เร่งอุดรอยรั่ว เขื่อนห้วยยาง จ.สระแก้ว หลังสร้างมากว่า 30 ปี

ยกระดับความปลอดภัยเขื่อนอายุมาก ลดเสี่ยงเขื่อนชำรุด เจาะอัดฉีดน้ำปูนและสารเคมี ลดการไหลซึมผ่านชั้นหินฐานราก ถึงชั้นหิน 24 เมตร

วันนี้ (26 ต.ค. 2563) เฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน เขื่อนห้วยยาง จ.สระแก้ว มีปริมาณน้ำเก็บกักประมาณ 49.08 ล้าน ลบ.ม. มีการระบายน้ำเพื่อลดแรงดันของน้ำที่ซึมลอดผ่านใต้ฐานของตัวเขื่อน ผ่านท่อกาลักน้ำ อาคารท่อระบายน้ำลงลำน้ำเดิมและท่อส่งน้ำ รวม 0.96 ล้าน ลบ.ม. ระดับน้ำลดลงจากวานนี้ (25 ต.ค.) 12 เซนติเมตร

ทั้งนี้ จากการระบายน้ำดังกล่าว จะส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่ง ซึ่งขณะนี้ กรมชลประทาน ได้ทำการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำบริเวณสะพานบ้านกุดเวียน เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด และเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ เข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านท้ายน้ำที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์บางส่วนแล้ว

ด้าน ดร.กัมปนาท ขวัญศิริกุล ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรมธรณี กรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้ได้ทำการถมดินเพิ่มบริเวณลาดเขื่อนด้านเหนือน้ำ และก่อกระสอบทรายรอบจุดรั่วเพื่อควบคุมแรงดันและลดการกัดเซาะที่ตัวเขื่อน รวมทั้งเจาะสำรวจ Hand Auger เพื่อตรวจสภาพบริเวณข้างเคียง และสำรวจธรณีฟิสิกส์ในแนวที่คาดว่ามีน้ำผ่านตัวเขื่อน

ผลการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่ามีน้ำไหลลอดผ่านฐานรากเขื่อนในชั้นหินแนวรอยต่อดินบดอัดและดินเดิมบริเวณร่องแกนเขื่อน จึงได้ทำการเจาะอัดฉีดน้ำปูนและสารเคมี เพื่อลดการไหลซึมผ่านชั้นหินฐานราก บริเวณศูนย์กลางเขื่อนจากระดับสันเขื่อนถึงชั้นหินฐานรากในแนวที่คาดว่าจะมีน้ำไหลผ่าน โดยดำเนินการไปแล้ว 3 หลุมเจาะ ซึ่งวันนี้จะดำเนินการต่อจนครบตามแผน รวมทั้งถมคันดินด้านท้ายน้ำรอบจุดรั่วและปิดช่องเร่งกักเก็บน้ำเพื่อควบคุมแรงดันและป้องกันการกัดเซาะ ปัจจุบันไม่พบหลุมยุบและการแตกร้าวของตัวเขื่อนเพิ่มเติม

สำหรับเขื่อนห้วยยาง เป็นเขื่อนขนาดกลาง ของกรมชลประทาน ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2529 และสร้างเสร็จ ปี 2537 สามารถกักเก็บน้ำได้สูงสุด 60 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำเต็มเขื่อน มา 2 ครั้ง คือ ปี 2556 และ 2563 ปีนี้ ที่มีการชำรุด น้ำลอดระดับสันเขื่อนชั้นหินฐานราก ลึกลงไปชั้นหินผุ 3 เมตร ถือเป็นเขื่อนแรก ๆ ที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้

ด้าน รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยเขื่อน ม.เกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า เขื่อนห้วยยางเป็นเขื่อนที่อายุมาก แม้จะมีความปลอดภัยในมาตรฐานการก่อสร้างในระดับหนึ่ง แต่เมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น อาจส่งผลให้เกิดเหตุการณ์วิกฤตได้

ขณะที่ประเทศไทยมีเขื่อนมากกว่า 5 พันแห่ง ควรมีการตั้งหน่วยงานกลางตรวจสอบด้านความปลอดภัยเขื่อนเพิ่มขึ้น มาเสริมกับหน่วยงานรัฐให้เป็นสากลมากขึ้น เพื่อให้มีการตรวจสอบความปลอดภัยเขื่อนคู่ขนาดกันในทุก ๆ เขื่อน

ขณะที่เรื่องของการเตือนภัยชุมชนชาวบ้าน ต้องมีแผนที่เสี่ยงสำรองหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ที่อยู่อาศัยท้ายเขื่อนรับมือทัน ขณะที่ข้อมูลหน่วยวิจัยความปลอดภัยเขื่อน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า พื้นที่หมู่บ้านชุมชนท้ายเขื่อนห้วยยางที่อาจมีความเสี่ยงมากถึง 12 หมู่บ้าน

“คงถึงเวลาแล้วที่เขื่อนทุกเขื่อนต้องมีทิศทางการสร้างความปลอดภัยให้มากกว่าเดิม เพราะเขื่อนหลายแห่งในไทยมีเขื่อนอายุมากกว่า 30 ปีที่ก่อสร้างในยุคก่อน ที่อาจมีความทันสมัยน้อยกว่ายุคปัจจุบัน”

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์