“จอบเปลี่ยนน่าน”

แก้ปัญหาภูเขาหัวโล้น ดินถล่ม ฟื้นต้นน้ำ สร้างแหล่งอาหาร ด้วยศาสตร์พระราชา

‘วิวัฒน์ ศัลยกำธร’ อดีต รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่ป่าใน จ.น่าน ลดลงไปมาก ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านปริมาณน้ำที่ไม่สามารถอุ้มน้ำได้ ขณะที่พื้นที่ภูเขาส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นภูเขาหัวโล้นที่เกิดปัญหาดินโคลนถล่มตามมา ในช่วงที่เกิดฝนตกหนัก

ภัยแล้งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ประกอบกับฝนทิ้งช่วงรุนแรงทำให้ข้าวในนายืนต้นตาย จ.น่าน ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ที่สำคัญยังมีภูเขาหัวโล้นและป่าต้นน้ำถูกทำลายใน จ.น่าน

จากพื้นที่ทั้งหมด 7,601,880.49 ไร่ น่านเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่เป็นภูเขาถึงร้อยละ 87.2 ประกอบไปด้วยผืนป่าต้นน้ำที่มีความสำคัญต่อการไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งส่วนใหญ่ทำการเกษตรเชิงเดี่ยว การทำกสิกรรมธรรมชาติแบบโคกหนองนาโมเดล คือ การจัดการออกแบบพื้นที่กักเก็บน้ำตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ

“จอบเปลี่ยนน่าน” จึงเกิดขึ้นอีกครั้งในปีนี้ หลังจากที่กิจกรรม “จอบแรกเปลี่ยนน่าน เอามื้อเอาแฮง” เริ่มต้นลงจอบแรกในปี 2561 บนพื้นที่แปลงเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินบ้านยู้ หมู่ที่ 5 ต.จอมพระ อ.ท่าวังผา จ.น่าน ถือเป็นกิจกรรมที่ฟื้นฟูวัฒนธรรมการช่วยเหลือกัน และสร้างความสามัคคีในกลุ่มเกษตรกรและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ด้าน ‘กุล ปัญญาวงศ์’ ผู้อำนวยการ #ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชุมชนต้นน้ำน่าน (ชตน.) อ.ท่าวังผา จ.น่าน กล่าวว่า ปัจจุบันการทำเกษตรผสมผสานด้วยการปลูกป่า 3 อย่าง เพื่อประโยชน์ 4 อย่าง ส่งผลให้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น จึงมีข้อเสนอสร้างต้นแบบประชาชนที่เป็นพลังชุมชน ด้วยการจัดทำ “โคกหนองนาภูคาโมเดล” อ.ปัว จ.น่าน ซึ่งคาดว่าจะสามารถเป็นตัวอย่างการทำเกษตรพอเพียงตามศาสตร์พระราชาที่จะได้ทั้งป่าและยังช่วยให้ประชาชนไม่ขาดแคลนอาหาร

ขณะเดียวกัน ปัญหาดินโคลนถล่มของประเทศไทย โดยภาพรวมยังพบชุมชนที่เสี่ยงเกิดดินถล่มถึง ถึง 5,000 หมู่บ้าน ที่ยังไม่มีนโยบายจัดการแก้ปัญหาจริงจัง ส่วนพื้นที่การเกษตรของไทย ที่มีทั้งประเทศ 150 ล้านไร่ พบว่า มีพื้นที่ 108 ล้านไร่ หลายจุดเสี่ยงปัญหาดินโคลนถล่ม ดังนั้น การให้ประชาชนชุมชนรู้จักรัก หวงแหน และปลูกป่า จะช่วยลดปัญหาภัยพิบัติดินโคลนถล่มลงได้ส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐยังต้องเข้ามามีส่วนร่วมจัดการด้วย

Author

Alternative Text
นักเขียน

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์