ป่าทับลาน หรือ ป่าทับคน ? ต้อง save คน หรือ save ป่า ?

ภายหลัง #saveทับลาน ขึ้นเทรนด์ใน X (Twitter) อันดับ 1 ต่อกัน 2 วันติด จากกระแสเรียกร้องลงชื่อคัดค้านการเฉือนอุทยานแห่งชาติทับลาน จ.ปราจีนบุรี จ.นครราชสีมา และ จ.สระแก้ว ซึ่งมีการพูดถึงกรณีมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุผลกระทบ 6 ประการหากเพิกถอนพื้นที่อุทยานดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ภายหลังได้เกิดกระแสโต้กลับการลงชื่อคัดค้านดังกล่าว มีการพูดถึง #saveชาวบ้านทับลาน ชี้ให้เห็นอีกมิติหนึ่งของปัญหา ซึ่งคือปัญหาที่ชาวบ้านรอบป่าทับลานประสบมาตลอดตั้งแต่ปี 2524 ที่มีการประกาศเขตอุทยานทับเขตทำมาหากินของประชาชน

The Active ชวนสำรวจสถานการณ์การพูดถึง #saveทับลาน เรื่อยมาจนถึง #saveชาวบ้านทับลาน ตั้งแต่วันที่ 8 – 9 ก.ค. 2567 ผ่านเครื่องมือ Zocial Eye ว่าผู้คนบนโลกโซเชียลพูดถึงกรณี ‘ทับลาน’ ว่าอย่างไร ? ผู้คนโต้เถียงกันเรื่องอะไรบ้าง ? มีคำไหนที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงมากหรือไม่ ?

ภาพรวมพบว่า มีการพูดถึงรวม 35,553 ข้อความ และ 2.89 ล้านเอ็นเกจเมนต์ ส่วนใหญ่พูดถึงใน Facebook ที่ 82.17% และ X (Twitter) ที่ 8.5% และอื่น ๆ ที่ 9.33%

หากพิจารณาแยกแต่ละแฮชแท็กพบว่ามีการใช้ #saveทับลาน เป็นหลัก รวม 1.73 ล้านเอ็นเกจเมนต์ ในขณะที่ #saveชาวบ้านทับลาน ซึ่งเป็นแฮชแท็กที่เกิดขึ้นมาภายหลังเพื่อมให้คนตระหนักถึงปัญหาชาวบ้านมากขึ้น มีประมาณ 8.29 พันเอ็นเกจเมนต์ แม้จะมียอดเอ็นเกจเมนต์น้อยกว่า แต่ภายหลังมีการพูดถึงเรื่องสิทธิของชาวบ้านทับลานมากขึ้นใน #saveทับลาน

โดยมีคำที่ถูกพูดถึงเรียงตามลำดับดังนี้

ทับลาน

ผืนป่าที่ต้อง ‘รักษา’ และ ‘อนุรักษ์’ ไว้

มีการพูดถึงคำว่า รักษา / อนุรักษ์ รวม 6.46 แสนเอ็นเกจเมนต์

ฝ่ายที่คัดค้านการเฉือนป่ามองว่า ควรคัดค้านเพื่อรักษาพื้นที่ป่าไม้ รวมถึงถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า รวมไปถึงมีการแชร์คำพูดของสืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ว่า “ในธรรมชาติซึ่งเราสร้างไม่ได้ ทำไมเราไม่รักษาเอาไว้” สะท้อนให้เห็นกระแสตื่นตัวการรักษาและอนุรักษ์พื้นที่ป่าตรงนี้ไว้ กังวลว่าการเฉือนอุทยานจะทำให้พื้นที่ป่าหายไป

ในขณะที่ฝ่ายโต้กลับ (ซึ่งคือฝ่ายที่มองว่าควรคำนึงถึงปัญหาที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบ) ค่อนข้างมีความเห็นที่สอดคล้องกัน แต่ระบุเพิ่มว่าต้องพิจารณาให้รอบด้าน โดยกล่าวว่า การรักษาผืนป่าเป็นเรื่องที่จำเป็นเช่นเดียวกัน แต่ก็ต้องควบคู่กับการเยียวยาชาวบ้านซึ่งอยู่มาก่อนที่จะประกาศเขตพื้นที่อุทยานให้มีพื้นที่ทำกิน รวมไปถึงมีความเห็นที่มองว่า ชาวบ้านบางคนมีส่วนในการทำลายป่าจริง จึงควรที่จะจัดให้มีโครงการเพื่อให้ชาวบ้านดังกล่าวมีส่วนร่วมในการรักษาพื้นที่ป่าด้วย

‘ชาวบ้าน’ ในพื้นที่เห็นด้วย

มีการพูดถึงคำว่า ชาวบ้าน รวม 5.32 แสนเอ็นเกจเมนต์

ทั้งสองฝ่ายระบุว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่เห็นด้วยกับการเฉือนป่า แบ่งโฉนดที่ดิน ส.ป.ก. เนื่องจากมองว่าพื้นที่ดังกล่าวที่จะได้จะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับตัวชาวบ้านเอง รวมไปถึงสามารถส่งต่อที่ดินดังกล่าวให้ลูกหลานได้

ที่แตกต่างคือ ทางฝั่งคัดค้านกังวลว่าการแจกที่ดินให้ชาวบ้าน จะตกไปสู่มือของนายทุนในท้ายที่สุด ในขณะที่ฝั่งโต้กลับมองว่า พื้นที่ดังกล่าวมีชาวบ้านเข้ามาอยู่ก่อนที่รัฐจะประกาศเขตอุทยานทับที่ทำมาหากินขงชาวบ้าน ซึ่งก็มีการเรียกร้องให้รัฐมีมาตรการเยียวยาชาวบ้านในพื้นที่พิพาทดังกล่าว

เฉือนเอื้อ ‘นายทุน’

มีการพูดถึงคำว่า นายทุน รวม 5.04 แสนเอ็นเกจเมนต์

ฝ่ายคัดค้านแสดงท่าทีเป็นกังวลต่อการเฉือนป่า ระบุอาจเอื้อประโยชน์ให้นายทุนสามารถเข้ามาใช้พื้นที่เพื่อหาผลประโยชน์ได้ โดยยกตัวอย่างจากกรณีรีสอร์ทต่าง ๆ ที่ปรากฎในพื้นที่เขตอุทยาน

ฝ่ายโต้กลับมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน มองว่าต้องระวังการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนเช่นเดียวกัน แต่ก็ต้องควบคู่กับการเยียวยาชาวบ้าน บางส่วนยังมองว่ามีนายทุน นักการเมือง และข้าราชการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากการพื้นที่ดังกล่าวจริง

ควร-ไม่ควร ‘ลงชื่อ’ คัดค้าน ?

มีการพูดถึงคำว่า ลงชื่อ รวม 2.93 แสนเอ็นเกจเมนต์

แรกเริ่ม ฝ่ายคัดค้านมีการขอความร่วมมือประชาชนในการร่วมลงชื่อคัดค้านการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ในประกาศรับฟังความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียชุมชนที่เกี่ยวข้องและประชาชน โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

อย่างไรก็ตาม อีกผ่ายมองว่า การลงชื่อดังกล่าวจะกระทบต่อสิทธิและกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง และมองว่าเป็นการแทรกแซงจากคนภายนอกด้วย

โครงการ “One Map” เจ้าปัญหา

มีการพูดถึงคำว่า One Map รวม 2.63 แสนเอ็นเกจเมนต์

ฝั่งคัดค้านมีการพูดถึงที่มาที่ไปว่า เป็นมติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) สมัยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ปรับปรุงแนวเขตตาม One Map โดยส่งผลให้เกิดข้อถกเถียงในปัจจุบัน ซึ่งหากแบ่งเขตตาม One Map จะทำให้พื้นที่อุทยานลดลง 265,000 ไร่ และมีการพูดถึงกรณีชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ ประกาศ ไม่เชื่อในคณะกรรมการ One Map กังวลว่าหากประกาศใช้การแบ่งเขตตาม One Map จะเอื้อนายทุน

ในขณะที่ฝั่งโต้กลับมีการพูดถึงกรณีชาวบ้านวังน้ำเขียวออกมาระบุว่า ทางชัยวัฒน์ให้ข่าวเพียงด้านเดียว โดยมีจุดประสงคืเพื่อคัดค้านการแบ่งเขตตาม One Map ซึ่งจะกระทบต่อการแบ่งโฉนดให้ชาวบ้าน รวมไปถึงการเคลื่อนไหวจากพูนศักดิ์ จันทร์จำปี ประธานคณะกรรมมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งดัน One Map แก้ปัญหาทับซ้อนที่ดินควบคู่การดูแลป่าไม้

‘มูลนิธิสืบฯ’ คัดค้าน

มีการพูดถึงคำว่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร รวม 2.60 แสนเอ็นเกจเมนต์

พูดถึงกรณีมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ออกจดหมายปิดผนึกคัดค้านการเพิกถนพื้นที่ดังกล่าว เปิด 6 ผลกระทบในด้านต่าง ๆ เช่น ผิดกฏหมายป่าสงวนแห่งชาติ เอื้อประโยชน์ต่อนายทุน ฯลฯ

ขายโฉนด “ส.ป.ก.” ?

มีการพูดถึงคำว่า ส.ป.ก. รวม 2.01 แสนเอ็นเกจเมนต์

ฝ่ายคัดค้านมีการเล่าถึงที่มาที่ไปของการแจกโฉนด ส.ป.ก. รวมไปถึงมีความกังวลว่า การแจกโฉนด ส.ป.ก. ดังกล่าว จะทำให้ชาวบ้านขายต่อโฉนดและพื้นที่ให้กับนายทุนหรือไม่

แต่ฝั่งโต้กลับก็ได้แย้งว่า ตามกำหมายแล้ว โฉนด ส.ป.ก. ไม่สามารถขายต่อได้

“ชัยวัฒน์” ออกมาค้าน – ขุดอดีตเอี่ยวคดีบิลลี่

มีการพูดถึงคำว่า ชัยวัฒน์ รวม 1.20 แสนเอ็นเกจเมนต์

ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ เป็นหนึ่งในกำลังหลักในการออกมาคัดค้านการเฉือนอุทยานฯ โดยในโลกโซเชียลมีการอ้างอิงถึงคำพูดต่าง ๆ ของ ผอ. คนนี้ เช่น หากเฉือนพื้นที่ป่าตรงนี้ไป จะลามไปยังป่าอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่โต้กลับมีการพูดถึงกรณีที่ชัยวัฒน์ เกี่ยวข้องกับคดีอุ้มหาย บิลลี่ – พอละจี รักจงเจริญ แกนนำชุมชนกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยระบุว่า ชัยวัฒน์ถูกศาลตัดสินจำคุก 3 ปีไม่รอลงอาญา จากความผิด ม.157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แม้ว่าศาลจะยกฟ้องในข้อกลาวหาฆาตกรรมบิลลี่ เพราะไม่มีหลักฐานเพียงพอก็ตาม มีการพูดถึงว่าจากกรณีดังกล่าวอาจสะท้อนการทำงานของเจ้าหน้าที่อุทยาน ว่ามีมุมมองต่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าอย่างไรบ้าง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธนธร จิรรุจิเรข

สงสัยว่าตัวเองอยากเป็นนักวิเคราะห์ data ที่เขียนได้นิดหน่อย หรือนักเขียนที่วิเคราะห์ data ได้นิดหน่อยกันแน่