เราจะกล้ายกเลิก “กฎหมายเยาวชน” จริงหรือ ?

จากกรณีเยาวชน อายุ 13 – 16 ปี ก่อเหตุฆาตกรรม “ป้าบัวผัน” แม้ในทางคดีจะยังคงดำเนินต่อไป แต่สิ่งที่ยังเป็นควันหลง คือ ข้อถกเถียง #ยกเลิกกฎหมายเยาวชน ซึ่งความเห็นของสังคม และในโลกออนไลน์ อยากเห็นการเปิดช่องให้เยาวชนที่กระทำความผิดร้ายแรงเกินกว่าวิสัยของเด็ก ได้รับโทษในสัดส่วนเดียวกันกับผู้ใหญ่ ข้อเสนอนี้จะนำไปสู่การสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้จริงในสังคมแค่ไหน ?

The Active ชวนสำรวจอาณาจักรของ “กฎหมายเยาวชน” ว่าใหญ่แค่ไหน ? จะยกเลิกได้จริงหรือไม่ ? และเยาวชนไทยจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง ถ้ากฎหมายเยาวชนถูกยกเลิกไปจริง ๆ

จักรวาลของ “กฎหมายเยาวชน” ครอบคลุมเด็กและเยาวชนกว่า 12 ล้านชีวิต

“กฎหมายเยาวชน” ในความเข้าใจทั่วไป อาจหมายถึงระเบียบวิธีการของศาลและกระบวนการยุติธรรมในการปฏิบัติต่อเยาวชน รวมถึงการกำหนดสัดส่วนโทษทัณฑ์ที่เด็กพึงได้รับเมื่อทำผิด แต่จริง ๆ แล้ว ในจักรวาลของ กฎหมายเยาวชน กว้างใหญ่กว่านั้น

อ้างอิงข้อมูลจาก กรมกิจการเด็กและเยาวชน พบว่า นอกจาก พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ แล้ว ขอบเขตของกฎหมายเยาวชนอาจหมายรวมถึง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก, กฎหมายส่งเสริมและพัฒนาเด็ก ตลอดจนกฎกระทรวงและข้อบังคับเพื่อคุ้มครองสิทธิเด็กในด้านอื่น ๆ อีกด้วย โดยมีรายละเอียดกฎหมายเยาวชน ดังนี้

ชื่อกฎหมาย – ระเบียบ ประเภทปีหมายเหตุ
กฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548กฎกระทรวง2548
กฎกระทรวงกำหนดเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด พ.ศ. 2549กฎกระทรวง2549
กฎกระทรวงกำหนดเด็กที่อยู่ในสภาพที่จำต้องได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพ พ.ศ. 2549กฎกระทรวง2549
กฎกระทรวงกำหนดเด็กที่อยู่ในสภาพที่จำต้องได้รับการสงเคราะห์ พ.ศ. 2549กฎกระทรวง2549
กฎกระทรวงกำหนดแนวทางการพิจารณาว่าการกระทำใดเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กหรือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อเด็ก พ.ศ. 2549กฎกระทรวง2549
กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนและพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแล พ.ศ. 2549กฎกระทรวง2549
กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอรับใบอนุญาตจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็ก พ.ศ. 2549กฎกระทรวง2549
กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอรับใบอนุญาตจัดตั้งสถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพและสถานพัฒนาและฟื้นฟู พ.ศ. 2549กฎกระทรวง2549
กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดกิจกรรมในการแนะแนว ให้คำปรึกษาและฝึกอบรมแก่เด็ก นักเรียน นักศึกษาและผู้ปกครอง พ.ศ. 2548กฎกระทรวง2548
กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแต่งตั้งหรือถอดถอนผู้ปกครองสวัสดิภาพของสถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ และสถานพัฒนาและฟื้นฟู พ.ศ.2549กฎกระทรวง2549
กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับการจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็ก สถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ สถานพัฒนาและฟื้นฟู พ.ศ. 2548กฎกระทรวง2548
กฎกระทรวง (พ.ศ. 2523) ออกตามความในพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522กฎกระทรวง2523ยกเลิก
กฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2523) ออกตามความในพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522กฎกระทรวง2523ยกเลิก
กฎกระทรวงฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2523) ออกตามความในพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522กฎกระทรวง2523
กฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2523) ออกตามความในพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522กฎกระทรวง2523ยกเลิก
กฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2529) ออกตามความในพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522กฎกระทรวง2529ยกเลิก
กฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2533) ออกตามความในพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522กฎกระทรวง2533ยกเลิก
กฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2533) ออกตามความในพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522กฎกระทรวง2533ยกเลิก
กฎกระทรวงฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522กฎกระทรวง2535ยกเลิก
กฎกระทรวงฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522กฎกระทรวง2543
กฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจดทะเบียนเป็นองค์กรเอกชนหรือองค์กรชุมชนด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2553กฎกระทรวง2553
ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษาประกาศ
พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559พ.ร.บ.2559
พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522พ.ร.บ.2522
พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2533พ.ร.บ.2533
พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553พ.ร.บ.2553
พระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในทางแพ่งเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิควบคุมดูแลเด็ก พ.ศ. 2555พ.ร.บ.2555
พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558พ.ร.บ.2558
พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546พ.ร.บ.2546
พระราชบัญญัติ จัดการฝึกและอบรมเด็กบางจำพวก พุทธศักราช 2479พ.ร.บ.2479
พระราชบัญญัติ จัดการฝึกและอบรมเด็กบางจำพวก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2501พ.ร.บ.2501
พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2550พ.ร.บ.2550
พระราชบัญญัติส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2521พ.ร.บ.2521
พระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. 2558พ.ร.บ.2558
ระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่าด้วยการลงโทษเด็ก พ.ศ. 2548ระเบียบ2548
ระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือหรือการสนับสนุนแก่องค์กรเอกชนหรือองค์กรชุมชน พ.ศ. 2552ระเบียบ2552
ระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่าด้วยมาตรฐานการดำเนินงานขององค์กรเอกชนหรือองค์กรชุมชน พ.ศ. 2552ระเบียบ2552
ระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ว่าด้วยวิธีการดำเนินงานของสถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ และสถานพัฒนาและฟื้นฟู พ.ศ.2547ระเบียบ2547
ระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่าด้วย วิธีการให้การสงเคราะห์เด็ก พ.ศ. 2547ระเบียบ2547
ระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การลงทะเบียนของกลุ่มเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2551ระเบียบ2551
ระเบียบคณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการขอขยายระยะเวลาการดำเนินการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมในกรณีมีพฤติการณ์พิเศษ พ.ศ. 2554ระเบียบ2554
ระเบียบคณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการเตรียมความพร้อมในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2554ระเบียบ2554
ระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารกองทุน การพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงิน และรายงานสถานะการเงิน และการบริหารกองทุนคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2548ระเบียบ2548
ระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ว่าด้วยการรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน การจัดหาผลประโยชน์ และการจัดการกองทุนคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2548ระเบียบ2548
ระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ว่าด้วยวิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่ต้องหาว่ากระทำการอันกฎหมายบัญญัติ เป็นความผิดและอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องรับโทษทางอาญา พ.ศ. 2551ระเบียบ2551ยกเลิก
ระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ว่าด้วยวิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่ต้องหาว่ากระทำการอันกฎหมายบัญญัติ เป็นความผิดและอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องรับโทษทางอาญา พ.ศ. 2555ระเบียบ2555
ระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ว่าด้วยวิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่ถูกทารุณกรรม หรือถูกเลี้ยงดูโดยมิชอบ พ.ศ. 2548ระเบียบ2548
ระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ว่าด้วยวิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่ถูกทารุณกรรมหรือถูกเลี้ยงดูโดยมิชอบ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552ระเบียบ2552
ระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติว่าด้วยวิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด พ.ศ. 2553ระเบียบ2553
ระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ในการสงเคราะห์เด็กและคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก พ.ศ. 2547ระเบียบ2547
ระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548ระเบียบ2548
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560รัฐธรรนูญ2560
อ้างอิงข้อมูลจากกรมกิจการเด็กและเยาวชน; อาจมีกฎหมายอื่นอีกที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน

ถ้าสังคมไทยจะยกเลิก “กฎหมายเยาวชน” นั่นหมายความว่าเราต้องการจะยกเลิกการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิเยาวชน ที่ส่งผลกระทบต่อเยาวชน (อายุ 0 – 18 ปี) จำนวน 12 ล้านคนเลยหรือไม่ ? แล้วขอบเขตของการยกเลิกอยู่ตรงไหนจุดไหน ? หรือเราแค่ต้องการแก้ไขให้มันมีความเข้มงวด รัดกุมมากขึ้น

ยกเลิก “กฎหมายเยาวชน” = ยกเลิกสิทธิคุ้มครองเด็กในกระบวนการยุติธรรม

แม้จักรวาลของกฎหมายเยาวชนจะครอบคลุมถึงกฎหมายและข้อบังคับหลายตัวที่เขียนขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิเยาวชนไทย แต่ในบริบทสังคมที่พูดถึงต่อกรณี #ป้าบัวผัน คือ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 โดยเฉพาะหลักการสิทธิเด็ก และวิธีปฏิบัติต่อเด็กที่มีความผิด เจ้าหน้าที่ควรทำอย่างไร ไม่ให้เยาวชนถูกละเมิดสิทธิเด็กในชั้นศาล รวมไปถึงกระบวนการบำบัดเยาวชนที่สำนึกผิดกลับคืนสู่สังคมอีกครั้งหนึ่ง

แก่นหลักของการเรียกร้อง #ยกเลิกกฎหมายเยาวชน ก็เพื่อเปิดช่องให้เยาวชนที่กระทำความผิดร้ายแรงเกินกว่าวิสัยของเด็ก เช่น ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน หรือความผิดฐานข่มขืนซ้ำซ้อน ฯลฯ ให้ได้รับโทษในสัดส่วนเดียวกันกับผู้ใหญ่ที่ทำผิด โดยหวังจะเป็นการสร้างความเข็ดหลาบให้เยาวชนเกรงกลัวต่อกฎหมาย ไม่กล้าทำความผิด และคุ้มครองให้ผู้บริสุทธิ์ในสังคมได้อยู่อาศัยอย่างปลอดภัยมากขึ้น แต่มันจะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่?

รศ.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า การมีกฎหมายเยาวชนคุ้มครองเด็ก ไม่ได้หมายความว่าเด็กเหล่านี้จะไม่ได้ถูกลงโทษ ถูกปล่อยตัวกลับบ้าน เขายังสามารถรับโทษได้ โดยกฎหมายไทยจะพิจารณาตามฐานความผิดและเกณฑ์อายุเป็นหลัก แบ่งได้คร่าว ๆ 3 เกณฑ์ดังนี้

  • อายุต่ำกว่า 12 ปี ไม่ต้องรับโทษ แต่ถือว่ามี ‘ความผิด’ และอาจต้องเข้าสู่กระบวนการอบรมนิสัยเพื่อสำนึกผิดและกลับตัว

  • อายุ 12 – 15 ปี ประมวลกฎหมายอาญาฯ ระบุชัดว่า ให้ ‘ยกเว้นโทษ’ แต่ศาลมีอำนาจสั่งการส่งไปยังสถานพินิจ หรือควบคุมตัวได้ ในกรณีที่มีความผิดร้ายแรง เช่น ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย

  • อายุ 15 – 18 ปี หากทำผิดศาลตัดสินว่าจะลงโทษหรือไม่ก็ได้ ถ้าลงโทษให้ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง หรือถ้าไม่ลงโทษ ให้พาเด็กเข้ากระบวนการฟื้นฟู
รศ.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล

รศ.มาตาลักษณ์ ระบุว่า การ #ยกเลิกกฎหมายเยาวชน หากเกิดขึ้นจริงตามที่พูดกัน จะเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก โดยยังไม่ต้องพูดถึงกฎหมายเยาวชนในข้ออื่น ๆ หากยกเลิกเฉพาะ พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ นั่นหมายถึงการยกเลิกการคุ้มครองสิทธิของเด็กในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด เยาวชนจะได้รับการปฏิบัติในชั้นศาลเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ รวมถึงเยาวชนในสถานพินิจจะไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา กระบวนการสำนึกผิด และกลับใจก็จะเกิดขึ้นได้ยากมากขึ้น ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ จึงการันตีไม่ได้เลยว่า การยกเลิกกฎหมายเยาวชน หรือการบังคับให้เด็กได้รับการพิจารณาคดีความแบบเดียวกับผู้ใหญ่ จะสามารถแก้ไขปัญหาอาชญากรเด็กได้อย่างยั่งยืน

“ถ้าพูดถึงผลกระทบนี่น่ากลัวมาก การที่เรายกเลิกกฎหมายแค่เฉพาะ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ ไม่ต้องพูดถึงตัวอื่น ก็มีปัญหาแล้ว เพราะกระบวนการฟื้นฟูเด็กทั้งหมดจะหายไปด้วย เขาก็ไม่มีโอกาสได้กลับตัว สังคมก็ไม่มีโอกาสได้เยาวชนที่กลับใจ อย่าลืมว่า ในสถานพินิจยังมีกระบวนการให้ความรู้เพื่อบำบัดเขาไม่ให้ทำผิดซ้ำ เด็กส่วนใหญ่ที่ก่อเหตุอาชญากรรมมักมีปัญหาภายในครอบครัว หรือในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย ต้องเผชิญหน้ากับความไม่เป็นธรรมในสังคม คำถามคือถ้าหากเราไม่ให้โอกาสเขา มันจะเรียกว่าความยุติธรรมได้จริงหรือไม่?”

รศ.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล

รศ.มาตาลักษณ์ ชี้ว่า ไม่ควรยกเลิก พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ แต่ควรได้รับการแก้ไขมากกว่า เพราะกฎหมายปัจจุบันยังมีช่องโหว่ เอื้อให้เยาวชนได้รับประโยชน์จากกฎหมายซ้ำซาก ดังนั้นจึงควรมีการปรับปรุงแก้ไขในมาตรา 86, 90, และ 132 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ โดยกำหนดเงื่อนไขในการรับประโยชน์ให้เข้มงวดมากขึ้น เช่น หากทำผิดซ้ำบ่อย หรือเป็นความผิดร้ายแรง ก็ไม่ควรเอื้อประโยชน์ในการลดหย่อนโทษได้โดยง่าย เพื่อไม่ให้เป็นการสร้างความชะล่าใจในการทำผิดกฎหมายของเยาวชน

แต่ที่มากกว่านั้น ถึงแม้จะมีเครื่องมือทางกฎหมายที่แข็งแรง แต่หากไม่มี “ผู้ใช้” กฎหมายที่มีความรู้และความเข้าใจโดยตรง ก็ไม่อาจทำให้ประสิทธิภาพของกฎหมายเกิดขึ้นได้ ประเด็นนี้ รศ.มาตาลักษณ์ เผยว่า ไทยยังไม่มีผู้พิพากษาชำนาญพิเศษในคดีเยาวชนและคดีครอบครัวเลยแม้แต่คนเดียว แม้ว่าคดีเยาวชนจะมีความซับซ้อนมากก็ตาม ต่างจากผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครองที่มีผู้พิพากษาเฉพาะทาง รวมถึงยังเสนอให้รัฐจัดสรรงบประมาณอุดหนุนค่าตอบแทบให้กับพนักงานสนับสนุนเยาวชน เช่น เจ้าหน้าที่พิทักษ์สิทธิ อัยการเด็ก ตำรวจเด็ก นักสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น

ไทยต้องตอบคำถาม UN หากยกเลิก “กฎหมายเยาวชน”

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เป็นข้อตกลงด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ได้รับการรับรองมากที่สุดในโลกถึง 196 ประเทศ ผู้นำทั่วโลกได้มาร่วมให้สัญญากับเด็ก ๆ ทุกคน ทุกรุ่น ว่าจะให้ความคุ้มครองดูแลอย่างเต็มความสามารถและเท่าเทียมกัน และไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศเหล่านั้น รวมไปถึงการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เหล่านี้เป็นพันธะสัญญาที่ไทยต้องคงรักษาไว้ซึ่ง “กฎหมายเยาวชน”

นี่เป็นอีกประเด็นที่ รศ.มาตาลักษณ์ ตั้งข้อกังวลเพราะ หากไทยยกเลิกกฎหมายเยาวชนย่อมนำไปสู่การลดระดับการคุ้มครองสิทธิของเยาวชน ไทยอาจจะต้องตอบคำถามต่อที่ประชุมสหประชาชาติถึงการกระทำดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้น สถานะในการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของไทยในบทบาทเวทีโลกจะถูกสั่นคลอนอย่างมาก

บทเรียนต่างชาติ “เด็กกระทำผิด” ต้องยิ่งเข้มบังคับใช้ ไม่ใช่ยกเลิกกฎหมาย

โดยย้ำว่า การมีกฎหมายเยาวชน ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเอื้อให้เยาวชนทำผิดซ้ำ ๆ ยกตัวอย่าง ในหลายชาติที่เคยมีกรณีเยาวชนก่อคดีร้ายแรง อย่าง สหรัฐอเมริกาที่มีเหตุเยาวชนกราดยิง หรือญี่ปุ่นที่มีเหตุฆ่าข่มขืนโดยน้ำมือเยาวชน ก็ไม่ได้มีการพิจารณายกเลิกกฎหมายเยาวชนทิ้งไปแต่อย่างใด แต่สิ่งที่ชาติเหล่านี้ปรับใช้ คือ เพิ่มความเข้มงวดของการใช้กฎหมายคุ้มครองเยาวชน เช่น หากเด็กกระทำผิดซ้ำ หรือก่อคดีอาญาร้ายแรง ก็จะลดเงื่อนไขคุ้มครองเด็กลง และไม่ใช่ว่าเด็กจะได้รับการปล่อยตัว เพราะเยาวชนอาจต้องได้รับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในสถานพินิจ ทั้งนี้ก็เพื่อนำเยาวชนเข้าสู่กระบวนการสำนึกผิดและปรับปรุงตัวก่อนกลับสู่สังคม

“แม้แต่ประเทศที่มีสถิติของการทำผิดของเด็กและเยาวชนที่รุนแรงกว่าเรา อย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น ที่มีเยาวชนก่อคดีรุนแรงผิดวิสัยทั่วไป เขาก็ไม่ได้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว เขาแค่บังคับใช้กฎหมายพวกนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การจำกัดจำนวนครั้งของการให้อภัย หรือการหย่อนโทษ เพื่อไม่ให้เด็กได้รับประโยชน์ซ้ำ ๆ จนเป็นการผลิตอาชญากร ซึ่งตอนนี้กฎหมายเรายังมีช่องโหว่ตรงนี้ เรายอมรับว่าด้วยช่องโหวตรงนี้อาจทำให้เด็กหลายคนชะล่าใจ และเกิดเหตุสลด ซึ่งตรงนี้ในหลายประเทศเขาก็แก้ไขไปแล้ว เช่น หากเด็กอายุ 15 – 18 ปีก่อเหตุฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ก็อาจจะไม่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายเยาวชนเลยก็ได้”

รศ.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล

เพราะเด็กคือเด็ก ไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่ตัวเล็ก จึงต้องมี “กฎหมายเยาวชน”

ถึงตรงนี้ รศ.มาตาลักษณ์ ยอมรับว่าเข้าใจถึงอารมณ์ของสังคมที่สะเทือนใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมย้ำว่าการกระทำของเยาวชนกลุ่มดังกล่าวนั้น เป็นความผิดที่ร้ายแรงยากที่จะให้อภัย แต่อยากชวนสังคมมองให้ไกลไปถึง “สาเหตุ” ที่เยาวชนคนหนึ่งตัดสินใจที่จะกระทำความผิดเช่นนั้น ปัญหาส่วนหนึ่งก็มาจาก “ความไม่เป็นธรรม” ในสังคมที่หล่อหลอมเยาวชนเหล่านี้ขึ้น ทั้งความเอาใจใส่และเลี้ยงดูของครอบครัว ระดับคุณภาพการศึกษา ความปลอดภัยในชุมชนโดยรอบ ตลอดจนแหล่งอบายมุขที่พาเยาวชนหลงผิด เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยโดยรอบ ที่มีส่วนผลิตเยาวชนที่ถูกตราหน้าว่าเป็น “อาชญากร” เหล่านี้ขึ้น

ทั้งนี้ยังยืนยันคำตอบเดิมว่า การยกเลิกกฎหมายเยาวชนไม่อาจนำไปสู่ผลดีต่อสังคมได้ ถ้าให้คาดเดา การยกเลิกกฎหมายเยาวชน ในระยะแรก อาจสร้างความเข็ดหลาบ และตื่นกลัวให้กับเด็กได้อยู่บ้าง แต่ในระยะยาวก็คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาอาชญากรเด็กไปได้

สิ่งสำคัญคือ กฎหมายเยาวชน ตั้งอยู่บนฐานคิดว่า เด็กคือเด็ก ไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่ตัวเล็ก ยังมีพัฒนาการทางอารมณ์และสติปัญญาไม่เทียบขั้นกับผู้ใหญ่ ยังมีโอกาสหลงผิดและปฏิบัติอย่างบกพร่องได้ ทั้งนี้ กฎหมายเยาวชนก็มีไว้เพื่อให้โอกาสเด็กในการกลับตัวกลับใจ เพราะเชื่อว่าทุกคนนั้นล้วนเคยพลั้งผิด แต่ก็สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ หากสังคมไทยยกเลิกกฎหมายเยาวชนจริง เท่ากับปิดโอกาสกลับคืนสู่สังคมของผู้ที่สำนึกผิดไปพร้อมกับการไม่ได้ช่วยทำให้จำนวนอาชญากรเด็กลดลงเลย จึงไม่ใช่ทางออกของปัญหาดังกล่าว

“ต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า อาจารย์เห็นใจกรมพินิจฯ ที่จะต้องหากระบวนการที่ซับซ้อนมาเพื่อขัดเกลาเยาวชนเหล่านี้ แต่ย้ำว่าเรื่องการบำบัดเด็กที่กระทำผิดซ้ำมันไม่ใช่หน้าที่ของกรม หรือกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของสังคมด้วย ถ้าสังคมเห็นแล้วว่าสิ่งที่เขาทำมันน่าตำหนิ เลวร้าย ไม่สมควร แต่ถ้ามันเป็นการกระทำผิดครั้งแรก และเขาสำนึกผิดจริง ขอกลับตัวกลับใจ สังคมต้องให้โอกาสเขาด้วย เพราะแม้กระทรวง ทบวง กรม ขัดเกลาน้องได้ดีแค่ไหน แต่ถ้าสังคมปฏิเสธพวกเขา อาชญากรรมก็จะเกิดขึ้นอีกเหมือนเดิม”

รศ.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

บัณฑิตจบใหม่คณะสื่อสารฯ ผู้เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

อภิวรรณ หวังเจริญไพศาล