“สันติวิธี คือ การคุยกัน ไม่มีทางอื่น ผมค่อนข้างมั่นใจว่ารัฐไม่มีหนทางอื่นนอกจากเจรจา ต่อให้ปราบจนไม่มีม็อบ ผมเชื่อว่าจะไม่จบ และจะวุ่นวายไปอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ปัญหา คือ ตอนนี้จะเจรจากับใคร”
สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ ที่รู้จักกันในชื่อ “บก.ลายจุด” นักกิจกรรมทางสังคมและการเมือง ให้สัมภาษณ์กับ The Active ก่อนตัดสินใจเป็นผู้นำการชุมนุม บริเวณจุดนัดหมายที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสอโศก ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายจุดที่กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร 2563” ประกาศให้ประชาชนกระจายตัวชุมนุมยังจุดต่าง ๆ
เขาประเมินสถานการณ์ หลังเหตุสลายการชุมนุมแยกปทุมวันเมื่อคืนที่ผ่านมาว่า แม้เจ้าหน้าที่ยังไม่ถึงขั้นใช้กำลังและอาวุธ แต่ถือเป็นการเริ่มใช้ความรุนแรง และเป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐพร้อมที่จะใช้มาตรการที่แข็งกร้าวมากขึ้น
ส่วนปรากฏการณ์หลังการสลายการชุมนุม ที่มีการแสดงออกทางอารมณ์ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ แม้มีความกังวลว่าอาจนำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น แต่ยังเห็นความพยายามจัดการสมดุลจากสองฟากความขัดแย้ง
“ด้านหนึ่งอาจกังวลว่าเป็นความรุนแรง แต่อีกด้าน เป็นการสร้างดุลยภาพบนพื้นที่ความขัดแย้ง คนที่แสดงโพสต์แสดงความเห็น เกินเส้นรับได้ ไม่ว่าจะทางไหน ก็จะถูกปฏิเสธ เรียกว่าทัวร์ลง จนต้องลบความเห็นไป นี่จะกลายเป็นหลักใหม่ ในการหาจุดสมดุล เป็นเส้นมาตรฐานที่ความเห็นต่างจะร่วมกันตีกรอบความรุนแรงไม่ให้เกินขอบเขตที่รับได้”
สมบัติมองว่า ทางออกของความขัดแย้งที่ยึดแนวทางสันติวิธี ไม่มีทางอื่นนอกจากการเจรจา พื้นที่ต่อสู้วันนี้ คือ การต่อสู้ทางความคิด ไม่ใช่การต่อสู้ทางกายภาพ ดังนั้น ผู้ชุมนุมสามารถปรับการเคลื่อนไหวเป็นแบบ “ทอม แอนด์ เจอร์รี่” ให้มีความยืดหยุ่นในรูปแบบแฟลชม็อบ ไม่ยึดติดเวลาและสถานที่ แต่เน้นกระจายตัว แสดงออกและสื่อสารข้อเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาพลังอำนาจการต่อรอง กดดันให้นำไปสู่การรับฟัง และเจรจาให้ได้
“สันติวิธี คือ การคุยกัน ไม่มีทางอื่น ผมค่อนข้างมั่นใจ ว่ารัฐไม่มีหนทางอื่นนอกจากเจรจา ต่อให้ปราบจนไม่มีม็อบ ผมเชื่อว่ามันจะไม่จบ และจะวุ่นวายไปอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ปัญหาคือ ตอนนี้จะเจรจากับใคร เพราะที่ผ่านมา ปัญหาถูกปล่อยให้เดินไปไกลขึ้นเรื่อย ๆ และไม่ได้สร้างกลไกพูดคุยให้เกิดขึ้นได้จริง นี่เป็นความยาก”
“เฉพาะหน้า กลุ่มผู้ชุมนุมต้องรักษาพลังอำนาจต่อรองของเขาไว้ เพื่อกดดัน เปิดทางไปสู่การยอมฟังข้อเสนอ และสร้างกลไกพูดคุย ถ้านายกรัฐมนตรีไม่ลาออก ต้องปล่อยแกนนำก่อน”
นักเคลื่อนไหวทางการเมืองยังเห็นว่า ที่ผ่านมากลไกสภา ไม่มีอำนาจทางการเมืองเพราะเสียงไม่มากพอ จึงเรียกร้องให้สถาบันวิชาการ ภาคเอกชน และองค์กรวิชาชีพ ออกมาแสดงท่าที ส่งสัญญาณไปถึงรัฐบาลและฝ่ายการเมือง ให้เร่งแก้ปัญหาโดยเร็ว
ขณะเดียวกัน ต้องเร่งสร้างวัฒนธรรมการพูดคุยในเรื่องอ่อนไหว เพื่อให้ทุกฝ่าย กลับมาตั้งต้นที่ประเด็นเนื้อหา ไม่นำไปสู่ความขัดแย้งเกลียดชัง
“ผมมั่นใจว่าข้อเรียกร้อง อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เส้นชัดมาก แต่เป็นช่องว่างของการสื่อสารความเข้าใจที่ล้มเหลว พอมีเรื่องอ่อนไหว ควรพูดคุยกันด้วยความระมัดระวัง รักษาท่าที และบรรยากาศ แต่การห้ามพูดเลย สุดท้ายจะหลงลืมเนื้อหา นำไปสู่ความขัดแย้ง เกลียดชัง”