ไต้ฝุ่น “โมลาเบ” จ่อเข้าไทย พรุ่งนี้

อ่อนกำลังเป็นพายุโซนร้อน ก่อนเคลื่อนเข้าไทย 28 ต.ค. ทำไทยตอนบนมีฝนตกหนักถึงหนักมาก กอนช. เตือน อ่างเก็บน้ำใหญ่เกินความจุ 6 แห่ง

วันนี้ (27 ต.ค. 2563) พายุไต้ฝุ่น “โมลาเบ” (พายุระดับ 5) ถึงเมืองดานัง ประเทศเวียดนามแล้ว กรมอุตุนิยมวิทยา เตือนให้เตรียมรับฝนตกหนักเกือบทุกภาค เสี่ยงน้ำล้นเขื่อน น้ำท่วมหลาก โดยจะมีผลกระทบไทยตั้งแต่วันที่ 28 – 30 ต.ค. 2563

พายุไต้ฝุ่น “โมลาเบ” เป็นพายุที่ถูกตั้งชื่อโดยประเทศฟิลิปปินส์ เป็นชื่อไม้เนื้อแข็งชนิดหนึ่ง ใช้ทำเครื่องเรือน ขณะนี้อยู่ที่บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ห่างจากทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ประมาณ 675 กิโลเมตร มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 155 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลางในวันพรุ่งนี้ (28 ต.ค.) จากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน (พายุระดับ 3) ก่อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายจังหวัด

โดยวันที่ 28 ต.ค. จะเกิดฝนตกหนักหลายพื้นที่

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร อำนาจเจริญ ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด

ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

ระหว่างวันที่ 29-30 ต.ค.

ภาคเหนือ: จังหวัดเพชรบูรณ์ พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย ตาก และกำแพงเพชร

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล โดยบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร อ่าวไทยตอนล่างคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้

ด้าน กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) (ตามภาพที่ส่งมา) เตือนให้เฝ้าระวังอ่างเก็บขนาดใหญ่น้ำเกินความจุจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ, อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ่างเก็บน้ำมูลบน จังหวัดนครราชสีมา, อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จังหวัดระยอง

ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 124 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ จำนวน 10 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 76 แห่ง ภาคกลาง จำนวน 4 แห่ง ภาคตะวันออก จำนวน 20 แห่ง ภาคตะวันตก จำนวน 11 แห่ง และภาคใต้ จำนวน 3 แห่ง

ขณะที่แม่น้ำหลายสายต้องเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง ที่แม่น้ำมูล บริเวณตำบลหนองยาง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา, ตำบลทุ่งกุลา อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ และตำบลนิคม อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์

ลำปะเทีย บริเวณตำบลอีสานเขต อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์, ลำชี บริเวณตำบลตระแสง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์, ห้วยทับทัน บริเวณตำบลห้วยทับทัน อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ, แม่น้ำปราจีนบุรี บริเวณตำบลกบินทร์ อำเภอกบินทร์บุรี ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี, แม่น้ำบางปะกง บริเวณตำบลบางเตย อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี, คลองชี บริเวณตำบลเขาวิเศษ อำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง, แม่น้ำตาปี บริเวณตำบลท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์