แนะ รื้อระบบประกันสังคม สร้างระบบการออม รับวิกฤตแรงงาน​

คณบดี เศรษฐศาสตร์​ มธ.​ ระบุ แรงงานไทยไร้เงินออม​-​หนี้ท่วมหัว พบ หลังโควิด​-19 คืนสู่ภาคเกษตร​มากขึ้น ​แต่รายได้ต่อหัวต่ำ​

เมื่อวันที่ 27​ ต.ค.​ 2563 ผศ.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ เปิดเผยกับ The Active กรณีสถานการณ์​แรงงานที่มีปัญหาสะสมมาก่อนเกิดโควิด-19 ระบาด ทำให้ประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยว อย่างประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาด

แฟ้มภาพ | คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผศ.ศุภชัย ระบุว่า กลางปี 2562 จีนและสหรัฐอเมริกาทำสงครามการค้า มีผลกระทบต่อ Global supply chain แต่เมื่อถึงปี 2563 เกิดโควิด-19 ระบาด ซึ่งประเทศไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบเต็ม​ ๆ ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยเงื่อนไขหลายอย่าง มากที่สุด คือ ปัญหาด้านโครงสร้างประชากร​ ที่มีคนตายน้อยลง และคนเกิดน้อยลงด้วย

ปัจจุบัน ประเทศ​ไทยมีประชากรวัยแรงงานจำนวน 38 ล้านคน​ ในจำนวนนี้ 37 ล้านคนมีงานทำ แต่ก็มีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้แรงงานบางกลุ่มทำงานไม่ตรงสาย นอกจากนี้ ยังมีอีก 18 ล้านคน ไม่ได้อยู่ในวัยแรงงาน​ เป็นเด็ก​ คนชรา​ และคนพิการ​ รวมทั้งสังคมสูงวัยที่กำลังเพิ่มมากขึ้น​ ขณะที่แรงงานส่วนใหญ่ไม่มีเงินออมและมีหนี้สิน​มาก​ ทำให้ไทยต้องเตรียมพร้อมหามาตรการรองรับ​ ทั้งในเรื่องของรัฐสวัสดิการ​ และระบบการออมแบบใหม่

“เวลาเราบอกว่าโควิดกระทบอะไรบ้าง เช่น กระทบภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ต้องมองในระดับ Supply chain (ห่วงโซ่อุปทาน) ซึ่งตรงนี้ผมเน้นมาก เพราะ Supply chain ในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จะรวมไปถึงโรงแรม ร้านอาหาร ค้าปลีก ขนส่ง​ กระทบทั้งหมด ขณะเดียวกัน โควิดก็กระทบเรื่องการส่งออก ก็จะมี Supply chain อีกปัจจัยหนึ่ง คือ supply chain disruption ซึ่งเป็นอุตสาหกรรม​เก่า​ เช่น​ เครื่องใช้ไฟฟ้า​ เหล่านี้รับผลกระทบอยู่แล้วเต็ม ๆ จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป”

ILO คาดไทยมีผู้ว่างงาน​เพิ่ม​ 6-7%

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ.​ ระบุอีกว่า เมื่อดูจากสถานการณ์แล้ว​ หากคนไทยตกงานจะมุ่งไปที่ภาคการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ และเป็นประจำทุกปี ประเทศไทยมีผู้ว่างงานอยู่ที่ 1% แต่หลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ตัวเลขกระโดดพุ่งไป องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO (International Labour Organization) ​คาดว่าในกรณีที่เลวร้ายที่สุด จะมีผู้ว่างงานมากถึง 6-7%

“หากวิเคราะห์ดูว่าทำไมประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง​ จะพบว่าภาคอุตสาหกรรม ทำรายได้ต่อหัวประชากรสูงสุด รองลงมา คือ ภาคบริการ​ ในขณะที่ภาคการเกษตรนั้น มีรายได้ต่อหัวต่ำสุด​ แต่ว่ามีแรงงานอยู่ในภาคนี้มากที่สุด​ ดังนั้น จะทำอย่างไรให้การจ้างงานในภาคเกษตร มีมูลค่าสูงขึ้น”

เสนอรวมบริการสุขภาพประกันสังคม​-บัตรทอง

ผศ.ศุภชัย​ กล่าวอีกว่า​ ถ้ามาดูในด้านของความคุ้มครอง​ จะพบว่าแรงงานในระบบตามกฎหมายประกันสังคมตามมาตรา 33, 39 และ 40 ก็มีอยู่ส่วนหนึ่ง แต่อีก 20 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่รับการคุ้มครองในอนาคต​ เช่น​ เงินบำเหน็จบำนาญ​ ทั้งยังมีปัญหาเรื่องหนี้สินและการออมควบคู่กันไป ซึ่งในส่วนของระบบประกันสังคม​ ช่วงที่ผ่านมามีคนตกงานจำนวนมาก เคยมีข้อเสนอว่าให้รวมเรื่องของการบริการสุขภาพไปใช้กับบัตรทอง​ แล้วเงินที่ผู้ประกันตนจ่ายให้สมทบกองทุนประกันสังคมเก็บไว้เป็นเงินบำนาญ

ส่วนแนวโน้มการจ้างงานในอนาคต จะเป็นรูปแบบของพาร์ทไทม์มากขึ้น (งานชั่วคราว) คนหนึ่งทำงานหลายอย่าง ซึ่งตรงนี้จะทำให้ต้องมาทบทวนเรื่องสวัสดิการ ที่ไม่รองรับและการปรับตัวของระบบประกันสังคม

กลุ่มแรงงานที่น่าเป็นที่สุด คือ กลุ่มเด็กจบใหม่ ที่มีอยู่ 4 แสนคนต่อปี​ ซึ่งใช้เวลางานหางานมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ กลุ่มนี้น่าเป็นห่วงมาก​ ส่วนนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความสามารถ​สร้างตำแหน่งงานเพื่อรองรับได้ถึง​ 70,000 อัตรา​ ซึ่งเงินจ้างก็เป็บงบประมาณ​จัดสรรจากรัฐอยู่แล้ว​

ชี้ เงื่อนไขการจ้างงาน​ ขึ้นอยู่กับการเปิดประเทศ

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ.​ กล่าวถึงกรณี​ รัฐมนตรี​ว่าการกระทรวงแรงงาน ประเมินสถานการณ์​และแนวโน้มการจ้างงานดีขึ้นว่า​ เป็นการประเมินในแง่ดี ซึ่งอาจจะเป็นอย่างนั้นจริง ๆ​ เพราะว่าหลังจากคลายล็อกดาวน์ ทำให้สถานการณ์การจ้างงานดีขึ้น แต่ยังคงต้องบริหารความเสี่ยง

“ความเสี่ยงใหญ่ ยังคงเป็นเรื่องของความท้าทายในการเข้าตลาดได้ไม่เต็มที่จากบัณฑิตจบใหม่ ที่จะเข้าสู่ระบบแรงงานตลาดแรงงาน​ และยังต้องหาจุดสมดุลระหว่างเศรษฐกิจกับสาธารณสุขให้ได้ เงื่อนไขสำคัญของการจ้างงานยังอยู่ที่การเปิดประเทศ จึงมีข้อเสนอว่าเป็นไปได้ไหมที่จะรับผู้ป่วยต่างชาติมารับการรักษาในประเทศไทยและมูลค่าสูง”

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS