หนุนเปิดประเทศ​ ใช้มาตรการ​ทางนโยบาย​ฟื้นเศรษฐ​กิจ​ชุมชน

‘ดร.สีลาภรณ์’ จัดทำผังวิเคราะห์เส้นทางผลกระทบโควิด-19 หาทางออกตรงจุด​ มองทิศทางพัฒนาประเทศหลังวิกฤต ต้องสร้างภูมิคุ้มกัน ไม่ทิ้งภาคเกษตร กระจายความเสี่ยงหาแหล่งรายได้หลายทาง

ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย​ คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ​ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ประมวลผลกระทบโควิด-19 ในประเทศไทยจากมุมมององค์กรระหว่างประเทศ ระบุว่า วิกฤตโควิด-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจในขณะนี้ไม่ใช่วิกฤตในภาคการเงินเหมือนวิกฤต​ต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 แต่เป็นวิกฤตที่กระทบโดยตรงไปสู่ภาคการผลิต ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการจ้างงาน ส่วนหนึ่งของวิกฤตที่เกิดเกิดจากการตกใจเกิน หรือ​ over​ panic/over​ react

การลดชั่วโมง​จ้างงานส่งผลกระทบโดยส่งผลไปถึงรายได้ของครัวเรือนที่ลดลง​ และเชื่อมต่อไปถึงสังคมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความยากจน การศึกษา อาหาร​ รวมไปถึงปัญหาความรุนแรงและการละเมิดสิทธิ ซึ่งหากจะแก้ปัญหาส่วนนี้ ก็คงจะต้องแก้ด้วยการเปิดเมืองและป้องกันโรคระบาด​ บนฐานของความรู้​ ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

มาตรการ 4 ด้าน ที่ต้องดำเนินการคือ 1. มาตรการด้านสาธารณสุข​ ซึ่งประเทศไทยมีจุดแข็งด้านนี้อยู่แล้ว 2.​ มาตรการทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลดำเนินการทั้งในเรื่องของสินเชื่อ เงินชดเชย​ การเลื่อนจ่ายภาษี การออกข้อบังคับอย่างรอบคอบ จะต้องพุ่งตรงไปสู่กับการเพิ่มการจ้างงานให้ได้มากที่สุด​ 3. มาตรการด้านสังคม ที่จะคุ้มครองกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ คนจนเมือง​ กลุ่มผู้พิการ​ กลุ่มผู้สูงอายุ​ และ 4.​ มาตรการทางนโยบายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น​ การออกนโยบายให้ข้าราชการ​ใส่ผ้าไทย​ เพื่อให้เกิดความต้องการซื้อผ้าจากในท้องถิ่นมาใช้​ หรือการส่งเสริมการใช้วัสดุอุปกรณ์จากในท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในชุมชนก็จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงนโยบายโดยไม่ต้องใช้เงิน

อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้กู้เงินมาเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ถึง 57% ซึ่งเกือบจะเต็มวงเงินกู้ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญคือ 60% ขณะที่การคาดการณ์ของ GDP ปี​ 2563​ ติดลบไปถึง 8% ซึ่งไม่อยากให้ไปซึ่งไม่อยากให้ตื่นตกใจ​ เพราะตัวเลข GDP เป็นเสมือนเป็นเหมือนกระจกที่สะท้อนภาวะการณ์​ ซึ่งหากเราสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ตัวเลข GDP ก็จะกลับมาดีขึ้น

“อย่างไรก็ตามโควิด ให้บทเรียนว่า ไม่ควรมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ​ไปในแบบล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะในที่สุดหลังพิงในช่วงเวลาวิกฤต​ คือภาคการเกษตร”

4​ เสาหลัก​ ทิศทางการฟื้นฟู​

สำหรับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจหลังจากนี้ ควรมุ่งไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน​ แบ่งเป็น 4 ระยะ​ 4​ เสาหลักการฟื้นฟู​ ระยะสั้น​ เสาหลักแรก​ คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจ​เร่งด่วน​ ยกเลิกการปิดประเทศด้วยความรู้และเตรียมความพร้อม​ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก​ และใช้จ่ายภาครัฐอย่างชาญฉลาด

เสาหลัก​ ระยะที่ 2 ช่วยพยุงธุรกิจเพื่อการจ้างงาน แบบตรงเป้ากับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจริง ๆ เช่นท่องเที่ยว สายการบิน​ ร้านอาหารที่ต้องการสภาพคล่อง และออกมาตรการเพื่อรักษาระดับการจ้างงาน เสาหลักระยะที่​ 3​ มาตรการคุ้มครองทางสังคมต่อกลุ่มเปราะบาง​ คนตกงาน แรงงานนอกระบบ ต้องล็อกเป้าและทำระบบข้อมูลให้ชัด

เสาหลัก​ ระยะที่ 4 สมดุลระหว่างความเติบโตทางเศรษฐกิจ​และภูมิคุ้มกัน ล้มแล้วต้องลุกให้ไว หลังจากนี้ต้องคิดถึงการกระจายความเสี่ยง ต้องมีแหล่งรายได้จากหลายทาง​ กระจายศูนย์กลางความเจริญ มุ่งเน้นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active