ให้ทุนภาคประชาสังคม เคลื่อนนวัตกรรมการเรียนรู้ นำร่อง 400 โรงเรียน ตั้งเป้า 4 ปี เด็ก 20,000 คน เข้าถึงการศึกษาคุณภาพใกล้บ้าน
วันนี้ (5 ส.ค. 2563) ในงานเปิดตัวโครงการพัฒนาโมเดลโรงเรียนขนาดเล็ก “ส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา (ACCESS School) : ชุมชนสร้างโรงเรียน โรงเรียนสร้างชุมชน” ที่เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมด้านการศึกษา จัดขึ้นที่โรงแรมคอนราด กรุงเทพมหานคร
‘เปียร์ก้า ตาปิโอลา’ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ได้เปิดโครงการและบรรยายพิเศษ หัวข้อ “นโยบายของสหภาพยุโรปในการสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาของประเทศสมาชิกและนานาประเทศ” ที่สหภาพยุโรป หรือ EU ตั้งใจสนับสนุนให้เกิดการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย ด้วยการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน
‘เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย’ กล่าวว่า EU มีวิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาการศึกษาของประเทศสมาชิก ที่ผ่านมาในระดับนานาชาติมีการประกาศนโยบายการพัฒนาการศึกษาไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังมาอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อมีการประเมินกลับพบว่า ยังห่างไกลคำว่าสมบูรณ์แบบ เช่น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหัสวรรษ หรือ SDGs ด้านที่ 4 เรื่องการศึกษาที่มีคุณภาพ
ประเทศไทย เป็น 1 ในประเทศสมาชิกที่ EU มีโครงการส่งเสริมด้านการศึกษา โดยมีเป้าหมายตั้งแต่การสร้างรากฐานที่ดีในระดับปฐมวัยถึงอุดมศึกษา การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่ให้ทักษะใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริง การเข้าถึงการศึกษาที่เสมอภาคไม่ว่าจะมีข้อจำกัดใด ๆ ในชีวิต โรงเรียนต้องมีโครงสร้างสำหรับให้การบริการขั้นพื้นฐานได้ และการปกป้องคุ้มครองกลุ่มเปราะบางให้ได้รับการศึกษาถึงระดับอุดมศึกษา
ภายในงาน ‘เปียร์ก้า ตาปิโอลา’ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ประกาศให้ทุน 27 ล้านบาท สนับสนุนเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมด้านการศึกษาและชุมชนในประเทศไทย ได้แก่ มูลนิธิแอ็คชั่นเอด อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย), สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย (สกล.), สมาคมไทบ้าน ที่ทำงานร่วมกับเครือข่ายโรงเรียนนอกกะลา-ภาคกลาง, สมาคมผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก สพป.น่าน เขต 1 และสมาคมพัฒนาการศึกษาจังหวัดกาฬสินธุ์ และสมาคมพัฒนาการศึกษาจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อดำเนินงานพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน ให้เกิดนวัตกรรมการศึกษาสำหรับเด็กและชุมชน ภายใต้โครงการ ACCESS School “แอ็คเซส สคูล : ชุมชนสร้างโรงเรียน โรงเรียนสร้างชุมชน” ที่มีเป้าหมายนำร่องใน 400 โรงเรียน 8 จังหวัด คือ ราชบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม น่าน ในระยะเวลา 4 ปี (2563-2566)
สำหรับโครงการ “แอ็คเซส สคูล : ชุมชนสร้างโรงเรียน โรงเรียนสร้างชุมชน” ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2563 โดยเป็นการพัฒนาโมเดลโรงเรียนขนาดเล็กกระจายอำนาจทางการศึกษา ที่มีกลไกการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ตั้งแต่องค์กรภาคประชาสังคม ภาครัฐ ภาคเอกชน บริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ชนบท ซึ่งตั้งใจจะทำให้เกิดพื้นที่การเป็นเจ้าของร่วมเรื่องการจัดการศึกษาของคนในชุมชน กำหนดเป้าหมายภายในระยะ 4 ปี เด็กในชุมชนชนบท 20,000 คน ต้องเข้าถึงการศึกษาใกล้บ้านที่มีคุณภาพในราคาที่สามารถจ่ายได้