6.4 แสนคน​ เตรียมเปลี่ยนอาชีพ

TDRI เปิดทางเลือกภาคเกษตร แปรรูปอาหาร​ พาร์ทไทม์ ฟรีแลนซ์ จี้ รัฐเร่งออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบ รองรับแรงงานออกจากงานประจำ

ยงยุทธ​ แฉล้มวงษ์​ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ​ เปิดเผยว่า ในจำนวนผู้มีงานทำปี 2563 ไตรมาส 2 จำนวน 37.7 ล้านคน เป็นผู้ทำงานประจำ 2.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนถึง 47.9%

หลังจากเริ่มมีการระบาดของโควิด-19 ผ่านมา​ 6​ เดือนพบว่ามีผู้ว่างงานในไตรมาส 2 ของปี 63 เพิ่มขึ้น 7.4 แสนคนคิด​ เป็นอัตราว่างงาน 2% ปัญหาการว่างงานจะรุนแรงหรือไม่​ ในไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้ ขึ้นอยู่กับนโยบายความมั่นคงทางสุขภาพ​ ซึ่งดูแลโดย​ ศบค.​ ชั่งน้ำหนักนโยบายทางเศรษฐกิจ​ ถ้ายังให้น้ำหนักกับความมั่นคงทางสุขภาพอันเนื่องมาจากการระบาดมากเกินไป​ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศและลามต่อไปยังตลาดแรงงานให้สามารถฟื้นตัวได้ช้าลง

ข้อควรห่วงใย คือ​ ผู้ที่มีงานประจำแต่ไม่ได้ทำงาน ซึ่งถือว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงตกงานมากที่สุดมีจำนวนถึง 2.52 ล้านคน และเมื่อรวมกับผู้ว่างงานจริงในไตรมาส 2 อีก 7.4 แสนคน คนรวมเป็น 3.26 ล้านคน​ เป็นผู้อยู่ในข่ายว่างงานจำนวนสูงสุดที่เป็นไปได้ คิดเป็น 8.5 % ของกำลังแรงงานซึ่งตัวเลขวิกฤตว่างงานนี้ สูงกว่าช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ​ต้มยำกุ้งปี 2540

ผู้มีงานประจำแต่ไม่ได้ทำงานคือใคร?

เพิก​ ปะติตังโค พนักงานโรงแรม​แห่งหนึ่งในเมืองพัทยา​ จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า นักท่องเที่ยวที่หายไปจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้นายจ้างลดจำนวนวันทำงานลง พร้อมกับการหักเงินเดือนออกไปอีก 50% อย่างไรก็ตามหลังรัฐบาลปลดล็อก​กิจการ​ ก็ยังไม่ดีขึ้น​ จำนวนนักท่องเที่ยวไทยยังไม่มากพอ​ ที่จะทำให้โรงแรมหายจากการขาดสภาพคล่อง

“พนักงานประจำที่ยังอยู่โดนนายจ้างบีบออก ด้วยการลดเงินเดือน ซึ่งก็มีความหวังว่าจะให้นายจ้างเลิกจ้างอย่างถูกกฎหมาย เพื่อจะได้นำเงินก้อนไปเริ่มต้นชีวิตใหม่​ กลับบ้านทำไร่ไถนา แต่นายจ้างก็ไม่ยอมเลิกจ้าง ปัจจุบันจึงต้องเปลี่ยนต้องทำอาชีพเสริมด้วยการขับ Grab Bike แทน”

ขณะที่​ ธนายุทธ​ บัวลอย​​ พนักงานเสิร์ฟโรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองพัทยา​ จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า​ ได้รับผลกระทบเดียวกัน คือ นายจ้างไม่ยอมจ้างออก​ แต่ลดเงินเดือน 50% ซึ่งเงินไม่พอใช้​ ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งผ่อนบ้านผ่อนรถจำนวนมาก​

“ปัจจุบันหันมาขับ Grab Bike ซึ่งก็ต้องทำงานทั้งวัน​ ทั้งคืน​ ต้องวิ่งได้กว่า​ 20​ เที่ยว​ ถึงได้วันละ 700 บาท​ อดหลับอดนอน​ การรับส่งอาหารแบบนี้ก็ไม่มีสวัสดิการคุ้มครองอะไร หากจะให้กลับไปบ้านเพื่อทำเกษตร​ก็ไม่มีที่ทาง​ ไม่มีทักษะความรู้​ จึงคิดว่าทนอยู่ไปในเมืองรอให้สถานการณ์ดีขึ้น น่าจะมีโอกาสได้งานทำ​ แม้จะเป็นงานรับจ้างเป็นครั้ง ๆ ก็ยังดีกว่า”

แรงงานภาคบริการเสี่ยงตกงานสุด​ ต้องเปลี่ยนอาชีพ

ดร.ยงยุทธ​ ระบุว่า อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ภาคบริการที่มีจำนวนแรงงานมากถึง 19 ล้านคน​ ในไตรมาส​ 2 พบว่ามีจำนวนแรงงานในภาคบริการลดลง​ 1.80% หรือ 3.4 แสนคน​ ซึ่งถือว่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคธุรกิจ​อื่นๆ

หากดูตามภาพรวมของตลาดแรงงานมหาภาคซึ่งมีการจ้างงาน 37.03 ล้านคน​ ตลาดแรงงานอยู่ท่ามกลางมรสุมของการระบาดโควิด-19 ภาคการเกษตร​ ภาคอุตสาหกรรม​ แลภาคบริการ​ มีการจ้างงานมากที่สุดได้รับผลกระทบ​หนักทำให้ให่การจ้างงานที่หายไปเทียบ YoY หรือการเทียบไตรมาสนี้ กับไตรมาสเดียวกัน ของปีที่แล้ว มีจำนวน 648,790 คน ที่จะต้องเปลี่ยนอาชีพ

เมื่อประเมินความเป็นไปได้ หากมีแรงงานหลุดออกมานอกระบบ ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ​จากโควิด-19 จะมีทางเลือกหลัก​ 2​ ทาง​ คือ​ 1.​ กลับไปสู่การภาคการเกษตรและการแปรรูปอาหาร​ และ 2. คือเป็น Freelance รับจ้างพาร์ทไทม์

“ตัวอย่างของการบินไทยเห็นได้ชัด​ เป็นธุรกิจภาคบริการที่จะรับผลกระทบจากการระบาดของ โควิด-19 ที่ไม่สามารถขึ้นบินได้​ ทุกวันนี้บริษัทในยุคแผนฟื้นฟู​ ต้องปรับตัวด้วยการขายตั้งแต่ ปาท่องโก๋​ สังขยา​ เปิดภัตตาคารอาหาร​ ซึ่งนับว่าเป็นการปรับตัวจากสายบริการมาเป็นการแปรรูปอาหารเพื่อความอยู่รอด”

ดร.ยงยุทธ​ กล่าวอีกว่า​ แนวโน้มการจ้างงานในอนาคต จะไม่มีแบบพนักงานประจำ แต่จะเป็นลักษณะการจ้างงานเป็นครั้ง​ เช่น ฟรีแลนซ์ หรือจ้างงานเป็น​กะ​ หรือ​ พาร์ทไทม์​ ซึ่งนับเป็นแรงงานนอกระบบที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมดูแลอย่างจริงจัง

“ขอให้ทางกระทรวงแรงงานโดยคณะกรรมการค่าจ้าง ได้ออกประกาศอัตราค่าจ้างเป็นรายชั่วโมงทำนองเดียวกันกับ​ นิสิต​ นักเรียน​ นักศึกษา​ เช่น วันละไม่ต่ำกว่า 55 บาทต่อชั่วโมง​ ค่าจ้างเมื่อคิดเป็นวันจะต้องไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ​ โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับอัตราค่าจ้าง​ เงื่อนไขการทำงาน​ ลักษณะงานที่ทำได้​ เช่น​ ต้องไม่ใช่อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่​ เป็นต้น​ การดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์​ ถ้า​ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานดูแลไม่ถึง​ เป็นต้น”

ในส่วนภาคการเกษตร​ ที่จะมีคนว่างงานเปลี่ยนอาชีพไปทำมากขึ้น รัฐบาลควรต้องให้ความรู้และส่งเสริมด้านการตลาด​ ผลักดัน​ราคาสินค้าเกษตร ส่งเสริมการแปรรูปอาหาร​ การส่งออก​ ให้เพิ่มมากขึ้น

“จริง ๆ แล้ว วิกฤต​ว่างงานจะต้องเกิดขึ้น​ แต่จะไม่รวดเร็ว​ และรุนแรงอย่างเช่นทุกวันนี้​ หากไม่เกิดการระบาดของโควิด-19 เพราะความต้องการแรงงานลดลงจากเทคโนโลยีดิสรัปชัน การระบาดของโควิด-19 ทำให้วิกฤต​คูณ 2 ขึ้นไปอีก จากที่จะต้องมีคนตกงานอยู่แล้ว​ ก็ต้องตกงานเร็วขึ้นจำนวนมากขึ้น”

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS