น้ำท่วมปักธงชัย ระลอก 2 โคราชท่วมแล้ว 13 อำเภอ

หลังฝนตกต่อเนื่อง เทียบพื้นที่น้ำท่วมรอบแรก พบ เพิ่มขึ้นกว่า 4 พันไร่ แจ้งเตือนชาวพิมายเตรียมรับมือมวลน้ำจากเขื่อนลำพระเพลิง

วันนี้ (20 ต.ค. 2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ฝนตกต่อเนื่อง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ทำให้เมื่อวันที่ 8 ต.ค. และอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ ประกอบกับเขื่อนลำพระเพลิง และอ่างเก็บน้ำลำสำลาย ได้มีการระบายน้ำออกจากเขื่อน เนื่องจากเกินกว่าปริมาตรความจุของเขื่อน ด้วยเหตุนี้มวลน้ำจำนวนมากจากทั้งสองเขื่อน จึงเอ่อล้นตลิ่งและเข้าท่วมบ้านเรือนในพื้นที่ท้ายเขื่อนซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำอีกระลอก

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้ทำการวิเคราะห์พื้นที่น้ำท่วมขังจากภาพถ่ายดาวเทียมระบบเรดาร์ บันทึกภาพเช้าวันที่ 19 ต.ค. พบว่ามีพื้นที่น้ำท่วมขังแล้วใน 13 อำเภอ รวมทั้งสิ้น 60,564 ไร่

โดยพบมากสุดที่อำเภอปักธงชัย (14,537 ไร่) อำเภอสูงเนิน (6,967 ไร่) อำเภอสีคิ้ว (4,825 ไร่) อำเภอโชคชัย (3,120 ไร่) หากเปรียบเทียบพื้นที่น้ำท่วมกับวันที่ 13 และ 17 ต.ค. พบว่าพื้นที่น้ำท่วมในอำเภอปักธงชัย เพิ่มสูงขึ้นถึง 4,743 ไร่ ทั้งนี้ สามารถติดตามสถานการณ์พื้นที่น้ำขังจากดาวเทียมได้ที่ flood.gistda.or.th

เร่งเสริมแนวป้องกันน้ำท่วมเมืองพิมาย

ด้านผู้ประกอบการร้านค้าในย่านตลาดพิมายเมืองใหม่ เขตเทศบาลตำบลพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เร่งก่ออิฐบล็อกบริเวณหน้าร้าน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม หลังทางจังหวัดฯ แจ้งเตือนภัยให้ชาวพิมายเตรียมรับมือกับมวลน้ำก้อนใหญ่จากเขื่อนลำพระเพลิง อำเภอปักธงชัย ซึ่งน้ำเกินระดับเก็บกักอยู่ที่ร้อยละ 106 ของความจุอ่าง รวมทั้งมวลน้ำจากลำตะคองไหลลงมาสมทบลงลำน้ำมูลและลำน้ำจักราช ซึ่งจะทำให้อำเภอพิมายเสี่ยงถูกน้ำท่วม และอาจจะซ้ำรอยกับน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2553 ชาวบ้านและผู้ประกอบการจึงได้เตรียมความพร้อม

ส่วนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ซึ่งอยู่ติดริมแม่น้ำมูล เจ้าหน้าที่ได้เสริมแนวกระสอบทรายอีก 2,000 ถุง ป้องกันไม่ให้กระแสความแรงของน้ำทะลักเข้าท่วมแหล่งเก็บโบราณวัตถุล้ำค่าทางประวัติศาสตร์

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์