2 คู่โชว์ : “Thailand Talks” ปี 2 เห็นต่างคุยกันได้!

สร้างเมล็ดพันธุ์ใหม่ ลดความขัดแย้งสังคมไทย

Thailand Talks ปี 2  พิเศษกว่าครั้งแรก โดยมีคู่เห็นต่างมาโชว์ในงาน 2 คู่ คือ ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ กับ เอิร์ธ-พงศกร ขวัญเมือง และ ช่อ-พรรณิการ์ วานิช กับ จ๊อบ-สามารถ เจนชัยจิตรวนิช ซึ่งทั้งสองคู่ ได้พูดคุยกันเรื่อง การเมือง การศึกษา สวัสดิการ อนาคตประเทศไทย ความเป็นส่วนตัว ฯลฯ แบบตัวต่อตัว ความคิดต่อความคิด ที่ชั้น 9 อาคารสยามสเคป ​กรุงเทพฯ


Thailand Talks เป็นแพลตฟอร์ม หรือกลไกใหม่ที่ไร้คนกลาง มีเฉพาะแค่คู่เห็นต่างมานั่งคุยกันแบบตัวต่อตัว พัฒนาต่อยอดมาจาก โมเดลจาก My Country Talks เยอรมนี ซึ่งเวลานี้หลายประเทศทั่วโลกพยายามใช้วิธีนี้ในการเปิดพื้นที่ให้คนเห็นต่างได้มาเจอกัน

ชุดคำถาม : “จ่ายภาษีเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพื่อสวัสดิการที่ดีขึ้น ?”
ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ VS เอิร์ธ-พงศกร ขวัญเมือง

“เวลานี้สังคมมีความไม่แน่นอนสูง มีวิกฤตที่คาดการณ์ไม่ได้ เช่น โควิด19 ทำให้ชีวิตผู้คนพลิกผัน โลกไม่แน่นอน รัฐจำเป็นต้องมีหลักประกันคุณภาพชีวิตประชาชน…

งบประมาณ 3.185 ล้านล้านบาท ควรจัดสรรสร้างความโปร่งใสเต็มประสิทธิภาพ ก่อนเพิ่มการลงทุนที่เป็นภาระของคนหมู่มาก…”

ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ

“การจ่ายภาษีเพิ่มจำเป็นต้องทำให้ประชาชน ผู้เสียภาษี ต้องรู้ด้วยว่าจ่ายไปไหน จ่ายไปกับสิ่งที่เราต้องการหรือไม่.. ส่วนตัว ผมยังไม่พร้อมจ่าย ตอนนี้งบประมาณที่มียังสามารถจัดสรรได้ใหม่ ตัดส่วนที่ไม่จำเป็นและใส่เพิ่มในสวัสดิการประชาชนแทน”

เอิร์ธ-พงศกร ขวัญเมือง

ไอติม-พริษฐ์ มองถึง 3 เป้าหมายเคลื่อนประเทศ คือ การจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานได้ ภายใต้ระบบประชาธิปไตยที่สังคมเคารพสิทธิ และความเสมอภาค

สอดคล้อง เอิร์ธ-พงศกร คู่เห็นต่างที่มองว่า รัฐจำเป็นต้องแทรกแซงให้การช่วยคนยากจนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องมีนโยบายให้สามารถแข่งขันด้านเศรษฐกิจได้อย่างเสรี และเท่าเทียม โดยมองถึง 3 ปัจจัยที่จะทำให้ประเทศเคลื่อนไปข้างหน้าได้ คือ การมีนโยบายที่ดี, มีคนทำนโยบายที่ดี สามารถทำให้นโยบายไปถึงการปฏิบัติได้, และจำเป็นต้องมีความต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ทั้งคู่ ตอบในหัวข้อคำถามการจ่ายภาษี กับสวัสดิการสังคม ซึ่งทั้งสองคน มองว่าการจ่ายภาษีจำเป็นต้องโปร่งใส และเวลานี้ยังควรจัดสรรตามงบประมาณที่มีให้ได้ก่อน เพราะ เป็นยังมีงบประมาณบางส่วนที่นำมาจัดสรรสวัสดิการที่เป็นประโยชน์ให้กับประชาชนได้เช่นกัน

ชุดคำถาม : “การแสดงออกควรมาพร้อมกาลเทศะหรือไม่ ?”

สามารถ เจนชัยจิตรวนิช VS ช่อ-พรรณิการ์ วานิช

ขณะที่คู่ระหว่าง สามารถ เจนชัยจิตรวนิช กับ ช่อ พรรณิการณิการณ์ วานิช ค่อนข้างมีความเห็นต่างกันอย่างชัดเจน โดยตีความคำว่ากาลเทศะค่อนข้างแตกต่างกัน ​ซึ่ง สามารถ ย้ำว่า กาลเทศะ ที่เหมาะสมเป็นส่วนสำคัญ ที่สังคมจะเป็นผู้กำหนดว่าอะไรเหมาะสม ?

ช่อ-พรรณิการ์ ถามกลับว่าใครในสังคมเป็นผู้กำหนดว่า “อะไรถูก เวลา และถูก สถานที่” โดยยกตัวอย่างโรงเรียน ผู้กำหนดความเหมาะสมส่วนใหญ่เป็นครู ไม่ใช่นักเรียน สะท้อน การกำหนดความเหมาะสมโดยผู้มีอำนาจเป็นสำคัญ ดังนั้น การปล่อยให้กาลเทศะ ครอบงำสิทธิเสรีภาพ สะท้อนถึง การเป็นผู้ฝักใฝ่อำนาจ และเผด็จการ แต่ไม่ใช่การแสดงสิทธิภาพ โดยเคารพในศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน

“ไทยมีรากเหง้า วัฒนธรรม อยากจะประท้วงก็สามารถแก้ผ้า โดยไม่เห็นด้วยกับการไม่เคารพสถานที่ผมไม่เห็นด้วย

เรามีสิทธิ์จะพูดแสดงความคิดเห็นได้ โดยคำว่าเหมาะสม จะมีสังคมเป็นตัวกำหนดว่า ใช่หรือไม่ ?”

สามารถ เจนชัยจิตรวนิช

“การปล่อยให้ ‘กาลเทศะ’ ครอบงำ ‘สิทธิเสรีภาพ’ สะท้อนถึง การเป็นผู้ฝักใฝ่อำนาจ และเผด็จการ แต่ไม่ใช่การแสดงสิทธิ เสรีภาพโดยเคารพในศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน”

ช่อ-พรรณิการ์ วานิช

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน