บทสรุป เลือกสว. 200 คน: ถอดรหัสกลเกมจากผลการเลือก สว.

กระบวนการการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดที่ 13 สิ้งสุดลงเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา รวมเวลากว่า 47 วัน นับตั้งแต่ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ พ.ร.ก. ให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2567 คัดสรรผู้สมัครกว่า 46,000 คน เหลือเพียง สว. จำนวน 200 คน

กระบวนการการเลือก สว. ระดับประเทศ เริ่มตั้งแต่เวลา 08.00 น. ของวันที่ 26 มิ.ย. ก่อนจะเสร็จสิ้นกระบวนการการนับคะแนนรอบเลือกไขว้ในเวลา 04.00 น. ของวันที่ 27 มิ.ย. รวมใช้เวลาราว 20 ชั่วโมง โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะมีการตรวจสอบคะแนน และจะรับรองผลอย่างเป็นทางการเร็ว ๆ นี้

กกต. เปิด 4 กลโกงเกมเลือก สว. เตรียมหาข้อเท็จจริงรวบผู้ทุจริต

ในรอบการเลือกระดับประเทศที่ผ่านมา กกต. เปิดประเด็น พบมีความเคลื่อนไหวที่ส่อเค้ากลโกงการเลือก สว. หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น

  1. ต่อรองเรียกรับผลประโยชน์หลักแสน แลกกับการลงคะแนนโหวตให้ 
  2. กลุ่มการเมืองหนุนหลังผู้ผ่านระดับจังหวัด ล็อบบี้และรวบรวมผู้ผ่าน สว. ระดับจังหวัดคนอื่น ๆ เพื่อให้กลุ่มของตนมีผู้มีสิทธิ์เลือกมากที่สุด 
  3. มีคนกลางจองห้องพักโรงแรมใกล้สถานที่เลือก และนัดรวมตัวกันก่อนวันเลือก เพื่อหวังนำจำนวนเสียงที่รวบรวมได้ ไปเรียกรับผลประโยชน์เป็นเงินหลักล้านบาท
  4. ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ติดต่อไปยังผู้ได้รับเลือกเป็น สว. ระดับจังหวัดในพื้นที่ ทุกกลุ่มอาชีพ เพื่อให้มาอยู่กับกลุ่มตน

ยืนยันชัดเจนว่า การเลือก สว. ครั้งนี้ มีการใช้สารพัดรูปแบบและวิธีการเพื่อต่อรองผลประโยชน์ หวังเอาชนะ หวังผลทางการเมืองในตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา

กกต. ได้รับทราบข้อมูลในการจัดกิจกรรมดังกล่าวมาก่อนหน้านี้แล้ว จึงได้สั่งการผู้ตรวจการเลือกตั้ง และพนักงานสืบสวนของทุกจังหวัด  ลงพื้นที่ที่ใช้ในการจัดกิจกรรมตามที่ได้รับแจ้งเบาะแส โดยได้รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมที่จะดำเนินการตามกฎหมายแก่ผู้กระทำความผิดไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สว.

The Active พาดูข้อมูลว่าที่ สว. ทั้ง 200 คน จาก iLaw และ กตต. สำรวจข้อมูลเบื้องต้นของว่าที่ สว. ทั้ง 200 คน จับพิรุธกลเกมการเลือก สว. ในครั้งนี้ นอกเหนือจากที่ กกต. ได้เปิดเผยแล้ว ยังพบอีกหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นโพยที่ตกแถวสนามการเลือก การลงคะแนนรอบเลือกกันเองในหมายเลขและลำดับเดียวกัน คะแนนรอบเลือกไขว้ที่สูงลิ่วจากคนอื่น ๆ

สัดส่วนผู้หญิงลดลงเหลือไม่ถึง 1 ใน 4

สัดส่วนของผู้หญิงในสนามการเลือก สว. นี้น้อยลงเรื่อย ๆ ตั้งแต่รอบรับสมัคร เรื่องมาจนถึงการเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ โดยจากรอบรับสมัครลดลงกว่า 19.16% เหลือสัดส่วนผู้หญิงเพียงแค่ 23% หรือ 46 คนเท่านั้น ในขณะที่มีผู้ชาย 77% หรือ 154 คน

โดยจำนวนผู้หญิง 46 คน นี้ อยู่ในกลุ่มที่ 14 – กลุ่มสตรี ไปแล้ว 10 คน และเหลือกระจายอยู่กลุ่มอื่น ๆ เพียง 36 คน แสดงให้เห็นว่าแม้จะมีกลุ่มสตรีแยกต่างหาก แต่จำนวนผู้หญิงในสภาสูงแห่งนี้ก็ยังน้อยอยู่ดี

จำนวนเกินครึ่งอยู่ในวัยหลังเกษียณ

หากพิจารณาอายุของว่าที่ สว. ชุดใหม่จะพบว่า อายุน้อยที่สุดอยู่ที่ 40 ปี และมากที่สุดอยู่ที่ 78 ปี และมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 58.62 ปี หากแบ่งตามเพศจะพบว่า อายุเฉลี่ยของว่าที่ สว. เพศชายอยู่ที่ 59.32 ปี และเพศหญิงที่ 56.24 ปี

หากแบ่งตามช่วงอายุ จะพบว่าช่วงอายุที่มีจำนวนคนอยู่มากที่สุดคือช่วง 60 – 69 ปี ซึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่รอบสมัคร จนได้เป็นว่าที่ สว. มีสัดส่วนคิดเป็น 51.50% และแยกตามช่วงอายุได้ ดังนี้

  • อายุ 40 – 49 ปี มีจำนวน 40 คน (20.00%)
  • อายุ 50 – 59 ปี มีจำนวน 43 คน (21.50%)
  • อายุ 60 – 69 ปี มีจำนวน 103 คน (51.50%)
  • อายุ 70 – 79 ปี มีจำนวน 14 คน (7.00%)
  • ไม่มีสว. ในช่วงอายุ 80 – 89 ปี และ 90 – 92 ปี

ว่าที่ สว. ที่ได้ อาจขาดเสียงของคนบางกลุ่ม ?

ตัวอย่างจากกลุ่มที่ 15 – ผู้สูงอายุ คนพิการ ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์อื่น จากใบแนะนำตัวของผู้สมัคร (ใบ สว.3) พบว่า ว่าที่ สว. ทั้ง 10 คน เป็นผู้สูงอายุทั้งหมด ไม่มีคนพิการ ชาติพันธุ์ หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นตัวแทนอยู่เลย นอกจากนี้ มีเพียง 2 คนเท่าที่ระบุว่ามีประสบการณ์การทำงานด้านชาติพันธุ์และคนพิการ

หรืออีกตัวอย่างจากกลุ่มที่ 20 – อื่น ๆ ที่มีรายละเอียดการสมัครที่ไม่ชัดเจน ทำให้ไม่ว่าใครก็สามารถสมัครกลุ่มนี้ได้ แม้จะมีกลุ่มอื่นที่ตัวเองสามารถสมัครได้ก็ตาม โดยว่าที่ทั้ง 10 คน แบ่งเป็น ข้าราชการ 3 คน ผู้บริหารหรือที่ปรึกษาองค์กร 3 คน ตำรวจ 2 คน ค้าขาย 1 คน และนักวิชาการอิสระ 1 คน

แบ่งตามจังหวัด บุรีรัมย์ครองแชมป์ 14 คน

หากแบ่งตามจังหวัด จะพบว่าจำนวน สว. เฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ จังหวัดละ 2.60 คนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การเลือกที่ผ่านมามีจังหวัดบุรีรัมย์ที่ครองแชมป์ โดยมีว่าที่ สว. สูงถึง 14 คน รองลงมาคือ กรุงเทพฯ ที่ 9 คน ตามมาด้วยสุรินทร์ และอยุธยาที่ 7 คน อ่างทอง สตูล และสงขลาที่ 6 คน

นอกจากนี้ มีถึง 13 จังหวัด ที่ไม่มีว่าที่ สว. เลย ได้แก่ กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ตาก นราธิวาส เพชรบูรณ์ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ร้อยเอ็ด ลพบุรี สกลนคร สระแก้ว อุดรธานี และอุตรดิตถ์

ขณะที่บุรีรัมย์จังหวัดเดียวมีว่าที่ สว. ถึง 14 คน เป็นอีกคำถามกลับไปว่า กฎกติกาที่ซับซ้อนยุ่งยากและกีดกันประชาชนออกไปจากการมีส่วนร่วมขนาดนี้ ได้ให้ผลผลิตเป็น สว. ที่เข้าถึงประชาชน หรือเป็นตัวแทนของแต่ละพื้นที่ได้จริงหรือไม่

กระสุนบ้านใหญ่: จากสนาม สส. สะท้อนภาพสนาม สว.

หากเปรียบเทียบจำนวนว่าที่ สว. แต่ละจังหวัด กับสัดส่วน สส. ของแต่ละจังหวัด พบว่า ผลการเลือก สว. มีความเกี่ยวโยงกับพรรคการเมือง เช่น จังหวัดที่มีจำนวนว่าที่ สว. สูง มักจะเป็นจังหวัดที่มี สส. จากพรรคภูมิใจไทยครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในจังหวัด เช่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ อยุธยา อ่างทอง สตูล อุทัยธานี และอำนาจเจริญ

และแม้บางจังหวัดจะมีพรรคอื่น ๆ ครองสัดส่วนที่มากกว่า แต่จังหวัดที่ติดอันดับมีว่าที่ สว. สูง ๆ ก็จะสัดส่วนของ สส. พรรคภูมิใจไทยอยู่ในจังหวัดนั้น ๆ อยู่ดี เช่น สงขลาและนครศรีธรรมราช (พรรคประชาธิปัตย์ครองเป็นหลัก) ศรีสะเกษและเลย (พรรคเพื่อไทยครองเป็นหลัก) เป็นต้น นำมาสู่การตั้งคำถามว่า พรรคภูมิใจไทยมีส่วนรู้เห็นหรือจัดตั้งกลุ่มในการเลือก สว. ครั้งนี้หรือไม่

คะแนนรอบเลือกไขว้: 120 คน ใน 6 อันดับแรกสูงโดด แบ่งเกาะบน-เกาะล่างชัดเจน

ผลการเลือกในแต่ละกลุ่มอาชีพ เผยให้เห็นถึงความผิดปกติของคะแนน คือ ในรอบเลือกไขว้ระดับประเทศ หรือรอบสุดท้าย แต่ละสายมีอยู่ 200 คน ผลัดกันเลือกข้ามกลุ่ม (เลือกกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่กลุ่มตัวเอง) โดยพบว่าประมาณ 6 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม (หรือเกาะบน) มีคะแนนที่สูงมาก อยู่ที่ประมาณ 50 – 70 คะแนน รวม 120 คน

ในขณะที่อันดับ 7 – 10 ของแต่ละกลุ่ม (หรือเกาะล่าง) มีคะแนนอยู่ที่ประมาณ 20 – 30 คะแนนเท่านั้น ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า หรือนี่คือผลจากกลยุทธ์การโหวต เนื่องจากมีการแบ่งคะแนนที่ชัดเจน ซึ่งอาจเกิดจากการจัดตั้งและเทคะแนนให้คนบางคนเท่านั้น

พิรุธคะแนนเลือก สว. ระดับประเทศ

ในการเลือก สว. ระดับประเทศครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน เหมือนการเลือกในรอบที่ผ่าน ๆ มา ประกอบด้วย

  1. เลือกกันเอง : เลือกคนในกลุ่มเดียวกัน 10 คน (เลือกตัวเองได้) คัดเหลือกลุ่มละ 40 คน
  2. จับกลุ่ม แบ่งสาย : สุ่มแบ่งออกเป็น 4 สาย สายละ 5 กลุ่ม
  3. เลือกไขว้ : เลือกคนในกลุ่มอื่น (เลือกคนในกลุ่มตัวเองไม่ได้) กลุ่มละ 5 คน คัดเหลือกลุ่มละ 10 คน ได้เป็นว่าที่ สว. (มีสำรองอีกกลุ่มละ 5 คน)

หากพิจารณาจากคะแนนที่ได้จะพบว่า ในการเลือกครั้งนี้มีพิรุธทั้งในรอบเลือกกันเอง และรอบเลือกไขว้ ดังนี้

พิรุธ 1 : รอบเลือกกันเอง

ก่อนเริ่มการเลือกกันเอง จะมีผู้สมัครผ่านรอบเลือกระดับจังหวัดผ่านเข้ารอบระดับประเทศ จังหวัดละสูงสุดไม่เกิน 40 คน (จากโควต้าจังหวัดละ 2 คนต่อกลุ่ม) อย่างไรก็ตาม การเลือกกันเองในครั้งนี้มีบางจังหวัดที่ผ่านรอบเลือกกันเองไปต่อรอบเลือกไขว้เกือบทุกคน เช่น

  • บุรีรัมย์ ผ่านเข้า 38 คน จากรอบก่อนหน้า 40 คน
  • อยุธยา ผ่านเข้า 38 คน จากรอบก่อนหน้า 40 คน
  • สตูล ผ่านเข้า 38 คน จากรอบก่อนหน้า 40 คน
  • อ่างทอง ผ่านเข้า 37 คน จากรอบก่อนหน้า 40 คน
  • เลย ผ่านเข้า 37 คน จากรอบก่อนหน้า 40 คน
  • อำนาจเจริญ ผ่านเข้า 36 คน จากรอบก่อนหน้า 39 คน

นำมาสู่การตั้งคำถามว่าจังหวัดเหล่านี้มีกลุ่มจัดตั้งหรือไม่ เนื่องจากมีผู้สมัครผ่านไปต่อมีสัดส่วนที่สูงมาก เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั้งประเทศที่จังหวัดละ 10.39 คน

พิรุธ 2 : รอบเลือกไขว้

จากหัวข้อ “คะแนนรอบเลือกไขว้ : 120 คน ใน 6 อันดับแรกสูงโดด แบ่งเกาะบน-เกาะล่างชัดเจน” ที่ได้กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคะแนนแบ่งเกาะบน-ล่างชัดเจน หากพิจารณาแยกตามแต่ละจังหวัดจะพบว่า

บางจังหวัดมีคนผ่านมารอบเลือกไขว้ไม่เยอะ แต่ได้เป็นว่าที่ สว. เยอะ เช่น

  • กรุงเทพฯ ผ่านเข้ามารอบเลือกไขว้ 15 คน เป็นว่าที่ สว. รวม 9 คน
  • สงขลา ผ่านเข้ามารอบเลือกไขว้ 9 คน เป็นว่าที่ สว. รวม 6 คน
  • ศรีสะเกษ ผ่านเข้ามารอบเลือกไขว้ 11 คน เป็นว่าที่ สว. รวม 5 คน
  • อุทัยธานี ผ่านเข้ามารอบเลือกไขว้ 12 คน เป็นว่าที่ สว. รวม 5 คน

บางจังหวัดที่มีคนผ่านรอบเลือกกันเอง-ไปต่อรอบเลือกไขว้เยอะ ก็มีจำนวนว่าที่ สว. คะแนนอยู่เกาะบนเยอะตาม เช่น

  • บุรีรัมย์ ผ่านเข้ามารอบเลือกไขว้ 38 คน เป็นว่าที่ สว. ที่คะแนนอยู่เกาะบน 12 คน
  • อยุธยา ผ่านเข้ามารอบเลือกไขว้ 38 คน เป็นว่าที่ สว. ที่คะแนนอยู่เกาะบน 7 คน
  • อ่างทอง ผ่านเข้ามารอบเลือกไขว้ 37 คน เป็นว่าที่ สว. ที่คะแนนอยู่เกาะบน 5 คน
  • สตูล ผ่านเข้ามารอบเลือกไขว้ 38 คน เป็นว่าที่ สว. ที่คะแนนอยู่เกาะบน 6 คน
  • อำนาจเจริญ ผ่านเข้ามารอบเลือกไขว้ 36 คน เป็นว่าที่ สว. ที่คะแนนอยู่เกาะบน 5 คน
  • เลย ผ่านเข้ามารอบเลือกไขว้ 37 คน เป็นว่าที่ สว. ที่คะแนนอยู่เกาะบน 5 คน

บางจังหวัดมีว่าที่ สว. คะแนนอยู่เกาะบนเกือบทั้งหมด เช่น

  • สุรินทร์ เป็นว่าที่ สว. รวม 7 คน มีคะแนนอยู่เกาะบน 7 คน
  • สตูล เป็นว่าที่ สว. รวม 6 คน มีคะแนนอยู่เกาะบน 6 คน
  • เลย เป็นว่าที่ สว. รวม 5 คน มีคะแนนอยู่เกาะบน 5 คน
จังหวัดจำนวน
ว่าที่ สว. รวม
จำนวนว่าที่ สว.
ที่คะแนนอยู่เกาะบน
จำนวนว่าที่ สว.
ที่คะแนนอยู่เกาะล่าง
จำนวนผู้สมัครรวมที่ผ่านเข้ามารอบเลือกไขว้
(จากโควต้าจังหวัดละ 40 คน)
บุรีรัมย์1412238*
กรุงเทพฯ9915
สุรินทร์77*28
อยุธยา77*38*
อ่างทอง65137*
สตูล66*38*
สงขลา6429
อุทัยธานี54112
อำนาจเจริญ55*36*
ศรีสะเกษ52311
เลย55*37*
นครศรีธรรมราช5329

จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นจังหวัดที่มีว่าที่ สว. อยู่คะแนนเกาะบนมากที่สุด ที่ 12 คน (จาก 14 คน) รองลงมาคือ สุรินทร์ อยุธยา ที่ 7 คน (จาก 7 คน) ในจังหวัดที่มีว่าที่ สว. รวมสูงสุด 12 อันดับแรก มีเพียงกรุงเทพฯ เท่านั้น ที่ไม่มีว่าที่ สว. ที่คะแนนอยู่เกาะบนเลย

และจังหวัดที่มีคนผ่านรอบเลือกกันเองเกือบทุกคนที่กล่าวไปข้างต้น (บุรีรัมย์ อยุธยา สตูล อ่างทอง เลย อำนาจเจริญ) ก็ล้วนติดอันดับมีว่าที่ สว. รวมสูงที่สุด และมีจำนวนว่าที่ สว. ที่คะแนนอยู่เกาะบน ประมาณ 5 – 12 คน

การเลือกทั้งสองรอบที่เกิดขึ้นจึงอาจสะท้อนการจัดตั้งของคนบางกลุ่มในบางจังหวัดได้

โพยพิศวง และบัตรลงคะแนนเสียงรอบเลือกกันเอง

นอกจากการลงคะแนนที่ดูมีพิรุธแล้ว ยังมีหลักฐานอื่น ๆ ที่อาจส่อได้ว่ามีกลเกมในการเลือกกันเองครั้งนี้ หนึ่งในนั้นคือโพยซึ่งพบโดยสมชัย ศรีสุทธิยากร โพสต์ระบุว่า พบโพยสำเร็จรูป ทำตกแถวเมืองทองธานี

คาดการณ์ว่า น่าจะเป็นโพยของการเลือกในรอบเลือกไขว้ เนื่องจากมีการระบุเลขผู้สมัครของทุกกลุ่ม กลุ่มละ 5 คน ซึ่งตรงกับการเลือกไขว้ที่จะถูกสุ่มสาย ไม่รู้ว่าจะเจอกลุ่มใดบ้าง การมีโพยที่ระบุหมายเลขผู้สมัครของทุกกลุ่มจึงเป็นการเตรียมข้อมูลเพื่อเลือกได้อย่างดี และมีหมายเลขกลุ่มละ 5 คนซึ่งตรงกับจำนวนคนที่เลือกได้ในรอบเลือกไขว้พอดี

อย่างไรก็ตาม โพยดังกล่าวอาจจะไม่ใช่โพยจริงก็ได้ เนื่องจากเป็นการพบตกไว้

จากการตรวจสอบพบว่า จากจำนวนหมายเลขทั้งหมด 100 หมายเลขบนโพย มี 8 คนที่ได้เป็นว่าที่ สว. ตัวจริง มี 13 คนได้เป็นสำรอง และมี 16 คนที่ผ่านรอบเลือกกันเอง แต่ตกรอบเลือกไขว้ นอกจากนี้ยังพบว่า เกินกว่าครึ่งในโพยดังกล่าว ตกรอบไปตั้งแต่รอบเลือกกันเองแล้ว

อีกหนึ่งหลักฐานที่อาจจะชี้ได้ชัดเจนมากกว่าโพยที่ตกไว้ คือบัตรลงคะแนนเสียงในรอบเลือกกันเอง ซึ่งเผยแพร่ในไลฟ์ผ่านเพจของ กกต. โดยผู้ใช้บัญชี X (Twitter) @plapoo_o ได้ทำการถ่ายภาพหน้าจอการลงคะแนนเสียงในรอบเลือกกันเอง โดยพบว่าบัตรลงคะแนนของบางกลุ่มมีหมายเลขเหมือนกันทั้ง 10 หมายเลข และบางใบยังมีการเรียงลำดับหมายเลขเหมือนกันทั้งหมด โดยมีตัวอย่างของกลุ่ม 3 – การศึกษา กลุ่ม 5 – ทำนา กลุ่ม 9 – SMEs และกลุ่ม 11 – ท่องเที่ยว

โดยจากการตรวจสอบพบว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่ได้รับการเลือกในบัตรดังกล่าวได้เป็นสว. โดยเฉพาะกลุ่ม 3 – การศึกษา จากรูปเห็นทั้งหมด 7 หมายเลข ได้เป็นว่าที่ สว. 7 คน และกลุ่ม 5 – ทำนา จากรูปเห็นทั้งหมด 9 หมายเลข ได้เป็นว่าที่ สว. 6 คน

จากกลเกมทั้งหมดนำมาสู่การตั้งคำถามถึงกระบวนการการเลือก สว. ไม่ว่าจะเป็น

  • กฎกติกาที่ถูกออกแบบมาให้ยากและซับซ้อน รวมถึงขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้ว่าที่ สว. ที่เข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่
  • ว่าที่ สว. ตรงตามกลุ่มอาชีพ หรือสามารถสะท้อนกลุ่มอาชีพนั้น ๆ ได้จริงหรือไม่
  • กลโกงที่กล่าวมาข้างต้น ทาง กกต. จะมีการดำเนินการอย่างไรต่อ
  • บทบาทของ สว. หลังจากนี้ ว่าจะทำหน้าที่ได้ดีหรือไม่

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธนธร จิรรุจิเรข

สงสัยว่าตัวเองอยากเป็นนักวิเคราะห์ data ที่เขียนได้นิดหน่อย หรือนักเขียนที่วิเคราะห์ data ได้นิดหน่อยกันแน่

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง