คนกรุงฯ นับถอยหลัง เตรียมรับมือฝุ่น PM 2.5 ปลายปี

นักวิชาการ ระบุ ข้อมูลพยากรณ์อากาศ ตั้งแต่ พ.ย. 63 – ม.ค. 64 อุณหภูมิต่ำลง ส่งผลต่อการลอยตัวของฝุ่น แนะ รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาตามมาตรการแผนชาติ

รศ.วิษณุ อรรถวานิช ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร กล่าวว่า ปลายปี 2563 นี้ กรุงเทพมหานครและภาคกลาง มีปัจจัยบ่งชี้ว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือฝุ่น PM 2.5 จะมีปริมาณสะสมมากกว่าช่วงต้นปี

รศ.วิษณุ อรรถวานิช

มีการคาดการณณ์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียว่า ระหว่างเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับช่วงฤดูฝุ่นของกรุงเทพฯ ช่วงนี้ อุณหภูมิจะลดลงต่ำลงกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งจะส่งผลให้อากาศหนาวเย็น ส่วนปริมาณน้ำฝน มีการคาดการณ์ว่าฝนจะตกประมาณค่าเฉลี่ยหรือต่ำกว่า ส่งผลให้อากาศแห้ง ฝนน้อย เกิดการก่อตัวของฝุ่นได้เป็นอย่างดี ขณะที่ทิศทางลมช่วงเดือนธันวาคม – มกราคม  ลมที่พัดผ่านกรุงเทพฯ เป็นลมตะวันออก ที่พัดพาฝุ่นจากการเผาในภาคกลางและประเทศกัมพูชา

“เราสามารถหาปัจจัยที่กำหนดความเข้มข้นของฝุ่นจากอากาศ อุณหภูมิ ทิศทางลม ความชื้นสัมพัทธ์ ปริมาณน้ำฝน  หากช่วงไหนอุณหภูมิสูง ๆ  อากาศร้อน ฝุ่นจะน้อย เพราะลอยตัวไปข้างบนได้ แต่ถ้าช่วงไหนอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำ ๆ อากาศจะกดฝุ่นไว้ไม่ให้ลอยขึ้นไป  ดังนั้น ถ้าปริมาณฝุ่นเท่าเดิม แต่เรามีพื้นที่ให้อยู่น้อยลง แคบลง ความเข้มข้นของเขาจึงมากขึ้น”

ข้อมูลจากคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการเกษตร ณ วันที่ 25 มิ.ย. 2563  พบว่า พื้นที่เก็บเกี่ยวอ้อย ข้าวนาปรัง ข้าวนาปี  เพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากปีนี้ปริมาณน้ำฝนดีกว่าปีที่แล้ว การขยายพื้นที่เพาะปลูกจึงเพิ่มขึ้น และคาดว่าการเผาก็จะเพิ่มขึ้นและส่งผลต่อการสะสมของปริมาณฝุ่นในช่วงนี้เช่นกัน

“รัฐบาลต้องควบคุมการเผาในพื้นที่อ้อยและข้าว ปีที่แล้วมีการเจรจาต่อรองการเผาอ้อยจาก 30 % เป็น 50% ปีนี้ ตามแผนต้องลดเหลือ 20 % จะมีการเจรจา ต่อรองอีกไหม รัฐจริงจังกับการลดตามโรดแมปแค่ไหน ถ้าทำได้ก็จะลดได้ ”

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ในกรุงเทพฯ มาจากแหล่งการขนส่งทางบกมากที่สุด ถึงร้อยละ 72.5  มาจากรถบรรทุกมากที่สุด ซึ่งมีจำนวน 144,630 คัน ขณะที่รถดีเซล 99,652 คัน อุตสาหกรรม ร้อยละ 17 ภาคการเกษตรร้อยละ 5 และอื่น ๆ นักวิชาการจึงแนะว่าการควบคุมการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิด เป็นสิ่งที่รัฐบาลควบคุมได้ แต่ควรเพิ่มมาตรการให้เข้มข้นขึ้น  เช่น ตรวจสอบควันดำมากกว่าเดิม ตรวจทั้งกลางวันและกลางคืน เพราะสถิติการเกิดฝุ่นสะสมในช่วงกลางคืนเช่นเดียวกัน เข้มงวดการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี ปรับมาตรฐานไอเสีย มาตรฐานน้ำมันยูโร 5 ซึ่งมีอยู่แล้วในแผนปฏิบัติการวาระชาติ “แก้ไขปัญหาด้านฝุ่นละออง” ในปี 2567  หากทำให้ได้ตามแผนที่วางไว้ การลดความรุนแรงของฝุ่นในช่วงฤดูฝุ่นก็จะเบาบางลง

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส