กว่าจะได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30

นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 อาจไม่ใช่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” จากพรรคก้าวไกลซึ่งได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่ง นี่คือข้อสังเกตที่สังคมเริ่มวิพากษ์วิจารณ์กัน แม้เวลานี้พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคที่ได้คะแนนอันดับ 2 จะยืนยันว่า ไม่จัดตั้งรัฐบาลแข่ง แต่ก็ยังไม่หมดโอกาสที่จะได้นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย หากพรรคอันดับ 1 อย่างก้าวไกลไม่สามารถรวมเสียงโหวตนายกรัฐมนตรีได้ถึง 376 เสียงจากที่ประชุมรัฐสภา ขณะที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นอีกตัวแปรสำคัญที่ไม่ได้ปิดโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยเช่นกัน 

อนาคตทางการเมืองของประเทศไทยในห้วงเวลา 3 เดือนจากนี้ จึงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน The Active ชวนทบทวนกระบวนการขั้นตอน การเลือกนายกรัฐมนตรี กับทางเลือกที่เราจะเดินไป 

วันที่ 14 พ.ค. 2566 หลังปิดหีบหย่อนบัตรเลือกตั้งกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์กว่า 75% ทั้งประเทศมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ พรรคก้าวไกล ได้อันดับ 1 ทั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ ตามมาด้วยพรรคเพื่อไทย ที่จำนวนเก้าอี้ไม่ห่างกันมาก

เมื่อ กกต.ได้ตรวจสอบเบื้องต้นแล้วว่า ผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีจํานวนไม่น้อยกว่า 95% ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด ก็ต้องประกาศผลการเลือกตั้งโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง ดังนั้น กกต.มีเวลาการประกาศรับรองผลไปจนถึง 13 ก.ค.นี้

หลังการรับรองผลการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว รัฐธรรมนูญมาตรา 121 กำหนดว่าภายใน 15 วัน ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก เพื่อเปิดประชุมสภา เลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร

จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีและตั้งรัฐบาลชุดใหม่ คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ส.ค.นี้ โดยจะเรียกประชุมรัฐสภา ประกอบด้วย ส.ส. จำนวน 500 คน และ ส.ว.จำนวน 250 คน ตามมาตรา 272 วรรคแรก ซึ่งต้องได้เสียงสนับสนุนไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภา หรือไม่น้อยกว่า 376 เสียง

ที่น่าติดตาม คือ รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการเลือกนายกรัฐมนตรีและการตั้งคณะรัฐมนตรีไว้แต่อย่างใด ซึ่งจะทำให้รัฐบาลชุดเก่ารักษาการต่อจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ 

หากไม่มีอะไรผิดพลาดหรือยืดเยื้อ รัฐบาลชุดปัจจุบันจะยังคงรักษาการต่อไปอีกประมาณ 3 เดือนหลังจากนี้ จนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ และนำชื่อคณะรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ และ ครม.ชุดใหม่ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่ง คาดว่าจะเกิดขึ้นประมาณ เดือน ส.ค.2566 

ทว่าการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่ต้องใช้เสียงจากทั้ง ส.ส. และ ส.ว 750 เสียงให้เกินครึ่งนั้น ขณะนี้ พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคอันดับหนึ่งได้สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลก่อน ได้รวมเสียง ส.ส.จาก 5 พรรค ได้แก่ เพื่อไทย ประชาชาติ ไทยสร้างไทย เสรีรวมไทย และเป็นธรรม ได้ 310 เสียงพร้อมจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากแต่ยังจำเป็นต้องได้รับเสียงโหวตนายกรัฐมนตรีจาก ส.ว.อีก 66 เสียง จึงจะได้นายพิธา เป็นนายกฯ 

ซึ่งหาก ส.ว.ไม่โหวตให้ นักวิเคราะห์การเมือง รวมถึง ส.ว. บางคนก็แนะนำให้พรรคก้าวไกลหาเสียงจาก ส.ส. พรรคที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาลโหวตให้โดยไม่ต้องพึ่งเสียง ส.ว. โดยอาจเจรจากับ พรรคภูมิใจไทยที่ได้ ส.ส.อยู่ 70 เสียง หรือ จาก ส.ส.พรรคอื่นๆ รวมกันให้ครบ 376 เสียง ในจำนวนนี้อาจมี ส.ว.ที่แสดงจุดยืนว่าจะโหวตเลือกนายกฯ ตามคะแนนเสียงจากประชาชน พรรคก้าวไกลก็จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ 

แต่หากพรรคก้าวไกลไม่สามารถรวมเสียง ส.ส.ได้ครบ 376 เสียง และไม่สามารถพึ่งพาเสียงจาก ส.ว. ได้ พรรคที่ได้คะแนนอันดับ 2 นั่นคือ “เพื่อไทย” ก็จะมีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล โดยคาดการณ์กันว่า เพื่อไทยอาจรวมเสียง ส.ส. จากทั้งซีกฝ่ายค้านและซีกรัฐบาลเดิมได้ 273 เสียงจาก 5 พรรค ได้แก่ ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ประชาชาติ ชาติไทยพัฒนา และชาติพัฒนากล้า ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์กันว่า พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรคขณะนี้ สามารถที่จะรวมเสียงโหวตนายกรัฐมนตรีจากฝั่ง ส.ว.ได้จนครบ 376 เสียง หรือ มีเสียงมาเติมได้อีกอย่างน้อย 103 พรรคเพื่อไทย ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้เช่นกัน 

ขณะที่ ส.ว. ซึ่งมีที่มาจาก คสช. ยังเป็นโอกาสสำหรับการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งประกอบไปด้วยพรรครัฐบาลเดิม ได้แก่ ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนากล้า รวมกัน 183 เสียงและอาศัยเสียงจาก ส.ว.อีก 193 เสียง ก็จะครบ 376 เสียงได้นายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย แม้สูตรนี้ดูจะเป็นทางเลือกที่เกิดขึ้นได้น้อยในเวลานี้ก็ตาม และยังเต็มไปด้วยความเสี่ยง และเสถียรภาพรัฐบาลที่ไม่มั่นคง เมื่อต้องอาศัยเสียงจาก ส.ส.ฝ่ายค้าน หรือ ที่มักเรียกกันว่า งูเห่า ในกรณีที่ต้องพิจาณา หรือ โหวตเรื่องสำคัญ เช่น กฎหมายสำคัญ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ รวมถึงการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งนอกจากจะขาดอำนาจการต่อรองแล้ว หากโหวตไม่ผ่าน รัฐบาลต้องรับผิดชอบไม่ยุบสภา ก็ลาออก และนั่นอาจนำไปสู่การที่ต้องเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง

ขณะเดียวกัน ย้ำอีกครั้งว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี นั่นหมายความว่า รัฐบาลรักษาการ โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสามารถทำหน้าที่รัฐบาลรักษาการต่อไปได้เรื่อยๆจนกว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

ชาลี คงเปี่ยม