เปิดผลสำรวจ พบ มาตรการจำกัดใช้ “ไกลโฟเซต” หละหลวม

เครือข่ายสนับสนุนยกเลิกสารเคมีเกษตร เรียกร้องทบทวนแบน ด้าน “มนัญญา” ลั่น บริษัทนำเข้าสารต้องรับผิดชอบ หากไม่กำชับให้ปฏิบัติตามมาตรการ

เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2563 ที่ประชุม คณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ ภายใต้ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมกับเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN นำเสนอผลสำรวจมาตรการจำกัดการใช้สารไกลโฟเซต ใน 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ มหาสารคาม ยโสธร ชัยภูมิ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และสงขลา ระหว่างเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2563

จากการสำรวจร้านค้าสารเคมี ที่มีการจำหน่ายสารไกลโฟเซตจำนวน 51 ร้าน มีร้านค้าที่สามารถปฏิบัติได้ครบตามมาตรการ 7 ร้าน คิดเป็น 13.7% เช่น การจัดวางไกลโฟเซตแยกจากสารชนิดอื่น, มีการติดป้าย “วัตถุอันตรายที่จำกัดการใช้”, มีการแสดงเอกสารใบอนุญาตจำหน่ายวัตถุอันตรายที่จำกัดการใช้, มีผู้ควบคุมการจำหน่ายประจำร้านพร้อมแสดงใบอนุญาต, มีการขอให้ผู้ซื้อแสดงหลักฐานผ่านการอบรม และมีการบันทึกข้อมูลไกลโฟเซตที่จำหน่ายเพื่อแจ้งแก่กรมวิชาการเกษตร

ส่วนการสัมภาษณ์เกษตรกร 60 คน มีเกษตรกรที่ยังคงใช้ไกลโฟเซตจำนวน 28 คน โดยเกษตรที่สามารถปฏิบัติได้ครบตามมาตรการทั้งหมดมีเพียง 5 คน หรือคิดเป็น 17.9%

และกรณีสัมภาษณ์ผู้รับจ้างพ่น 50 คน มีผู้รับจ้างพ่นที่สามารถปฏิบัติครบตามมาตรการ 1 คน ขณะที่รายละเอียดการปฏิบัติเป็นรายมาตรการ เป็นผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้รับจ้างพ่น 16 คน, ใช้ไกลโฟเซตที่เกษตรกรจัดหาให้ 41 คน, ใส่อุปกรณ์ป้องกันตัวครบตามกำหนด 10 คน, กรณีที่มีลูกจ้าง ลูกจ้างผ่านการอบรม 5 จาก 19 คน, ฉีดพ่นในพืชที่กำหนด 27 คน และบันทึกรายละเอียดเพื่อแจ้งกรมวิชาการเกษตร 6 คน

เครือข่ายฯ เห็นว่าผลสำรวจนี้สะท้อนชัด ว่ายังไม่สามารถดำเนินการได้จริงในทางปฏิบัติ ดังนั้น คณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ ใน คอบช. และเครือข่ายฯ จึงมีข้อเสนอ ต่อหน่วยงานของรัฐ โดยขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการกวดขันเพื่อให้มีการจำกัดการใช้ไกลโฟเซตเป็นไปตามกฎหมาย เนื่องจากสารเคมีกำจัดวัชพืชนี้เป็นสารก่อมะเร็ง ที่บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายต้องจ่ายค่าไกล่เกลี่ยคดีมากกว่าสามแสนล้านบาทแก่ผู้ฟ้องคดีชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิ้ง

“หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาปรับระดับการควบคุมไกลโฟเซตเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 เพื่อปกป้องสุขภาพของเกษตรกร ชุมชน ผู้บริโภค และป้องกันปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”

ด้าน มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ย้ำว่า ตนยืนยันมาตลอดให้ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ซึ่งรวมถึงไกลโฟเซต แต่การจะยกเลิกขึ้นอยู่กับคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อยังไม่มีการยกเลิกใช้สารไกลโฟเซต ก็ต้องเข้มงวดในมาตรการจำกัดการใช้มากขึ้น ซึ่งตนเห็นว่า ไม่ใช่แค่เกษตรกร หรือร้านค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการนี้ บริษัทผู้นำเข้าและจำหน่ายต้องรับผิดชอบต่อมาตรการนี้ด้วย พร้อมสั่งการกรมวิชาการเกษตร ดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการจำกัดการใช้อย่างเข้มงวดมากขึ้น หากพบร้านจำหน่ายสารเคมีไม่ปฏิบัติตามมาตรการจำกัดการใช้ ต้องตรวจสอบย้อนกลับว่ารับมาจากบริษัทใด ต้องแบนบริษัทนั้น ซึ่งมีผลต่อการพิจารณาขออนุญาตนำเข้าสารเคมีเกษตรต่อไป

“ไม่ใช่บริษัทขายสารเคมีเกษตร จะรับแต่กำไรอย่างเดียว ขายแล้วปัดความรับผิดชอบ ซึ่งจริง ๆ ถ้าร้านค้าตัวแทนเอาไปขายให้กับเกษตรกร โดยไม่เป็นไปตามมาตรการจำกัดการใช้ ขายให้เกษตรกรที่ไม่ผ่านการอบรม คุณต้องรับผิดชอบ ต้องถูกแบนไม่ให้มีการนำเข้าด้วย”

รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังระบุอีกว่า การดำเนินการจำกัดการใช้ต้องควบคู่ไปกับหลักปฏิบัติ ร่างประกาศกำหนดให้สถานที่ผลิตวัตถุอันตรายต้องได้รับการรับรองระบบมาตรฐานบริหารคุณภาพ ISO 9001 การได้รับการรับรองระบบมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 และมีห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO ด้านการวิเคราะห์วัตถุอันตราย จากสถาบันการตรวจรับรองมาตรฐาน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้นำเข้ามีส่วนรับผิดชอบมากขึ้น

“สารเคมีที่ถูกจำกัดการใช้ ต้องมี ISO มีข้อปฏิบัติกฎหมายในตัวของมันเอง จะทำให้การดำเนินการง่ายขึ้น มีคิวอาร์โค้ด ตรวจสอบได้ง่าย ถ้ามี ISO จะทำให้รู้ทันทีใครคือผู้นำเข้า ผู้ขาย ขายให้ใคร ใครเป็นผู้ซื้อ มันจะตรวจสอบได้ง่าย ถ้ายังไม่มีมันหาต้นตอยาก”

นอกจากนี้ ยังระบุถึงเหตุผลที่มีการเปิดให้นำเข้าสารไกลโฟเซต จากเดิมที่ระงับห้ามนำเข้า เนื่องจากสารดังกล่าวยังเป็นสารที่ให้จำกัดการใช้ หากไม่เปิดให้นำเข้า กรมวิชาการเกษตรก็จะมีความผิด แต่ขอยืนยันว่า ไม่มีการกำหนดโควตา การไปแอบอ้างว่าเป็นโควตารัฐมนตรี ใครจะขายมีโควตานั้น เรื่องนี้ยืนยันไม่จริง เพราะเรื่องนี้กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้พิจารณาวิเคราะห์ตามหลักเกณฑ์ ตนทำหน้าที่ในการกลั่นกรองเท่านั้น ซึ่งการนำเข้าจะต้องสอดคล้องกับปริมาณความจำเป็นในการใช้ ย้ำว่า จำนวนนำเข้าจะน้อยลงจากปี 2562 แน่นอน เพราะการใช้ลดลง

ส่วนกรณีสารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ที่ยกระดับเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 คือให้ยกเลิกการใช้แล้วนั้น หากพบว่าร้านค้ายังมีการจำหน่ายให้เกษตรกร เท่ากับว่าเป็นการลักลอบขายและนำเข้า เพราะระงับการนำเข้าก่อนจะมีการแบนเกือบ 2 ปี ซึ่งสารนี้น่าจะหมดไปแล้ว แต่หากตรวจสอบพบการลักลอบขาย ตรวจย้อนกลับว่าเป็นของบริษัทใดลักลอบนำเข้า จะถูกดำเนินตามกฎหมายอยู่แล้ว และแน่นอนมีผลต่อการแบนบริษัท หรือการพิจารณาขออนุญาตนำเข้าสารเคมีเกษตรเช่นกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ