทั้งหมด 75.5 ล้านบัญชี 23.1 ล้านคน รวมเป็นเงินเกือบ 12 ล้านล้านบาท คิดเป็น 80% ของหนี้ครัวเรือน

จำนวนนี้ 1 ใน 6 เป็นหนี้เสีย โดยคนไทยมีหนี้ค่าเฉลี่ยกลางต่อหัว 128,384 บาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

“สถานการณ์โควิด-19 ทำให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนย่ำแย่ลงไป เพราะมีปัจจัยจากคนตกงาน งานที่หายไป แม้จะมีมาตรการพักหนี้ แต่จากการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนก็พบว่ายังไม่เพียงพอ แต่ก็ยังเห็นด้วยกับการปรับเปลี่ยนวิธีคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ซึ่งเมื่อก่อนจะถูกคิดดอกเบี้ยจากวงเงินทั้งหมด แต่ตอนนี้คิดเพียงดอกเบี้ยจากเงินที่ค้างชำระ ซึ่งควรจะทำมานานแล้ว”

อีกข้อเสนอสำคัญ คือ จากวิกฤตต้มยํากุ้งทำให้เกิดกฎหมายล้มละลาย แต่การจะเป็นบุคคลล้มละลาย เพื่อเข้าสู่แผนฟื้นฟูธุรกิจ เจ้าหน้าที่ต้องฟ้องศาล ขอให้ศาลสั่ง จึงเสนอว่าหากมีการแก้กฎหมายล้มละลาย ให้ลูกหนี้ไปเสนอตัวเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู จะทำให้ช่วยเรื่องวินัยการเงินมากขึ้น นอกจากนี้ยังเสนอให้รัฐจ้าง บัณฑิตจบใหม่ที่ว่างงานจ้าง เป็นอาสาสมัครทางการเงิน หรือ อมง. คล้าย ๆ อสม. ช่วยเข้าไปดูแลบริหารการจัดการเงินในชุมชน

พายุดิสรัปชัน : เปิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่

ดร.ศุภวัฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า การที่ประเทศไทยปลอดผู้ติดเชื้อภายในประเทศ ต้องแลกมากับต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูงมาก จากการประเมินของ IMF ทั้งโลกปีนี้ GDP จะติดลบ 4.4% และในปีหน้า 2564 จะบวกขึ้นมา 5.2% ส่วน GDP ไทยปีนี้ติดลบไปถึง 7.8% แต่ในปีหน้าจะบวกขึ้นมาแค่ 3.6 % ก็ยังติดลบอยู่ดี

ทั้งนี้ การบริโภคภายในยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากพอ เพราะพึ่งพาการท่องเที่ยว ตรงนี้ต้องมีการทบทวนเรื่องแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเขียนระบุไว้ว่าจะทำให้สัดส่วน GDP ในภาคการท่องเที่ยวมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึง 30 % ในอีก 20 ปีข้างหน้า ขณะที่ทุกวันนี้พึ่งพาสัดส่วนการท่องเที่ยวอยู่ถึง 18 % ของ GDP แต่เมื่อเกิด COVID-19 ก็เหลือ 0%

ในขณะที่โครงการ EEC เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 3 โครงการหลักก็จะเป็นโครงการที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ก็เป็นโครงการที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยว ศูนย์ซ่อมเครื่องบิน MRO ของการบินไทย บมจ.การบินไทย ก็ล้มละลายเข้าสู่แผนฟื้นฟู ในขณะที่เมืองการบินอู่ตะเภาก็ยังเป็นโมเดลธุรกิจที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวเช่นเดียวกัน

ดร.ศุภวัฒิ มีข้อเสนอ 5 ด้าน คือ

  1. ธนาคารแห่งประเทศไทย คาดว่าปีหน้า อย่างมากที่สุดจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาถึง 9 ล้านคน จากเดิมมีถึง 40 ล้านคน จะทำอย่างไรให้ 9 ล้านคนนี้มีการใช้จ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้นจากเดิมหัวละ 50,000 บาทเป็นหัวละ 100,000 บาท
  2. ปัจจุบันโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวอาจต้องควบคู่ไปกับการรักษาพยาบาล และมุ่งต้อนรับนักท่องเที่ยวสูงวัยที่ร่ำรวย หนีหนาวมาจากเมืองนอก มาอยู่ไทยเป็นเดือน ซึ่งต้องปรับโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับ wellness tourism หรือเป็น aging Center
  3. อุตสาหกรรมยานยนต์ตอนนี้ ถึงจุดอิ่มตัว ความต้องการซื้อลดลง ทางออกคือมุ่งไปที่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งการเปลี่ยนผ่านจากเครื่องยนต์แบบสันดาปภายใน มาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว ต้องพัฒนาแบตเตอรี่ให้ทนทาน จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่
  4. ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกำลังจะหมดลง แต่ 4 ปัจจัยการผลิต ได้แก่ เทคโนโลยี สินเชื่อ แรงงาน ก็รวมถึง พลังงานด้วย เมื่อพูดถึงพลังงาน ก็ไม่เอาพลังงานจากนิวเคลียร์ จึงต้องเน้นพลังงานทางเลือก เช่นโซล่าเซลล์ พลังงานจากแสงอาทิตย์ เช่นนั้นจะต้องสร้าง Storage เพื่อเก็บพลังงาน ดังนั้นต้องลดบทบาทของ กฟผ. ลงเป็นเพียงผู้สำรองไฟในช่วงขาดแคลน
  5. ภาคการเกษตร ซึ่งมีคนจนเยอะมาก ผลผลิตคิดเป็น 8-10 % ของ GDP แต่ใช้พื้นที่มากที่สุดในประเทศถึง 50% จึงต้องมาทบทวนเรื่องการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดความแม่นยำในการทำการเกษตรเพื่อได้สินค้าคุณภาพสูง ปลอดสารเคมี และลดต้นทุนการผลิต

“ต้องเข้าไปดู 5 เรื่องนี้หากต้องการเปลี่ยนโครงการเศรษฐกิจ”

ชี้โควิด-19 ถ่างช่องว่าความเหลื่อมล้ำให้สูงขึ้น

ดร.ศุภวัฒิ กล่าวอีกว่า วิกฤตครั้งนี้ทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้นอีกมาก ดูตัวอย่างจากโรงแรม 2 ดาว 3 ดาว ที่รับผลกระทบไม่มีนักท่องเที่ยวก็จะถูกนายทุนเศรษฐีกว้านซื้อ ถ้าจะแก้ปัญหาส่วนนี้จริง ๆ รัฐบาลควรจะให้ผู้ประกอบการ เป็นผู้คิด เปลี่ยนโครงสร้าง แล้วธนาคารปล่อยเงินกู้ รัฐเพิ่มทุนให้อีก ซึ่งสามารถทำได้เพราะตอนนี้เงินเฟ้อต่ำมาก โดยรัฐบาลสามารถหารายได้ด้วยการขาย Government bonds หรือ ออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อหารายได้เพิ่มอีก

ด้าน สฤณี กล่าวว่า รัฐเพิ่มโอกาสคนจน โมเดลเศรษฐกิจ ที่ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมมีให้เห็นหลายโมเดล สามารถนำมาปรับใช้ได้ ในขณะเดียวกันต้องมีการปฏิรูปภาษี ซึ่งคนรวยที่ใช้ทรัพยากรนั้นก็ต้องจ่ายภาษีและต้องเป็นภาษีแบบก้าวหน้า และอีกประการสำคัญ คือ ต้องจริงจังการสร้างรัฐสวัสดิการ อย่างเท่าเทียม ทั่วถึงมากขึ้น เพื่อที่จะลดปัญหาความเหลื่อมล้ำระยะยาว

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS