ผญบ.บ้านกลาง แม่เมาะ ยืนยันสิทธิ คนอยู่กับป่า

ถอดบทเรียน “กฎหมายป่าไม้กับการละเมิดสิทธิชุมชน” นักวิชาการ เอ็นจีโอ ชี้ ปัญหาบังคับใช้กฎหมาย ไม่สะท้อนเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสหพันธุ์เกษตรกรภาคเหนือ หรือ สกน. และภาคีเครือข่าย จัดงานสัมมนาหัวข้อ “กฎหมายป่าไม้กับการละเมิดสิทธิชุมชุน คนอยู่กับป่า” เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2563

โดยยกกรณีปัญหาล่าสุด จากการที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ป่าสงวนแห่งชาติ สนธิกำลังเข้ายึดไม้ในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านกลาง หมู่ที่ 5 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง และกล่าวหาชาวบ้าน กระทำผิดพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 เมื่อช่วงวันที่ 9 – 10 ต.ค. ที่ผ่านมา

สมชาติ รักษ์สองพลู ผู้ใหญ่บ้าน บ้านกลาง หมู่ที่ 5 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ยอมรับว่า ยังมีความรู้สึกคับแค้นใจ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น ถือเป็นเหตุการที่สะเทือนใจมากที่สุด แม้เหตุการณ์แบบนี้ จะไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ครั้งนี้ตนเห็นว่าเป็นการคุกคามและละเมิดสิทธิ และสร้างความสะเทือนใจโดยเฉพาะกับกลุ่มเด็กและผู้หญิง ซึ่งเป็นด่านแรกที่เข้าไปเจรจากับเจ้าหน้าที่ ซึ่งปฏิกิริยาที่เจ้าหน้าที่แสดงในวันนั้น เป็นการวางอำนาจ พยายามใช้อำนาจที่คิดว่าเป็นความชอบธรรม เหมือนว่าคนที่นั่นไม่ได้ช่วยรักษาป่าเลย ไม่สนใจบริบทอื่น ๆ อย่างประวัติศาสตร์การฟื้นฟู ว่าชาวบ้านอยู่มาก่อนเขารักษาป่ายังไง ทั้งที่ชุมชนนี้เป็นชุมชนต้นแบบของการจัดการอนุรักษ์ทรัพยากรแบบมีส่วนร่วม มีกฎกติกา มีแผนการจัดการป่า อนุรักษ์อย่างไร ใช้ประโยชน์อย่างเรา จนได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว รวมทั้งยังทำแนวกันไฟป้องกันไฟป่า และเป็นพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ ตามมติ ครม.3 ส.ค. 2553 ในการคุ้มครองและพื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง

ทั้งนี้ เห็นว่าสถานการณ์เช่นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่บ้านกลาง เพียงแต่ไม่ได้เป็นข่าว สิ่งที่เกิดขึ้นวันนั้น พูดตรง ๆ ว่า ถ้ายอมเคลียร์มันก็จบ แต่ตนและชาวบ้านไม่ยอม เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเราเห็นว่าไม่ผิด จึงลุกขึ้นมาต้าน และนั่นมันเป็นการแทงใจอำนาจ และทำให้มีการใช้อำนาจกดให้จำนน วันนี้ผมคิดว่ากรณีบ้านกลางเป็นกรณีหนึ่งที่ลุกขึ้นมาทวงถามสิทธิของตัวเอง ที่จะไม่ยอมจำนนต่ออำนาจ

“วันนี้สิ่งที่บ้านกลางลุกขึ้นมา คือ เราอยากพิสูจน์ให้เห็นว่าการใช้ไม้มันไม่ผิด ปีหนึ่งเราใช้ต้นไม้ 2 ต้น เราใช้เวลา 3-4 เดือน ไปเลื่อย ซอย ตากให้แห้ง แล้วไปสร้างศาลา ถ้าเอาไม้แผ่นเหล่านั้นมารวมกัน บ้านหลังหนึ่งยังไม่ได้เลยครับ ปลัดอาวุโสโทรหาผม ถามว่าทำไมไม่เอาไปทีละแผ่น แบบนี้มันดูเหมือนเยอะมาก เราก็บอกว่าเราใช้มือเลื่อย กว่าจะได้แต่ละแผ่นเราใช้เวลาเป็นเดือน เราใช้แค่สองต้น แต่เราดูแลป่า 2 หมื่นกว่าไร่ ผมขอถามหลังดอยสุเทพ ป่าแหว่ง มันกี่ไร่ มันยุติธรรมไหม”

ด้าน ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ กล่าวว่า ตอนไปต่อสู้ให้แก้ปัญหาคนอยู่กับป่า เขาบอกว่าให้รอ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และยืนยันว่าอยู่ในมาตรา 65 ของ พ.ร.บ.อุทยานฯ แต่หากดูรายละเอียด เขียนว่าพื้นที่ที่อาจอนุญาตให้เก็บหาของป่าได้บางชนิด และการเก็บหาของป่าต้องเป็นไปอย่างปกติธุระ ซึ่งกำลังไปออกกฎกระทรวง ที่เป็นการบอกว่าเอาไปกินได้ จะกำหนดปริมาณว่าเก็บได้เท่าไร เก็บอะไรได้บ้าง

ส่วนเรื่องทำหรือใช้ไม้ไม่ต้องพูดถึง เพราะจะควบคุมชนิด ปริมาณ ระยะเวลา และบุคคลที่จะเข้าไปเก็บได้ ยกตัวอย่างถ้าจะเก็บหน่อไม้ ต้องไปขออนุญาตใบหนึ่ง ถ้าจะเก็บผึ้งต้องไปขออีกใบหนึ่ง แต่มันจำกัดไว้ด้วยคำว่าปกติธุระ ที่ตีความได้ว่าเป็นการบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น คือ ขายไม่ได้ เป็นกองทุนชุมชนหรืออะไรต่าง ๆ ไม่ได้ ผมจึงเชื่อว่าภายในวันที่ 30 พ.ย. 2563 ทางขึ้นบ้านกลาง จะมีด่านสกัดของกรมอุทยานฯ แน่นอน ใครที่จะเข้าไปรับซื้อหน่อ ใครเอาหน่อจะลำบาก ใครจะไปซื้อน้ำผึ้ง หรือชาวบ้านจะหิ้วออกมา โอกาสที่จะเกิดแบบบิลลี่ก็เป็นไปได้ เพราะมันผิดกฎหมายทั้งหมด

ประยงค์ ยังระบุอีกว่า สำหรับการเตรียมประกาศพื้นที่อุทยานฯ ทั้งหมด ไม่มีสิทธิได้ใช้มาตรานี้ เพราะเขียนว่าให้อนุญาตได้ก่อนกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ พื้นที่ที่เตรียมการประกาศประมาณ 20 แห่งไม่มีสิทธิ เป็นการสกัดกั้นการเข้าถึงทรัพยากรของชุมชนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ มติ ครม. 3 ส.ค. และกรณีรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้อำนาจตามมาตรา 26 งดเว้นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญได้ เช่น สิทธิในร่างกายและทรัพย์สิน การเข้าไปในเคหสถานโดยไม่มีหมายศาล

“ผมคิดว่ามีทางเดียว หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ มันเกิดความเคียดแค้น หดหู่ กำลังใจบั่นทอน ทำดีขนาดนี้แล้ว มันใช้อะไรไม่ได้เลยเหรอ มันเป็นความเศร้าใจ สุดท้ายผมคิดว่าการต่อสู้ของพวกเราที่ผ่านมามันไม่สุดหรือเปล่า ผมก็ต้องถามพี่น้องว่า พี่น้องพร้อมให้มันจบที่รุ่นเราไหม เรามาปลดแอกกฎหมายป่าไม้ออกจากชุมชนของพวกเราทุกชุมชน เราจะส่งต่อกฎหมายชั่วร้ายแบบนี้ให้ลูกหลานต่อไปหรือไม่”

พฤ โอโดเชา ตัวแทนบ้านแม่ลานคำ อ.สะเมิงใต้ จ.เชียงใหม่ เห็นว่านายกรัฐมนตรี ต้องใช้อำนาจที่มีอยู่ตาม พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. ในเรื่องการจัดการแก้ไขปัญหาที่ดินให้กับประชาชน สำหรับพื้นที่ชาวบ้านที่อยู่ในเขตป่าสงวนฯ และป่าอนุรักษ์ หรือพื้นที่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำต่าง ๆ ให้ออกคำสั่งมอบให้ชุมชนใช้กฎกติกา กฎระเบียบของชุมชนในพื้นที่ที่ชุมชนกำหนดขอบเขตการจัดการดูแลเอง ทั้งเขตป่า พื้นที่ทำกิน พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่จิตวิญญาณ หรืออื่น ๆ ที่ชุมชนดูแลตามวิถี ชุมชนมีอำนาจในการจัดการตัวเอง เพราะชุมชนพร้อมที่จะดูแลจัดการด้วยกฎจารีตของชุมชนอยู่แล้ว ส่วนที่ชุมชนไม่ได้ดูแลจัดการ ก็ใช้กฎหมายของหน่วยงานไป ก็จะลดการกระทบกระทั่งจากทั้งสองฝ่าย

เขาบอกอีกว่า ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ เรื่องชาติพันธุ์ เรื่องสิทธิชุมชน อยากให้อยู่ในหมวดของสิทธิและเสรีภาพ เพราะถ้าอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐ รัฐก็จะทำก็ได้ หรือไม่ทำก็ได้ ท้ายรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องบอกว่าทั้งนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่อยากให้เป็น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามพื้นที่จริง จะได้สอดคล้องกับความเป็นจริงในพื้นที่ภูมินิเวศวัฒนธรรมนั้น ๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง

“พวกเราสู้มานาน แต่ปัญหาก็ไม่แก้สักที ผมคิดว่าถ้าจะให้แก้ต้องแก้ที่โครงสร้าง คือรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอุทยานฯ ให้เกิดการกระจายอำนาจให้แต่ละท้องถิ่น แต่ละชุมชนสามารถจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่าได้ ให้แต่ละท้องถิ่นมีอำนาจในการกำหนดกฎกติกาของตนเอง อยากให้โครงสร้างใหญ่ ๆ ด้านการจัดการทรัพยากรเปลี่ยนแปลง และอยากให้มีพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ออกมาใช้ควบคู่ เป็นเกราะป้องกัน เพราะตอนนี้กฎหมายที่ใช้ทั่วไปมันละเมิดเรา ในการดำเนินการใด ๆ ของหน่วยงานรัฐ อยากให้คำนึงถึงคนชายขอบ ให้พวกเรามีโอกาสกำหนดทิศทางการพัฒนาและการดำเนินชีวิตด้วย ให้พวกเรามีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย”

ไพสิฐ พานิชกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าจากการที่ตนไล่เรียงตามข่าวบ้านกลางมา พบปัญหาที่สะท้อนโครงสร้างกฎหมายและแนวการทำงานของภาครัฐ เป็นความเห็นจากกฤษฎีกา ว่าหน่วยงานที่มีอำนาจในการดูแลพื้นที่ป่าต่างฝ่ายต่างมีมติ ครม. ของตัวเอง เถียงไปเถียงมา เจ้าหน้าที่ของป่าไม้ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ก็ต่างฝ่ายต่างอ้างกฎหมายตัวเอง และมติ ครม.ตัวเอง ปัญหาที่เกิดขึ้นทางกฎหมายคือแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ไม่เหมือนกัน กฤษฎีกาบอกว่า มีมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ถาวร ค่อนข้างเป็นเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติ เป็นเคสที่เจ้าหน้าที่อ้างมติ ครม. อ้างที่จะเข้าใจเรื่องป่าไม้จริง เขาไม่เข้าใจตัวกฎหมายจริง ๆ แท้ที่จริงต้องมีการตีความมติ ครม. ดังกล่าว เป็นเรื่องนโยบายมากกว่ากฎหมาย จึงสมควรที่กรมป่าไม้จะส่งเรื่องไปที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ตีความ แล้วประมวลเป็นมติ ครม. ขึ้นใหม่

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ