โรคติดต่อระหว่างสัตว์เเละคนที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

สำรวจข้อมูล 5 โรคอุบัติใหม่ 1 โรคอุบัติซ้ำ 

โรคระบาดในอดีตที่เริ่มมีการบันทึกในประวัติศาสตร์โลก คือ กาฬโรค หรือ Black Death เมื่อ พ.ศ.​1890 ซึ่งมี “หนู” เป็นพาหะ เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน จนนำมาสู่คนสู่คน คาดการณ์มีผู้เสียชีวิตไปราว 200 ล้านคนทั่วโลก นับแต่นั้นเป็นต้นมามีการเกิดโรคใหม่อีกเรื่อย ๆ แต่ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีโรคระบาดใหม่เกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น โรคเหล่านี้ถูกเรียกว่า “โรคอุบัติใหม่” 

การสาธารณสุขที่ทันสมัยมากขึ้น ทำให้เกิดนวัตกรรมในการควบคุมโรคเช่นการปลูกฝีดาษ หรือวัคซีน โรคอุบัติใหม่ที่เคยระบาดก็ถูกกวาดล้างไป แต่เมื่อภูมิคุ้มกันหมู่ของคนเริ่มลดลง ก็จะเกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า “โรคอุบัติซ้ำ” 

โรคใหม่ ๆ มักเริ่มจากการระบาดในสัตว์ จากสัตว์สู่คน และที่น่ากังวลมากที่สุดคือกลายเป็นการระบาดจาก คนสู่คน ดังนั้นการเฝ้าระวังและติดตามแนวโน้มของโรคจึงเป็นงานหนัก สำหรับ “นักระบาดวิทยา” ที่ต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีระบบ เพื่อวางแผนจัดทำมาตรการป้องกัน   การทราบจำนวนผู้ป่วยของโรคต่างๆ จึงมีความสำคัญเพราะจะบ่งบอกถึงการกระจายของโรค นำไปสู่การพยากรณ์การระบาด  

แม้ โควิด-19 กำลังกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่การระบาดของโรคที่เคยอุบัติใหม่ ยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม 

ปัจจุบัน กรมควบคุมโรค, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, กรมปศุสัตว์, กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (US.CDC) ประจำประเทศไทย องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (FAO) และผู้เข้าร่วมประชุมจากสหสาขาวิชา รวมถึงองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังคงทำงานร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งเหตุผลที่ยังคงต้องเฝ้าระวังก็เพราะมีโอกาสที่จะกลับมาระบาดซ้ำ 

The Active ชวนสำรวจข้อมูล 5 โรค อุบัติใหม่ และ 1 โรค อุบัติซ้ำ โดยรวบรวมข้อมูล ณ วันที่ 25 พ.ค. 2565 โดยอ้างอิงข้อมูลจาก : องค์การอนามัยโรค, กรมควบคุมโรค, สมาคมโรคติดเชื้อในเด็ก, สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ในพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

1. โรคไข้หวัดนก (Zoonotic avian influenza)   

เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์ที่พบในนกและสัตว์ปีก โดยอาการและความรุนแรงของโรคขึ้นกับสายพันธุ์ของไวรัสและชนิดของสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ สายพันธุ์ที่มีความสำคัญคือ H5N1 ซึ่งทำให้สัตว์ปีกที่ติดเชื้อมีอาการรุนแรงและตายอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป เอเชีย และแอฟริกา ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกในปี พ.ศ.2547-2549 แต่หลังจากปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมายังไม่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนกจนถึงปัจจุบัน โดยมีผู้ติดเชื้อ 861 คน อัตราเสียชีวิต 60%

2. โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19, SARS, MERS) 

เชื้อไวรัสโคโรน่า (CoVs) เป็นไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอสายเดี่ยว (single stranded RNA virus) ใน Family Coronaviridae มีรายงานการพบเชื้อมาตั้งแต่ช่วงพ.ศ.2508 โดยสามารถติดเชื้อได้ทั้งในคนและ
สัตว์ เช่น หนู ไก่ วัว ควาย สุนัข แมว กระต่าย และสุกร ประกอบด้วยชนิดย่อยหลายชนิดและทำให้มีอาการ แสดงในระบบต่างๆ เช่น ระบบทางเดินหายใจ(รวมถึงโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือซาร์ส; SARS CoV) ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท หรือระบบอื่นๆ มีข้อสังเกตุว่าพาหะของโรคคือสัตว์ป่าหลายชนิด 

ไวรัสโคราน่าทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจแล้ว 3 โรคคือ 1.โรคซาร์ส หรือโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง ถูกถ่ายทอดจากชะมดไปยังคน2.โรคเมอร์ส หรือโรคระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลาง ติดต่อจากอูฐ สู่คนและ 3. โรคโควิด-19 ติดต่อจากค้างคาว หรือลิง สู่คน โดยมีผู้ติดเชื้อ ซาร์ส  8,096 คน อัตราเสียชีวิต 9.6% เมอร์ส ติดเชื้อ 2,519 คน อัตราเสียชีวิต 34.3% โควิด ติดเชื้อ 567 ล้านคน อัตราเสียชีวิต 2%

3. โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipah virus)  

ไวรัส์นิปาห์ถูกค้นพบครั้งแรกในประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2541 ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรงในสุกรและการติดเชื้อไข้สมองอักเสบในมนุษย์ แหล่งรังโรคตามธรรมชาติคือ ค้างคาวผลไม้ (Pteropus) หรือเรียกว่า flying fox ซึ่งไม่แสดงอาการป่วย แต่สัตว์ที่สามารถติดเชื้อไวรัสนิปาห์ได้ คือ สุกร สุนัข แพะ แมว ม้า และแกะ ซึ่งถือเป็นแหล่งเพาะโรค การติดต่อของโรคมาสู่คนเป็นจากการสัมผัส หรือรับประทานวัตถุที่ปนเปื้อน ปัสสาวะอุจจาระ หรือน้ำลายของค้างคาวที่เป็นพาหะ  โดยมีผู้ติดเชื้อ 573 คน อัตราเสียชีวิต 70%

4. โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) 

โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดเชื้อในระบบประสาทจากสัตว์สู่คน มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต ผู้ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะเสียชีวิตเกือบทุกราย เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้ในการรักษา ทั้งนี้โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน แต่ปัจจุบันยังมีผู้ติดเชื้อนับหมื่นคนทุกปี ในช่วงฤดูร้อน 

โรคพิษสุนัขบ้าพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น แมว ค้างคาว วัว ลิงชะนี กระรอก กระต่าย รวมถึงหนู เป็นต้น แต่พบว่าสุนัขและแมวเป็นสัตว์ที่นำโรคพิษสุนัขบ้ามาสู่คนได้บ่อยที่สุด โรคพิษสุนัขบ้าติดต่อโดยการสัมผัสกับน้ำลายจากการถูกกัด ข่วนหรือเลียบริเวณที่มีบาดแผลรอยถลอกหรือรอยขีดข่วนบาดแผล หรือถูกเลียบริเวณเยื่อบุตา หรือปาก เป็นต้น นอกจากนี้ การชำแหละซากสัตว์หรือรับประทานผลิตภัณฑ์ดิบจากสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าก็สามารถติดโรคได้ โดยมีผู้ติดเชื้อ 55,000 คน / ปี อัตราเสียชีวิต 100%

5. โรคอีโบลา (Ebola) 

โรคอีโบลา เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส อีโบลา (Ebola virus) ซึ่งเป็นโรคที่มีความรุนแรงและอันตรายถึงชีวิต พบว่ามีการระบาดครั้งแรก คือที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในแอฟริกากลาง เมื่อได้รับเชื้อไวรัสนี้เข้าสู่ร่างกาย ไวรัสก็จะสร้างความเสียหายแก่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและอวัยวะที่สำคัญต่าง ๆในที่สุดแล้วจะทำให้ระดับเซลล์การแข็งตัวของเลือด (Blood-Clotting Cells) ต่ำลงและนำไปสู่ภาวะเลือดออกที่รุนแรงและไม่สามารถควบคุมได้

โรคอีโบล่าไม่ได้เป็นโรคที่แพร่เชื้อได้ง่ายเหมือนกับโรคหวัดทั่วไปอย่างไข้หวัดใหญ่ หรือโรคหัด โดยสามารถแพร่สู่คนจากการสัมผัสผิวหรือสารคัดหลั่งของสัตว์ที่มีเชื้ออยู่ เช่น ลิง ลิงชิมแปนซี หรือค้างคาว และสามารถติดต่อกันจากคนสู่คนด้วยการสัมผัสโดยตรงกับเลือดที่ติดเชื้อและสารคัดหลั่ง มีผู้ติดเชื้อ 3,470 คน อัตราเสียชีวิต 66%

ทั้ง 5 โรคนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันพัฒนาระบบเฝ้าระวังเเละป้องกันโรคให้ดียิ่งขึ้น พร้อมจัดสรรทรัพยากรแบบบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว นอกจากนี้ ผู้เเทนหน่วยงานเครือข่ายยังหารือโรคติดต่อระหว่างสัตว์เเละคนอีกหลายโรค อาทิ โรคไข้ฉี่หนู (Leptospirosis) โรคเมลิออย (Melioidosis) โรคไข้หูดับ ก่อโรคโดยเชื้อ Streptococcus suis เเละโรคมาลาเรียที่ก่อโรคโดยเชื้อ Plasmodium Knowlesi เพราะสถานการณ์มีแนวโน้มพบสูงขึ้นเเละต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด ซึ่งจะเห็นได้ว่าโรคติดต่อระหว่างสัตว์เเละคนเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ผนวกกำลังกันจึงจะลดความเสี่ยงเเละรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้

ฝีดาษลิง โรคอุบัติซ้ำ

ไวรัสพบในสัตว์อาจจะข้ามมาสู่คนได้ เช่น ฝีดาษวัว ฝีดาษลิง ฝีดาษคน(smallpox) ถ้าเกิดในมนุษย์จะรุนแรงที่สุด และติดต่อคนสู่คนได้ง่ายมาก แต่การข้ามสายพันธุ์ของไวรัสฝีดาษลิงมาสู่คน การแพร่กระจายจะเกิดได้ยากกว่า ต้องสัมผัสอย่างใกล้ชิด และความรุนแรงของโรคจะน้อยกว่าฝีดาษคนมาก 

เชื้อไวรัสฝีดาษลิง เป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษคน หรือไข้ทรพิษ การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ จึงสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85% 

ก่อนหน้าที่จะกวาดล้างไข้ทรพิษไปได้ มีการปลูกฝีแต่ได้มีการยกเลิกไปตั้งแต่ปีพ.ศ. 2523 เพราะไม่พบโรคนี้ระบาดอีกแล้ว เด็กที่เกิดภายหลังจะไม่เคยได้รับการปลูกฝี จึงเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิง หากกำลังกลับมาระบาดซ้ำ

สำหรับประเทศไทย แต่เดิมปลูกฝีให้กับทุกคน โดยเฉพาะตั้งแต่แรกเกิด จนสามารถควบคุมได้ และหมดไป จึงเลิกการปลูกฝีในประเทศไทย ประมาณปี พศ2517 เป็นต้นมา และองค์การอนามัยโลกประกาศว่าฝีดาษหมดไปในปีพ.ศ2523  และทั่วโลกก็เลิกปลูกฝีตั้งแต่นั้นมา 

ก่อนหน้านี้ฝีดาษลิง เคยระบาดในแอฟริกาแล้วเข้าสู่สหรัฐอเมริกา ระบาดในหลายรัฐ เมื่อปีพ.ศ 2546  มีผู้ป่วยมากกว่า 30 คน มีการวิเคราะห์กันว่า ฝีดาษลิงอุบัติขึ้นซ้ำ เนื่องจากประชากรไม่ได้รับการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษภายหลังโลกปลอดไข้ทรพิษ โดยการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่เคยถูกควบคุมได้มาช้านาน ถูกละเลย เพราะเข้าใจว่า โรคถูกกวาดล้างไปแล้ว จึงไม่มีการฉีดวัคซีนปูพรมอย่างเข้มงวด โรคจึงกลับมาอุบัติใหม่  โดยมีผู้ติดเชื้อ 3,470 คน อัตราการเสียชีวิต 66%


อ้างอิงข้อมูล 

https://ddc.moph.go.th/uploads/files/1354720200701034955.pdf

https://www.pidst.or.th/A646.mobile

https://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=24&chap=8&page=t24-8-infodetail01.html

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์