ทนาย นศ.ยัน เดินหน้าฟ้อง แม้ยกเลิกประกาศฯ

ย้ำ ประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิ ต้องได้รับการเยียวยา “วิษณุ” ชี้ หากไม่ดำเนินคดี อาจผิด ม.157 หวั่น ไม่มีประกาศฯ อาจเกิดม็อบชนม็อบ

วันนี้ (22 ต.ค. 2563) วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังจากรัฐบาลยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร รวมถึงยกเลิกประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค. 2563 เวลา 12.00 น. เป็นต้นไปนั้นว่า คดีที่แกนนำและผู้ชุมนุมที่ถูกดำเนินคดีจะยังคงเดินหน้าต่อไป

เนื่องจากกฎหมายแม่ คือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ไม่ได้ถูกยกเลิก แต่ที่ยกเลิก คือ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นกฎหมายลูก ส่วนการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวและข้อกำหนดที่ออกตามนั้น จะไม่เริ่มใช้กับคนใหม่ แต่คดีเก่าที่ค้างอยู่ก็จะดำเนินต่อไป

ส่วนข้อเรียกร้องให้รัฐบาลต้องไม่ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมทั้งหมดนั้น นายวิษณุกล่าวว่า ถ้ายกเลิกการดำเนินคดี รัฐบาลจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งมีคนที่เตรียมจะฟ้องอยู่แล้ว ส่วนการประกันตัวเป็นสิทธิของผู้ชุมนุมที่สามารถยื่นขอต่อศาลได้

“ผมเป็นห่วง การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ผู้ชุมนุมทั้งหลายไม่กลัวอะไร แม้จะห้ามชุมนุม ก็ยังชุมนุม แต่คนอื่น ฝ่ายอื่น ม็อบเสื้อเหลือง เขากลัว สังเกตว่าเขาจะไปเดินที่ชลบุรี สุไหงโก-ลก สงขลา แต่พอยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในกรุงเทพฯ เสื้อไหนก็ชุมนุมได้หมด ทีนี้ก็จะปะทะกัน”

“ทนาย” แย้ง รัฐใช้อำนาจตามกฎหมายปกติดำเนินคดีได้ ไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจพิเศษ

ขณะที่เมื่อช่วงบ่าย (22 ต.ค.) ศาลแพ่งมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวและคำขอไต่สวนฉุกเฉินตามที่ 6 นักศึกษายื่นคำร้องไว้ก่อนหน้านี้ โดยศาลเห็นว่า ได้มีการประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงแล้ว กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะขอคุ้มครองชั่วคราวอีกต่อไป เลยสั่งยกคำร้องและขอคุ้มครองชั่วคราวและคำขอไต่สวนฉุกเฉิน ส่วนการพิจารณาคดีก็ดำเนินการต่อไปตามที่นัดหมายไว้ คือ วันที่ 19 ม.ค. 2564

ด้าน สุรชัย ตรงงาม ทนายความ ให้สัมภาษณ์ว่า เห็นว่ายังต้องดำเนินการฟ้องร้องต่อไป เพราะการยกเลิกไม่เท่ากับเพิกถอน เนื่องจากการยกเลิกโดยอ้างว่าเหตุการณ์คลี่คลายลงแล้ว เท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่าการกระทำตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. ที่ผ่านมานั้น ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่เห็นด้วย เพราะเท่ากับการไปรับรองเหตุที่ไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้ชอบด้วยกฎหมาย

“เราต้องการจะพิสูจน์ว่า มาตรการใด ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งการใช้กำลังในการสลายการชุมนุม การฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมี การปิดกั้นสื่อ การปิดกั้นการคมนาคม รวมถึงการจับกุมนักศึกษาประชาชนโดยกล่าวหาว่ากระทำการขัดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทั้งหมดนี้เป็นมาตรการที่ออกจากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน”

เขายืนยันว่า ต้องยกเลิกการดำเนินคดีนักศึกษาในข้อหาผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยทันทีเช่นกัน ซึ่งทางผู้เสียหายก็จะเดินหน้าทางคดีต่อไป ส่วนว่าจะดำเนินการแบบไหน หลังจากนี้ก็จะกลับไปคุยกันว่า จะใช้มาตรการทางกฎหมายแบบใด เพื่อเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากการริดรอนสิทธิเสรีภาพในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ส่วนที่นายวิษณุกล่าวว่า เจ้าหน้าที่อาจผิด ม.157 หากไม่ดำเนินคดีผู้กระทำผิดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น นายสุรชัยเห็นว่า ข้อเท็จจริง คือ ยังไม่ได้ยกเลิกกฎหมายที่เป็นการจัดการรักษาความสงบทั้งหมด คือ ยังมีกฎหมายปกติใช้บังคับทั่วไป โดยไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การกล่าวอ้างแบบนั้นของนายวิษณุจึงไม่มีเหตุผล

นายสุรชัยยังมีความเห็นต่อการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงว่า อย่างน้อยก็ทำให้การใช้อำนาจตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต้องยุติลงไป แต่ยังมีผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการถูกจับกุมถูกปิดกั้นสิทธิเสรีภาพจำนวนมาก ซึ่งยังไม่มีการพูดคุยหรือมีมาตรการในการเยียวยาที่ชัดเจน จึงไม่ใช่เรื่องการถอยคนละก้าวอย่างที่นายกรัฐมนตรีอ้าง

ส่วนจะมีผลต่อการชุมนุมของกลุ่มมวลชนเสื้อเหลืองและกลุ่มนักศึกษาที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้หรือไม่นั้น นายสุรชัยกล่าวว่า เราต้องยืนยันหลักการว่า ทุกกลุ่มมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม แต่ต้องไม่ล่วงเกินหรือละเมิดสิทธิผู้อื่นจนเกินสมควร ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิขึ้น รัฐก็มีหน้าที่จัดการ

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว