มองปรากฏการณ์ “ความเกลียดชัง” ระบาดในสังคมไทย

“ที่เราบอกว่า ทนกันได้ ไม่ได้หมายความว่าต้องทนกับทุกสิ่ง ทนกันได้หมายถึงการแสดงความคิดเห็น ความเชื่อเป็นหลัก แต่เมื่อใดใช้กำลัง ก็ไม่จำเป็นต้องทน หมายความว่า ต้องมีมาตรการรับมือ อย่างกฎหมาย ถ้ามีเรื่องเหล่านี้ ฝ่ายรักษากฎหมายยังปล่อยให้เกิดขึ้น อาจลุกลาม ต้องทำให้เห็นว่าการทำร้ายร่างกายเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้”

รศ.ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว กรรมการก่อตั้ง ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนมองปรากฏการณ์การระบาดของความเกลียดชังในสังคม

“สังคมประชาธิปไตย เป็นสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย และต้องอดทนฟังความเห็นที่แตกต่างได้”

เธอมองว่า ความรุนแรง การทำร้ายร่างกาย เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาความเห็นต่าง หรือพูดง่าย ๆ ว่าทนไม่ได้กับผู้ที่มีจุดยืน มีความเชื่อที่ต่างจากตัวเอง จนต้องแสดงออกด้วยความรุนแรง

แต่สองเรื่องหลักที่ต้องคำนึงภายใต้สังคมที่เป็นประชาธิปไตย คือ ต้องมีความเห็นต่าง และต้องใช้ความอดกลั้นอดทน หากทนไม่ได้ ก็ตอบโต้ได้ด้วยการแสดงความเห็นต่าง แต่ถ้าเมื่อใดเกินเส้น เช่น การใช้กำลังหยุดยั้งความเห็นต่าง ใช้กำลังกับคนที่เห็นต่าง “เมื่อใช้กำลัง ต้องดำเนินการให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้” เพื่อไม่ให้ลุกลามจนกลายเป็น น้ำผึ้งหยดเดียว

ปรากฏการณ์การระบาดของความเกลียดชัง

รศ.ฉันทนา วิเคราะห์ว่า ปรากฏการณ์แพร่ระบาดความเกลียดชัง เกิดความหวาดระแวง ความกลัวอนาคต กลัวกระทบสิ่งที่เชื่อ ซึ่งเป็นเรื่องของวิธีคิดค่อนข้างมาก ถ้าไม่ได้หล่อหลอมให้คนในสังคมคิดอย่างมีเหตุผลก็เป็นไปได้ที่จะเกิดความหวาดระแวงในลักษณะนี้

“การแสดงความเห็น การวิพากษ์ วิจารณ์ ในทางวิชาการ ถือเป็นการเติบโตทางปัญญา แต่คำถาม คือ จะวิจารณ์อย่างไร ให้คนถูกวิจารณ์ยอมรับได้ เพราะการส่งสารจะมีปัญหาทันที ถ้าส่งไปแล้วอีกฝ่ายเข้าใจตรงกันข้าม เท่ากับว่า การวิจารณ์ของเราไม่ได้ผล…”

ดังนั้น ประเด็นที่ต้องการจะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงควรต้องชัดเจน และควรหยิบประเด็นที่เป็นเหตุเป็นผลมาแสดงออก มากกว่าอารมณ์ความรู้สึก ขณะที่กลุ่มคนเห็นต่างต้องรู้จักใช้เหตุผลเพราะการกระจายความเกลียดชัง มีต้นตอมาจากความกลัว ความหวาดระแวง เช่นการทำให้เห็นว่ามีภัยคุกคามแต่ไม่รู้ว่ามีจริงหรือไม่ และจะค่อย ๆ แผ่กระจายออกไปในลักษณะการใช้อารมณ์ ทำให้เกิดความรู้ และปฏิกริยาตอบโต้ที่ไม่ชอบธรรม 

“ความหวาดระแวงเป็นตัวที่ปิดช่อง การทำความเข้าใจประเด็นพื้นฐาน หลักการและเหตุผล ที่วิพากษ์วิจารณ์กัน” 

ทั้งนี้ เธอยังแนะนำให้ลดความหวาดกลัวด้วยการแสวงหาเหตุผล มองเข้าไปให้ลึกซึ้งถึงเจตนาที่แท้จริง 

“มองให้ถึงก้นบึ้งความเดือดร้อนทุกข์ยากของเขา ถ้าคนโดยทั่วไปไม่ได้ประสบปัญหากับตัวเอง ก็จะมองไม่เห็นความทุกข์ของตัวเอง เราเรียกว่าต้องใช้ความรู้ ปัญญา…”

ขณะที่ข้อเสนอของผู้ชุมนุม โดยเฉพาะประเด็นเปราะบาง ก็ต้องพูดคุยกันอยู่บนข้อเท็จจริง ที่เชื่อมโยงอยู่กับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยหากจะหวังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็จำเป็นต้องขจัดเงื่อนไข ไม่ให้ผู้รับสารตีความเป็นอื่นให้ได้มากที่สุด

และหารายละเอียดที่พูดคุยกันได้อย่างเห็นพ้องต้องกันมากที่สุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน