กรมอุทยานฯ เตรียมประสานเมียนมาขึ้นทะเบียนเชื่อมผืนป่ารอยต่อเป็นมรดกโลก หลังพบเสือโคร่งข้ามพรมแดน
วันนี้ (29 ก.ค. 2563) ‘พงศ์บุณย์ ปองทอง’ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงานวันเสือโคร่งโลก ประจำปี 2563 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ป่าไทยไม่ไร้เสือ – Roar for Thai Tigers” หลังพบประชากรเสือโคร่งในประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผืนป่าตะวันตก
จากผลการศึกษาขนาดพื้นที่อาศัยของเสือโคร่ง ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และนักวิจัยด้วยการติดปลอกคอวิทยุ พบเสือโคร่งจากเดิมที่มีการสำรวจในปี 2548-2550 ที่ 50 ตัว เพิ่มขึ้นเป็น 100-160 ตัว ในปัจจุบัน และคาดว่าหากจัดการฟื้นฟูได้อย่างเข้มข้น ต่อเนื่อง จะสามาถเพิ่มขึ้นได้ถึง 300 ตัว หรือประมาณ 3 เท่า
ปัจจุบันไทยใช้รูปแบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ส่งผลให้ค้นพบเสือโคร่งซึ่งมีอาณาเขตเป็นพื้นที่ป่ารอยต่อกับบริเวณทะยินทะยี ของประเทศเมียนมา ทำให้รวมผืนป่าทั้งหมดเป็นพื้นที่กว่า 40,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งในเชิงการอนุรักษ์สัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์อย่างเสือโคร่ง ถือเป็นพื้นที่เป้าหมายของนักอนุรักษ์และนักวิจัยในระดับโลก
ด้าน ‘ประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล’ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่า ทางกรมได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการผสานความร่วมมือกับทางการเมียนมา เชื่อมผืนป่าระหว่าง 2 ประเทศภายใต้การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกระดับอาเซียน และมรดกโลกทางธรรมชาติ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เป้าหมายในการเพิ่มประชากรเสือโคร่ง 2 เท่า เกิดขึ้นได้ทันตามปฏิญญาที่ลงนามไว้ภายในปี 2565 เนื่องจากปีนี้ไทยเองมีความคืบหน้าไปเกือบ 50 % แล้ว
กิจกรรมวันเสือโคร่งโลก จัดพร้อมกันในวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี มีกิจกรรมเสวนา และส่วนนิทรรศการ “หัวใจแห่งการอนุรักษ์เสือโคร่ง” โดยมีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมให้ทั้งโลกได้มีการปกป้องที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของเสือโคร่ง จากภัยธรรมชาติ และการคุกคามของมนุษย์ ที่คาดว่าทั้งโลกเหลืออยู่ประมาณ 3,200 ตัว โดยมีตัวแทนจาก 13 ประเทศ ที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งทั่วโลก ได้ลงปฏิญญาจะฟื้นฟูเสือโคร่งให้ได้ 2 เท่า ในปี 2565