นับตั้งแต่ พ.ร.บ.ปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 มีผลบังคับใช้ ทำให้อาชีพพนักงานงานบริการ (Sex Worker) เป็นความผิดตามกฎหมายอย่างสมบูรณ์ แม้ต่อมาจะปรัปรุงกฎหมายอีกครั้ง เป็น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 แต่สถานะของ ผู้ซื้อ ผู้ขาย และเจ้าของสถานบริการ ยังไม่เปลี่ยนไป คือ มีโทษทางอาญา
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันดูเหมือนว่าการบังคับใช้กฎหมายที่มุ่งเน้นการปราบปราม ยังไม่สามารถลดความต้องการของผู้ที่กระโดดเข้ามาในธุรกิจบริการนี้ได้ และยังผลักให้กลายเป็นวงจรสีเทา ที่มีคนไม่กี่กลุ่มได้ประโยชน์ ขูดรีด ละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ที่ทำอาชีพนี้อย่างไรก็ได้
ขณะที่การเรียกร้อง ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ยังอยู่ในขั้นตอนรอเสนอเพื่อโหวตในสภาผู้แทนราษฎร
วันที่ 24 ต.ค. 2566 ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่องกำหนดเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีอำนาจปรับเป็นพินัย ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 โดยมี วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นผู้ลงนาม
สาระสำคัญ กำหนดให้เปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียว เปลี่ยนเป็น ความผิดทางพินัยซึ่งต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539
“ผู้ใดเข้าติดต่อ ชักชวน แนะนำตัว ติดตาม หรือรบเร้าบุคคลตามถนนหรือสาธารณสถาน หรือกระทำการดังกล่าวในที่อื่นใด เพื่อการค้าประเวณีอันเป็นการเปิดเผยและน่าอับอาย หรือเป็นที่เดือดร้อนคำราญแก่สาธารณชน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท”
ม.5 แห่ง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539
ให้อำนาจ “ปรับเป็นพินัย” เป็นของเจ้าหน้าที่ พม. เท่านั้น
กฎหมายฉบับนี้ ยังถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ปรับเป็นพินัย ตาม มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 จาก ‘ฝ่ายปกครอง’ หรือ ‘ตำรวจ’ เป็น ‘เจ้าหน้าที่รัฐ 3 คน’ ประกอบด้วย
- ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
- ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ กองคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
- นักพัฒนาสังคมซึ่งดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการขึ้นไป สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ กองคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
The Active สอบถามไปยัง กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้ข้อมูลว่า ขณะที่ยังอยู่ระหว่างการชี้แจงหนังสือเวียนไปยังสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ถึงแนวทางตามประกาศฉบับดังกล่าว คาดว่าจะมีความชัดเจนในเร็ว ๆ นี้
SWING เปิดสถิติ Sex Worker ถูกจับ – ปรับ – จำคุก
ข้อมูลจาก มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) ภาคประชาสังคมที่ช่วยเพื่อน Sex Worker และเป็นหนึ่งในผู้เสนอ ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ภาคประชาชน พบว่า จากการเก็บข้อมูลสถานการณ์ Sex Worker ในประเทศไทย เฉพาะกรุงเทพฯ และพัทยา ระหว่างวันที่ 25 – 31 พ.ค. 2566 หรือ ก่อนปรับเป็นพินัยมีผลบังคับใช้ พบผู้ถูกดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับโดยตำรวจ อย่างน้อย 30 คน เฉลี่ยอยู่ที่ 100 – 1,000 บาทต่อคน และที่ถูกคุมขังบนโรงพัก 6 คน จำนวน 1 – 4 วัน เนื่องจากไม่มีเงินชำระเป็นค่าปรับ
มูลนิธิ SWING ให้ข้อมูลด้วยว่า การปรับเป็นพินัย และถ่ายโอนภารกิจมาให้กับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว น่าจะช่วยให้สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน ในกลุ่ม Sex Worker ลดลง เนื่องจากลดแนวทางในการป้องกัน และปราบปราม มาเป็นสอดส่อง ดูแล ฟื้นฟู และที่ผ่านมายังได้ทำงานร่วมกันเพื่อปรับแก้กฎหมายเอาผิด Sex Worker แม้จะมีทิศทางที่แตกต่างกัน แต่มีจุดยืนร่วมกันคือ คุ้มครองสิทธิ และคืนศักดิ์ศรีให้กับ Sex Worker
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติยังพบว่า มีตำรวจส่วนหนึ่งดำเนินการเรียกค่าปรับอยู่ โดยที่ Sex Worker ยังไม่ทราบถึงประกาศฉบับนี้ จึงเร่งสื่อสารสร้างความเข้าใจให้กับเพื่อน Sex Worker หากถูกตำรวจล่อซื้อ – จับกุม หรือเปรียบเทียบปรับ ให้ปฏิเสธ และชี้แจง พ.ร.บ. ปรับเป็นพินัย หากตำรวจยังฝ่าฝืน จะถือว่ามีความผิด ฐานเรียกรับสินบน ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมีโทษทางอาญา ถึงให้ออกจากราชการ