จากกรณีเยาวชน อายุ 13 – 16 ปี ก่อเหตุฆาตกรรม “ป้าบัวผัน” แม้ในทางคดีจะยังคงดำเนินต่อไป แต่สิ่งที่ยังเป็นควันหลง คือ ข้อถกเถียง #ยกเลิกกฎหมายเยาวชน ซึ่งความเห็นของสังคม และในโลกออนไลน์ อยากเห็นการเปิดช่องให้เยาวชนที่กระทำความผิดร้ายแรงเกินกว่าวิสัยของเด็ก ได้รับโทษในสัดส่วนเดียวกันกับผู้ใหญ่ ข้อเสนอนี้จะนำไปสู่การสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้จริงในสังคมแค่ไหน ?
The Active ชวนสำรวจอาณาจักรของ “กฎหมายเยาวชน” ว่าใหญ่แค่ไหน ? จะยกเลิกได้จริงหรือไม่ ? และเยาวชนไทยจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง ถ้ากฎหมายเยาวชนถูกยกเลิกไปจริง ๆ
จักรวาลของ “กฎหมายเยาวชน” ครอบคลุมเด็กและเยาวชนกว่า 12 ล้านชีวิต
“กฎหมายเยาวชน” ในความเข้าใจทั่วไป อาจหมายถึงระเบียบวิธีการของศาลและกระบวนการยุติธรรมในการปฏิบัติต่อเยาวชน รวมถึงการกำหนดสัดส่วนโทษทัณฑ์ที่เด็กพึงได้รับเมื่อทำผิด แต่จริง ๆ แล้ว ในจักรวาลของ กฎหมายเยาวชน กว้างใหญ่กว่านั้น
อ้างอิงข้อมูลจาก กรมกิจการเด็กและเยาวชน พบว่า นอกจาก พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ แล้ว ขอบเขตของกฎหมายเยาวชนอาจหมายรวมถึง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก, กฎหมายส่งเสริมและพัฒนาเด็ก ตลอดจนกฎกระทรวงและข้อบังคับเพื่อคุ้มครองสิทธิเด็กในด้านอื่น ๆ อีกด้วย โดยมีรายละเอียดกฎหมายเยาวชน ดังนี้
ชื่อกฎหมาย – ระเบียบ | ประเภท | ปี | หมายเหตุ |
---|---|---|---|
กฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 | กฎกระทรวง | 2548 | |
กฎกระทรวงกำหนดเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด พ.ศ. 2549 | กฎกระทรวง | 2549 | |
กฎกระทรวงกำหนดเด็กที่อยู่ในสภาพที่จำต้องได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพ พ.ศ. 2549 | กฎกระทรวง | 2549 | |
กฎกระทรวงกำหนดเด็กที่อยู่ในสภาพที่จำต้องได้รับการสงเคราะห์ พ.ศ. 2549 | กฎกระทรวง | 2549 | |
กฎกระทรวงกำหนดแนวทางการพิจารณาว่าการกระทำใดเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กหรือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อเด็ก พ.ศ. 2549 | กฎกระทรวง | 2549 | |
กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนและพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแล พ.ศ. 2549 | กฎกระทรวง | 2549 | |
กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอรับใบอนุญาตจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็ก พ.ศ. 2549 | กฎกระทรวง | 2549 | |
กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอรับใบอนุญาตจัดตั้งสถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพและสถานพัฒนาและฟื้นฟู พ.ศ. 2549 | กฎกระทรวง | 2549 | |
กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดกิจกรรมในการแนะแนว ให้คำปรึกษาและฝึกอบรมแก่เด็ก นักเรียน นักศึกษาและผู้ปกครอง พ.ศ. 2548 | กฎกระทรวง | 2548 | |
กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแต่งตั้งหรือถอดถอนผู้ปกครองสวัสดิภาพของสถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ และสถานพัฒนาและฟื้นฟู พ.ศ.2549 | กฎกระทรวง | 2549 | |
กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับการจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็ก สถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ สถานพัฒนาและฟื้นฟู พ.ศ. 2548 | กฎกระทรวง | 2548 | |
กฎกระทรวง (พ.ศ. 2523) ออกตามความในพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522 | กฎกระทรวง | 2523 | ยกเลิก |
กฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2523) ออกตามความในพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522 | กฎกระทรวง | 2523 | ยกเลิก |
กฎกระทรวงฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2523) ออกตามความในพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522 | กฎกระทรวง | 2523 | |
กฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2523) ออกตามความในพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522 | กฎกระทรวง | 2523 | ยกเลิก |
กฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2529) ออกตามความในพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522 | กฎกระทรวง | 2529 | ยกเลิก |
กฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2533) ออกตามความในพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522 | กฎกระทรวง | 2533 | ยกเลิก |
กฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2533) ออกตามความในพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522 | กฎกระทรวง | 2533 | ยกเลิก |
กฎกระทรวงฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522 | กฎกระทรวง | 2535 | ยกเลิก |
กฎกระทรวงฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522 | กฎกระทรวง | 2543 | |
กฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจดทะเบียนเป็นองค์กรเอกชนหรือองค์กรชุมชนด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2553 | กฎกระทรวง | 2553 | |
ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา | ประกาศ | ||
พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 | พ.ร.บ. | 2559 | |
พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522 | พ.ร.บ. | 2522 | |
พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2533 | พ.ร.บ. | 2533 | |
พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 | พ.ร.บ. | 2553 | |
พระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในทางแพ่งเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิควบคุมดูแลเด็ก พ.ศ. 2555 | พ.ร.บ. | 2555 | |
พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 | พ.ร.บ. | 2558 | |
พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 | พ.ร.บ. | 2546 | |
พระราชบัญญัติ จัดการฝึกและอบรมเด็กบางจำพวก พุทธศักราช 2479 | พ.ร.บ. | 2479 | |
พระราชบัญญัติ จัดการฝึกและอบรมเด็กบางจำพวก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2501 | พ.ร.บ. | 2501 | |
พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2550 | พ.ร.บ. | 2550 | |
พระราชบัญญัติส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2521 | พ.ร.บ. | 2521 | |
พระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. 2558 | พ.ร.บ. | 2558 | |
ระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่าด้วยการลงโทษเด็ก พ.ศ. 2548 | ระเบียบ | 2548 | |
ระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือหรือการสนับสนุนแก่องค์กรเอกชนหรือองค์กรชุมชน พ.ศ. 2552 | ระเบียบ | 2552 | |
ระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่าด้วยมาตรฐานการดำเนินงานขององค์กรเอกชนหรือองค์กรชุมชน พ.ศ. 2552 | ระเบียบ | 2552 | |
ระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ว่าด้วยวิธีการดำเนินงานของสถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ และสถานพัฒนาและฟื้นฟู พ.ศ.2547 | ระเบียบ | 2547 | |
ระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่าด้วย วิธีการให้การสงเคราะห์เด็ก พ.ศ. 2547 | ระเบียบ | 2547 | |
ระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การลงทะเบียนของกลุ่มเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2551 | ระเบียบ | 2551 | |
ระเบียบคณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการขอขยายระยะเวลาการดำเนินการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมในกรณีมีพฤติการณ์พิเศษ พ.ศ. 2554 | ระเบียบ | 2554 | |
ระเบียบคณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการเตรียมความพร้อมในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2554 | ระเบียบ | 2554 | |
ระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารกองทุน การพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงิน และรายงานสถานะการเงิน และการบริหารกองทุนคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2548 | ระเบียบ | 2548 | |
ระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ว่าด้วยการรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน การจัดหาผลประโยชน์ และการจัดการกองทุนคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2548 | ระเบียบ | 2548 | |
ระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ว่าด้วยวิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่ต้องหาว่ากระทำการอันกฎหมายบัญญัติ เป็นความผิดและอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องรับโทษทางอาญา พ.ศ. 2551 | ระเบียบ | 2551 | ยกเลิก |
ระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ว่าด้วยวิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่ต้องหาว่ากระทำการอันกฎหมายบัญญัติ เป็นความผิดและอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องรับโทษทางอาญา พ.ศ. 2555 | ระเบียบ | 2555 | |
ระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ว่าด้วยวิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่ถูกทารุณกรรม หรือถูกเลี้ยงดูโดยมิชอบ พ.ศ. 2548 | ระเบียบ | 2548 | |
ระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ว่าด้วยวิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่ถูกทารุณกรรมหรือถูกเลี้ยงดูโดยมิชอบ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552 | ระเบียบ | 2552 | |
ระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติว่าด้วยวิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด พ.ศ. 2553 | ระเบียบ | 2553 | |
ระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ในการสงเคราะห์เด็กและคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก พ.ศ. 2547 | ระเบียบ | 2547 | |
ระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 | ระเบียบ | 2548 | |
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 | รัฐธรรนูญ | 2560 |
ถ้าสังคมไทยจะยกเลิก “กฎหมายเยาวชน” นั่นหมายความว่าเราต้องการจะยกเลิกการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิเยาวชน ที่ส่งผลกระทบต่อเยาวชน (อายุ 0 – 18 ปี) จำนวน 12 ล้านคนเลยหรือไม่ ? แล้วขอบเขตของการยกเลิกอยู่ตรงไหนจุดไหน ? หรือเราแค่ต้องการแก้ไขให้มันมีความเข้มงวด รัดกุมมากขึ้น
ยกเลิก “กฎหมายเยาวชน” = ยกเลิกสิทธิคุ้มครองเด็กในกระบวนการยุติธรรม
แม้จักรวาลของกฎหมายเยาวชนจะครอบคลุมถึงกฎหมายและข้อบังคับหลายตัวที่เขียนขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิเยาวชนไทย แต่ในบริบทสังคมที่พูดถึงต่อกรณี #ป้าบัวผัน คือ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 โดยเฉพาะหลักการสิทธิเด็ก และวิธีปฏิบัติต่อเด็กที่มีความผิด เจ้าหน้าที่ควรทำอย่างไร ไม่ให้เยาวชนถูกละเมิดสิทธิเด็กในชั้นศาล รวมไปถึงกระบวนการบำบัดเยาวชนที่สำนึกผิดกลับคืนสู่สังคมอีกครั้งหนึ่ง
แก่นหลักของการเรียกร้อง #ยกเลิกกฎหมายเยาวชน ก็เพื่อเปิดช่องให้เยาวชนที่กระทำความผิดร้ายแรงเกินกว่าวิสัยของเด็ก เช่น ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน หรือความผิดฐานข่มขืนซ้ำซ้อน ฯลฯ ให้ได้รับโทษในสัดส่วนเดียวกันกับผู้ใหญ่ที่ทำผิด โดยหวังจะเป็นการสร้างความเข็ดหลาบให้เยาวชนเกรงกลัวต่อกฎหมาย ไม่กล้าทำความผิด และคุ้มครองให้ผู้บริสุทธิ์ในสังคมได้อยู่อาศัยอย่างปลอดภัยมากขึ้น แต่มันจะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่?
รศ.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า การมีกฎหมายเยาวชนคุ้มครองเด็ก ไม่ได้หมายความว่าเด็กเหล่านี้จะไม่ได้ถูกลงโทษ ถูกปล่อยตัวกลับบ้าน เขายังสามารถรับโทษได้ โดยกฎหมายไทยจะพิจารณาตามฐานความผิดและเกณฑ์อายุเป็นหลัก แบ่งได้คร่าว ๆ 3 เกณฑ์ดังนี้
- อายุต่ำกว่า 12 ปี ไม่ต้องรับโทษ แต่ถือว่ามี ‘ความผิด’ และอาจต้องเข้าสู่กระบวนการอบรมนิสัยเพื่อสำนึกผิดและกลับตัว
- อายุ 12 – 15 ปี ประมวลกฎหมายอาญาฯ ระบุชัดว่า ให้ ‘ยกเว้นโทษ’ แต่ศาลมีอำนาจสั่งการส่งไปยังสถานพินิจ หรือควบคุมตัวได้ ในกรณีที่มีความผิดร้ายแรง เช่น ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย
- อายุ 15 – 18 ปี หากทำผิดศาลตัดสินว่าจะลงโทษหรือไม่ก็ได้ ถ้าลงโทษให้ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง หรือถ้าไม่ลงโทษ ให้พาเด็กเข้ากระบวนการฟื้นฟู
รศ.มาตาลักษณ์ ระบุว่า การ #ยกเลิกกฎหมายเยาวชน หากเกิดขึ้นจริงตามที่พูดกัน จะเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก โดยยังไม่ต้องพูดถึงกฎหมายเยาวชนในข้ออื่น ๆ หากยกเลิกเฉพาะ พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ นั่นหมายถึงการยกเลิกการคุ้มครองสิทธิของเด็กในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด เยาวชนจะได้รับการปฏิบัติในชั้นศาลเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ รวมถึงเยาวชนในสถานพินิจจะไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา กระบวนการสำนึกผิด และกลับใจก็จะเกิดขึ้นได้ยากมากขึ้น ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ จึงการันตีไม่ได้เลยว่า การยกเลิกกฎหมายเยาวชน หรือการบังคับให้เด็กได้รับการพิจารณาคดีความแบบเดียวกับผู้ใหญ่ จะสามารถแก้ไขปัญหาอาชญากรเด็กได้อย่างยั่งยืน
“ถ้าพูดถึงผลกระทบนี่น่ากลัวมาก การที่เรายกเลิกกฎหมายแค่เฉพาะ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ ไม่ต้องพูดถึงตัวอื่น ก็มีปัญหาแล้ว เพราะกระบวนการฟื้นฟูเด็กทั้งหมดจะหายไปด้วย เขาก็ไม่มีโอกาสได้กลับตัว สังคมก็ไม่มีโอกาสได้เยาวชนที่กลับใจ อย่าลืมว่า ในสถานพินิจยังมีกระบวนการให้ความรู้เพื่อบำบัดเขาไม่ให้ทำผิดซ้ำ เด็กส่วนใหญ่ที่ก่อเหตุอาชญากรรมมักมีปัญหาภายในครอบครัว หรือในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย ต้องเผชิญหน้ากับความไม่เป็นธรรมในสังคม คำถามคือถ้าหากเราไม่ให้โอกาสเขา มันจะเรียกว่าความยุติธรรมได้จริงหรือไม่?”
รศ.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล
รศ.มาตาลักษณ์ ชี้ว่า ไม่ควรยกเลิก พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ แต่ควรได้รับการแก้ไขมากกว่า เพราะกฎหมายปัจจุบันยังมีช่องโหว่ เอื้อให้เยาวชนได้รับประโยชน์จากกฎหมายซ้ำซาก ดังนั้นจึงควรมีการปรับปรุงแก้ไขในมาตรา 86, 90, และ 132 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ โดยกำหนดเงื่อนไขในการรับประโยชน์ให้เข้มงวดมากขึ้น เช่น หากทำผิดซ้ำบ่อย หรือเป็นความผิดร้ายแรง ก็ไม่ควรเอื้อประโยชน์ในการลดหย่อนโทษได้โดยง่าย เพื่อไม่ให้เป็นการสร้างความชะล่าใจในการทำผิดกฎหมายของเยาวชน
แต่ที่มากกว่านั้น ถึงแม้จะมีเครื่องมือทางกฎหมายที่แข็งแรง แต่หากไม่มี “ผู้ใช้” กฎหมายที่มีความรู้และความเข้าใจโดยตรง ก็ไม่อาจทำให้ประสิทธิภาพของกฎหมายเกิดขึ้นได้ ประเด็นนี้ รศ.มาตาลักษณ์ เผยว่า ไทยยังไม่มีผู้พิพากษาชำนาญพิเศษในคดีเยาวชนและคดีครอบครัวเลยแม้แต่คนเดียว แม้ว่าคดีเยาวชนจะมีความซับซ้อนมากก็ตาม ต่างจากผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครองที่มีผู้พิพากษาเฉพาะทาง รวมถึงยังเสนอให้รัฐจัดสรรงบประมาณอุดหนุนค่าตอบแทบให้กับพนักงานสนับสนุนเยาวชน เช่น เจ้าหน้าที่พิทักษ์สิทธิ อัยการเด็ก ตำรวจเด็ก นักสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น
ไทยต้องตอบคำถาม UN หากยกเลิก “กฎหมายเยาวชน”
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เป็นข้อตกลงด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ได้รับการรับรองมากที่สุดในโลกถึง 196 ประเทศ ผู้นำทั่วโลกได้มาร่วมให้สัญญากับเด็ก ๆ ทุกคน ทุกรุ่น ว่าจะให้ความคุ้มครองดูแลอย่างเต็มความสามารถและเท่าเทียมกัน และไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศเหล่านั้น รวมไปถึงการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เหล่านี้เป็นพันธะสัญญาที่ไทยต้องคงรักษาไว้ซึ่ง “กฎหมายเยาวชน”
นี่เป็นอีกประเด็นที่ รศ.มาตาลักษณ์ ตั้งข้อกังวลเพราะ หากไทยยกเลิกกฎหมายเยาวชนย่อมนำไปสู่การลดระดับการคุ้มครองสิทธิของเยาวชน ไทยอาจจะต้องตอบคำถามต่อที่ประชุมสหประชาชาติถึงการกระทำดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้น สถานะในการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของไทยในบทบาทเวทีโลกจะถูกสั่นคลอนอย่างมาก
บทเรียนต่างชาติ “เด็กกระทำผิด” ต้องยิ่งเข้มบังคับใช้ ไม่ใช่ยกเลิกกฎหมาย
โดยย้ำว่า การมีกฎหมายเยาวชน ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเอื้อให้เยาวชนทำผิดซ้ำ ๆ ยกตัวอย่าง ในหลายชาติที่เคยมีกรณีเยาวชนก่อคดีร้ายแรง อย่าง สหรัฐอเมริกาที่มีเหตุเยาวชนกราดยิง หรือญี่ปุ่นที่มีเหตุฆ่าข่มขืนโดยน้ำมือเยาวชน ก็ไม่ได้มีการพิจารณายกเลิกกฎหมายเยาวชนทิ้งไปแต่อย่างใด แต่สิ่งที่ชาติเหล่านี้ปรับใช้ คือ เพิ่มความเข้มงวดของการใช้กฎหมายคุ้มครองเยาวชน เช่น หากเด็กกระทำผิดซ้ำ หรือก่อคดีอาญาร้ายแรง ก็จะลดเงื่อนไขคุ้มครองเด็กลง และไม่ใช่ว่าเด็กจะได้รับการปล่อยตัว เพราะเยาวชนอาจต้องได้รับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในสถานพินิจ ทั้งนี้ก็เพื่อนำเยาวชนเข้าสู่กระบวนการสำนึกผิดและปรับปรุงตัวก่อนกลับสู่สังคม
“แม้แต่ประเทศที่มีสถิติของการทำผิดของเด็กและเยาวชนที่รุนแรงกว่าเรา อย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น ที่มีเยาวชนก่อคดีรุนแรงผิดวิสัยทั่วไป เขาก็ไม่ได้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว เขาแค่บังคับใช้กฎหมายพวกนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การจำกัดจำนวนครั้งของการให้อภัย หรือการหย่อนโทษ เพื่อไม่ให้เด็กได้รับประโยชน์ซ้ำ ๆ จนเป็นการผลิตอาชญากร ซึ่งตอนนี้กฎหมายเรายังมีช่องโหว่ตรงนี้ เรายอมรับว่าด้วยช่องโหวตรงนี้อาจทำให้เด็กหลายคนชะล่าใจ และเกิดเหตุสลด ซึ่งตรงนี้ในหลายประเทศเขาก็แก้ไขไปแล้ว เช่น หากเด็กอายุ 15 – 18 ปีก่อเหตุฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ก็อาจจะไม่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายเยาวชนเลยก็ได้”
รศ.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล
เพราะเด็กคือเด็ก ไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่ตัวเล็ก จึงต้องมี “กฎหมายเยาวชน”
ถึงตรงนี้ รศ.มาตาลักษณ์ ยอมรับว่าเข้าใจถึงอารมณ์ของสังคมที่สะเทือนใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมย้ำว่าการกระทำของเยาวชนกลุ่มดังกล่าวนั้น เป็นความผิดที่ร้ายแรงยากที่จะให้อภัย แต่อยากชวนสังคมมองให้ไกลไปถึง “สาเหตุ” ที่เยาวชนคนหนึ่งตัดสินใจที่จะกระทำความผิดเช่นนั้น ปัญหาส่วนหนึ่งก็มาจาก “ความไม่เป็นธรรม” ในสังคมที่หล่อหลอมเยาวชนเหล่านี้ขึ้น ทั้งความเอาใจใส่และเลี้ยงดูของครอบครัว ระดับคุณภาพการศึกษา ความปลอดภัยในชุมชนโดยรอบ ตลอดจนแหล่งอบายมุขที่พาเยาวชนหลงผิด เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยโดยรอบ ที่มีส่วนผลิตเยาวชนที่ถูกตราหน้าว่าเป็น “อาชญากร” เหล่านี้ขึ้น
ทั้งนี้ยังยืนยันคำตอบเดิมว่า การยกเลิกกฎหมายเยาวชนไม่อาจนำไปสู่ผลดีต่อสังคมได้ ถ้าให้คาดเดา การยกเลิกกฎหมายเยาวชน ในระยะแรก อาจสร้างความเข็ดหลาบ และตื่นกลัวให้กับเด็กได้อยู่บ้าง แต่ในระยะยาวก็คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาอาชญากรเด็กไปได้
สิ่งสำคัญคือ กฎหมายเยาวชน ตั้งอยู่บนฐานคิดว่า เด็กคือเด็ก ไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่ตัวเล็ก ยังมีพัฒนาการทางอารมณ์และสติปัญญาไม่เทียบขั้นกับผู้ใหญ่ ยังมีโอกาสหลงผิดและปฏิบัติอย่างบกพร่องได้ ทั้งนี้ กฎหมายเยาวชนก็มีไว้เพื่อให้โอกาสเด็กในการกลับตัวกลับใจ เพราะเชื่อว่าทุกคนนั้นล้วนเคยพลั้งผิด แต่ก็สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ หากสังคมไทยยกเลิกกฎหมายเยาวชนจริง เท่ากับปิดโอกาสกลับคืนสู่สังคมของผู้ที่สำนึกผิดไปพร้อมกับการไม่ได้ช่วยทำให้จำนวนอาชญากรเด็กลดลงเลย จึงไม่ใช่ทางออกของปัญหาดังกล่าว
“ต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า อาจารย์เห็นใจกรมพินิจฯ ที่จะต้องหากระบวนการที่ซับซ้อนมาเพื่อขัดเกลาเยาวชนเหล่านี้ แต่ย้ำว่าเรื่องการบำบัดเด็กที่กระทำผิดซ้ำมันไม่ใช่หน้าที่ของกรม หรือกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของสังคมด้วย ถ้าสังคมเห็นแล้วว่าสิ่งที่เขาทำมันน่าตำหนิ เลวร้าย ไม่สมควร แต่ถ้ามันเป็นการกระทำผิดครั้งแรก และเขาสำนึกผิดจริง ขอกลับตัวกลับใจ สังคมต้องให้โอกาสเขาด้วย เพราะแม้กระทรวง ทบวง กรม ขัดเกลาน้องได้ดีแค่ไหน แต่ถ้าสังคมปฏิเสธพวกเขา อาชญากรรมก็จะเกิดขึ้นอีกเหมือนเดิม”
รศ.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล