วัคซีนโควิด-19 ของไทย พัฒนาไปถึงไหนแล้ว?

: 2 วัคซีนไทยกำลังเริ่มทดสอบในคนระยะที่ 2 คาด ผลิตใช้จริง กลางปี ’65

ท่ามกลางปัญหาวัคซีนโควิด-19 ทั้งข้อถกเถียงเรื่องประสิทธิภาพและปริมาณที่มีไม่เพียงพอต่อการรับมือการแพร่กระจายของไวรัส จากการจัดหาและนำเข้าที่ล่าช้า ขณะเดียวกันนักวิจัยไทยก็เริ่มพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยีที่หลากหลาย

The Active สำรวจข้อมูลพบว่าขณะนี้มีมากกว่า 20 ชนิดที่เริ่มทำการทดสอบเบื้องต้น แต่มีวัคซีน 4 ชนิดที่มีความก้าวหน้าในระดับเริ่มการทดสอบในมนุษย์

“ChulaCov19” และ “HXP – GPO Vac” คือวัคซีนโควิด-19 ที่เริ่มทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 แล้ว จากทั้งหมด 3 ระยะ จึงจะผลิตใช้กับคนทั่วไปได้ โดยคาดว่าอย่างเร็วที่สุด จะผลิตใช้จริง กลางปี 2565

วัคซีน ChulaCov19

ประสบความสำเร็จไปแล้วสำหรับการทดสอบในมนุษย์ระยะแรก สำหรับวัคซีน “ChulaCov19” ด้วยเทคโนโลยี mRNA

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2564 “ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม” ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผลทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1 กับกลุ่มอายุ 18-55 ปี จำนวน 36 คน ขณะที่อาสาสมัครกลุ่มสูงวัยอายุ 56-75 ปี ยังอยู่ระหว่างการฉีดเข็มที่ 2 

จากการทดลองดังกล่าวในกลุ่มอายุ 18-55 ปี พบว่ามีอัตราการยับยั้งการติดเชื้อสูงเทียบเท่าไฟเซอร์ที่ 94% ขณะที่แอสตราเซเนกาและซิโนแวคมีประสิทธิภาพยับยั้ง 84% และ 68% ตามลำดับ พร้อมเดินหน้าทดสอบในมนุษย์ระยะ 2 แล้ว พร้อมตั้งเป้าผลิตออกมาทันใช้เป็นเข็ม 3 เพื่อคนไทย เดือน เม.ย. 2565 พร้อมต่อยอดสร้างสูตร 2-3 รับไวรัสกลายพันธุ์ 

วัคซีน HXP – GPO Vac

อีกหนึ่งวัคซีนโควิด-19 ที่คืบหน้าไปมากและกำลังเข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 คือ “HXP – GPO Vac” จากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมกับ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยนวัตกรรมเชื้อตายชนิดลูกผสม ผลิตด้วยเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก เช่นเดียวกับการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่

วันที่ 16 ส.ค. 2564 “นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์” ผู้อำนวยการ อภ. ระบุว่า องค์การฯ ได้เริ่มทำการศึกษาวิจัยในมนุษย์ระยะ 2 กับอาสาสมัคร จำนวน 250 คน อายุ 18-75 ปี ที่มีสุขภาพดี ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทุกชนิดมาก่อน และไม่เคยเป็นผู้ป่วยโควิด-19 มาก่อน

เมื่อการศึกษาวิจัยในมนุษย์ครบทั้ง 3 ระยะและได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับ เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำเร็จ คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในกลางปี 2565 โดยจะสามารถผลิตได้ 20-30 ล้านโดสต่อปี และจะทำการขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง ในเบื้องต้นนี้วัคซีน “HXP–GPOVac” จะสามารถรองรับการฉีดเพื่อป้องกันโควิด-19 ให้ชาวไทยได้ 10-15 ล้านคน

วัคซีนพ่นจมูก สวทช.

วัคซีนโควิด-19 ไม่ได้มีแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้ออย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังวัคซีนพ่นทางโพรงจมูก ชนิด Adenovirus และ Influenza virus โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค

วันที่ 9 ส.ค. 2564 “อนันต์ จงแก้ววัฒนา” นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงผลการทดสอบเบื้องต้นกับสัตว์ พบว่า หนูทดลองนอกจากไม่มีอาการป่วยแล้ว ยังมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น เตรียมเดินหน้าการวิจัยทดสอบวัคซีนนี้ ในอาสาสมัครมนุษย์ รูปแบบที่สร้างจากไวรัสสายพันธุ์เดลตา ระยะแรกปลายปี 2564 และต่อเนื่องระยะ 2 ในเดือน ม.ค. 2565 หากได้ผลดีจะสามารถผลิตใช้ได้ประมาณกลางปี 2565

จากนี้จะมีการยื่นเอกสารต่อ อย. เพื่อขอทดสอบในมนุษย์ โดยจะร่วมกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ วางแผนทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนกับเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา หากได้รับอนุมัติเร็ว คาดว่าจะเริ่มทดสอบในมนุษย์เฟสแรกปลายปี 2564 นี้ และต่อเนื่องเฟส 2 ในเดือนมีนาคม ปี 2565 หากได้ผลดีจะสามารถผลิตออกมาใช้ได้ประมาณกลางปีหน้า

วัคซีน Baiya SARS-Cov-2 Vax1

วัคซีนโควิด-19 ส่วนใหญ่มักผลิตจากสารพันธุกรรมของไวรัส แต่นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีการผลิตโมเลกุลโปรตีนจากพืช คือใส่ยีนเข้าไปในพืช แล้วใช้กระบวนการผลิตของพืช ผลิตโปรตีนที่ต้องการ โปรตีนที่ได้จึงมีความบริสุทธิ์ ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เป็นเทคโนโลยีที่มีมากว่า 15 ปี เคยใช้รักษาโรคอีโบล่า

“รศ.วรัญญู พูลเจริญ” ผู้คิดค้นวัคซีนจากใบยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี และ “ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ” ประธานกรรมการบริหาร ทั้งสองทำงานแบบสตาร์ทอัพ ในนามบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ในความดูแลของ CU Enterprise การวิจัยพัฒนาวัคซีนชนิด Protein Subunit ดำเนินการโดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด, คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ล่าสุดการทดลองระยะที่ 1 ในมนุษย์ กับอาสาสมัครจำนวน 50 คน อายุ 18 – 60 ปี จะเริ่มในเดือน ก.ย. 2564 เมื่อทดสอบกับอาสาสมัครกลุ่มแรกเสร็จก็จะทดสอบวัคซีนกับอาสาสมัครกลุ่มอายุ 60–75 ปี ต่อไป คาดว่าวัคซีนใบยาจะพร้อมฉีดให้คนไทยช่วงกลางปี 2565

วัคซีนใบยาผ่านการทดสอบในหนูและลิง ด้วยการฉีด 2 เข็มห่างกัน 3 สัปดาห์ ผลการทดสอบปรากฏว่าลิงมีความปลอดภัย และไม่เกิดผลข้างเคียง การผลิตวัคซีนจากใบยาสูบนี้ สามารถผลิตได้ประมาณ 10,000 โดสต่อเดือนในห้องทดลองขนาดเล็กเท่านั้น จึงนับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคระบาดในอนาคต


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์