ขอศาลคุ้มครองชั่วคราว ห้ามใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พร้อมแถลงการณ์ 14 ภาษา ระบุ ใช้กฎหมายเกินขอบเขต ปิดกั้นเสรีภาพ ขัดหลักสากล
วันนี้ (21 ต.ค. 2563) ศุกรียา วรรณายุวัฒน์ พร้อม นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวม 6 คน และเครือข่ายองค์กรกฎหมายสิทธิมนุษยชน 8 องค์กร ร่วมเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จำเลย 1, พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ จำเลยที่ 2 และ พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข จำเลยที่ 3
คำฟ้องระบุว่า การชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร (2563) มีผู้ร่วมชุมนุมส่วนมากเป็นเด็ก เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ไม่มีข้อเท็จจริงปรากฏว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบหรือมีอาวุธ ไม่มีข้อเท็จจริงว่ามีเหตุการณ์จลาจลหรือเป็นภยันตรายที่กระทบต่อชีวิตหรือทรัพย์สินของประชาชนเป็นส่วนรวม
การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่ออกมา แม้จะเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารก็ตาม แต่ฝ่ายบริหารจะต้องใช้ดุลพินิจภายใต้ข้อเท็จจริงและถูกต้อง มิใช่ใช้อำนาจและดุลพินิจได้ตามอำเภอใจ
โดยพฤติการณ์การใช้อำนาจของจำเลยทั้งสาม ได้แก่ การสลายการชุมนุม การประกาศปิดสถานที่หรืออาคารสถานีของระบบขนส่งมวลชนหรืออาคารอื่น ๆ การจับกุมควบคุมตัวประชาชน สื่อมวลชน บุคลากรทางการแพทย์ นักเรียน นิสิตนักศึกษา แบบสุ่มหรือโดยไม่มีเหตุโดยชอบด้วยกฎหมาย การปิดทางสัญจรของประชาชนและของรถพยาบาล การห้ามไม่ให้ใช้วิทยุ โทรคมนาคม โทรศัพท์ เครื่องมือสื่อสาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในการเสนอข่าวสาร ภาพ เสียง หรือข้อเท็จจริงต่าง ๆ การสั่งให้ระงับการออกอากาศหรือการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของสำนักข่าว
ซึ่งการดำเนินการของจำเลยทั้งสาม เป็นการจงใจใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อสกัดกั้นมิให้โจทก์ทั้งหกและประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมุนมโดยสงบและปราศจากอาวุธ รวมทั้งสิทธิในการแสดงความคิดเห็น การเดินทาง การติดต่อสื่อสารและการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร อันเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ ดังกล่าวของโจทก์และประชาชน และมีแนวโน้มจะทวีความเข้มข้นในการจำกัดสิทธิเสรีภาพมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ
โจทก์จึงมายื่นต่อศาลแพ่งเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษา ดังนี้
- ให้เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 และฉบับที่ 2 ลงวันที่ 16 ต.ค. 2563 ซึ่งออกตามความแห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ของจำเลยที่ 1 โดยทันที
- ให้จำเลยเพิกถอนบรรดาประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 1/2563 ที่ 2/2563 ที่ 4/2563 ที่ 6/2563 คำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ที่ 2/2563 ที่ 3/2563 ที่ 6/2563 และประกาศฯ หรือคำสั่งฉบับที่จะออกมาในภายหลังของจำเลยที่ 3 ซึ่งออกมาเพื่อปฏิบัติตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร และข้อกำหนดลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 โดยทันที และห้ามมิให้นำมาตรการคำสั่ง และการกระทำใด ๆ ที่จำเลยที่ 3 สั่งการให้เป็นไปตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร และข้อกำหนดลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 มาใช้กับโจทก์และผู้ชุมนุมอีกต่อไป
พร้อมกันนี้ ยังได้ยื่นร้องขอคุ้มครองชั่วคราวและคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้มีการใช้บังคับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง รวมทั้งประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงห้ามการออกประกาศคำสั่งตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเพิ่มเติมอีกในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล
“คณะจุฬา” แปลแถลงการณ์ 14 ภาษา
เฟซบุ๊ก “คณะจุฬา” เผยแพร่แถลงการณ์ของ “กลุ่มนิสิตและนักศึกษา” ขณะเข้าร่วมกับนักศึกษากลุ่ม TPC Awaken ระบุว่า เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองในกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับ รวมถึงเป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
แต่รัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร เป็นเครื่องมือปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของประชาชนชาวไทยอย่างเกินขอบเขตโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
การสลายการชุมนุมในช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 ต.ค. 2563 โดยไม่ปรากฏเหตุอันตรายร้ายแรง เป็นการกระทําที่ขัดกับหลักการปฏิบัติสากล ส่วนการสลายการชุมนุมในช่วงค่ำของวันที่ 16 ต.ค. 2563 ปรากฏภาพเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งใช้มาตรการที่ไม่ปฏิบัติตามหลักสากล สะท้อนความพยายามใช้อำนาจรัฐตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เพื่อละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเกินขอบเขต โดยไม่เคารพหลักการทางกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศแต่อย่างใด
นิสิตและนักศึกษาทั้ง 6 คน จึงได้เป็นโจทก์ร่วมกันยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการใช้อำนาจทั้งปวงของรัฐบาลตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพมหานครไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาในคดีนี้
ทั้งนี้ ได้มีการแปลแถลงการณ์ดังกล่าว 14 ภาษา เช่น อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส สเปน จีน ลาว ล้านนา กัมพูชา ญี่ปุ่น อิตาลี ฮังการี โปรตุเกส ลู และ Malago