“ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับการเปลี่ยนแปลง จึงต้องระแวดระวังไม่ให้รุนแรง เพราะว่าความรุนแรงทำลายความขัดแย้ง”
วันนี้ (17 ต.ค. 2563) ศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธี ระบุว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและจำเป็นต้องได้รับการปกป้องไม่ให้ถูกทำลายด้วยความรุนแรง
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงที่บานปลาย จึงมีข้อเสนอต่อทั้ง 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมฝูงชน “อย่าทำตามตำรามากเกินไป” เพราะถ้าหากทำตามตำรา จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนนับจากเบาไปหาหนัก ซึ่งแต่ละมาตรการควรให้เวลาฝ่ายผู้ชุมนุม ไม่กดดันจนไม่มีทางเลือก โดยมาตรการฉีดน้ำแรงดันสูง อาจใช้ระดับแรงดันน้ำที่เบาลง ซึ่งมีผลต่อการควบคุมฝูงชนโดยไม่ได้รับบาดเจ็บ
ขณะที่ ฝ่ายผู้ชุมนุม “ต้องทำตามตำราอย่างเคร่งครัด” การรวมตัวที่ประกาศว่าเป็นแฟลชม็อบ ต้องใช้เวลาสั้น ๆ ตามที่ประกาศ ไม่อยู่นาน ปรากฏตัวเพื่อเสนอประเด็น ข้อเรียกร้อง แล้วต้องไม่อยู่นาน ซึ่งจะไม่เป็นเงื่อนไขให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ต้องใช้อำนาจขอคืนพื้นที่
ฝ่ายควบคุมฝูงชน อย่าทำตามตำรามากนัก
ฝ่ายผู้ชุมนุมประท้วง ให้ทำตามตำราอย่างเคร่งครัด
ศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ ยังกล่าวด้วยว่าถึงเวลานี้การใช้สันติวิธียากขึ้น เพราะเรามาถึงช่วงเวลาที่สังคมแบ่งแยกเป็น 2 ฝ่าย ซึ่งไม่มีคำว่าสายเกินไป เพราะว่าทั้งสองฝ่ายก็มีบทเรียน ทั้งเรื่องของการใช้อำนาจสลายการชุมนุม และการใช้ภาษา ท่าทีต่อข้อเรียกร้องที่อ่อนไหวทำร้ายความรู้สึกของคนอีกฝ่ายหนึ่ง
“ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับการเปลี่ยนแปลง จึงต้องระแวดระวังไม่ให้รุนแรง เพราะว่าความรุนแรงทำลายความขัดแย้ง”
ศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ กล่าวพร้อมกับเสนอเพิ่มเติมว่า เพื่อให้ความขัดแย้งดำเนินไปอย่างปลอดภัย ควรสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้พูดคุยประเด็นที่ขัดแย้งกันได้ เช่น มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เปิดพื้นที่ให้แสดงความคิดเห็น ถกเถียง หรือชุมนุมอย่างมีกติกา แทนการออกมาใช้พื้นที่สาธารณะอย่างท้องถนนที่ควบคุบสถานการณ์ยากกว่า