ทางเลือกการรักษาในโรงพยาบาล สำหรับ “ผู้ติดเชื้อโควิด-19”

‘ต.เตียง นั้นหายาก ต้องลำบากแย่งกันใช้ เดินทางจากบ้านไป ติดเชื้อไว เตียงไม่พอ’ คือ แนวโน้มการรักษา “ผู้ติดเชื้อโควิด-19” ที่หากควบคุมไม่อยู่ หลังสงกรานต์อาจพบผู้ติดเชื้อพุ่งเร็วกว่า 10,000 คนต่อวัน

The Active รวบรวมขั้นตอน ทางเลือกการรักษาในโรงพยาบาล และสำรวจจำนวนเตียงที่รองรับการรักษา “ผู้ติดเชื้อโควิด-19” จากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ขณะนี้ ยัง “มีเตียงเพียงพอ” และสำหรับ “ผู้ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ” ไม่ได้รับอนุญาตให้รักษาตัวเองอยู่บ้าน ดังนั้น ลักษณะอาการของผู้ติดเชื้อ จึงมีผลต่อการจัดสรรเตียงสำหรับการรักษา ดังนี้

1. เตียงรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังเพียงพอ

ข้อมูลจากกรมการแพทย์​ ณ วันที่​ 11​ เม.ย.​ 2564 ระบุว่า จำนวนเตียงสำหรับรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วประเทศยังว่าง​ 18,257 เตียง​ เฉพาะ กทม. เหลือ​ 2,069  เตียง จากจำนวนเตียงทั้งหมดที่มี 23,483 เตียง

2. เตียงมีจำนวนจำกัด ไม่สามารถรักษากับโรงพยาบาลหลักเพียงอย่างเดียว

แม้ว่าขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ยังสามารถ​บริหารจัดการเตียงรองรับการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้เพียงพอ ในกรณีที่​พบจำนวนผู้​ติดเชื้อ​ อยู่ระหว่าง 400-1,500 คน​ต่อวัน​ กับจำนวนเตียงทั้งหมด​ 18,257 เตียง ที่ยังรับได้​

แต่หากคำนวนจากจำนวนเตียง​ ​18,257 เตียง ​÷ 1,500 คน จะเท่ากับมีเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 12​ วัน​เต็ม​ โดยระหว่างนี้ ก็จะมีผู้ติดเชื้อที่รักษาหาย ทยอยออกจากระบบ​ทุกวัน การบริหารจัดการเพื่อควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันไม่ให้มีมากเกินไป จึงสำคัญมาก

3. อาการป่วยมีผลต่อการจัดสรรเตียง

ในกรณีที่ได้รับการยืนยันว่าเป็น “ผู้ติดเชื้อโควิด-19” กรมการแพทย์ ให้โทรประสานขอเตียงสามเบอร์โทรหลัก คือ สายด่วนกรมการแพทย์ 1668 (ในเวลา 08.00-22.00 น.) ​, สายด่วน สปสช. 1330​ และ สายด่วนจัดการเตียงใน กทม. 1679 อดทนรอเจ้าหน้าที่พร้อมรถพยาบาลไปรับไม่เกิน 1-2 วัน โดยลักษณะอาการของผู้ติดเชื้อ มีผลต่อการจัดสรรเตียงสำหรับการรักษา ดังนี้

“ผู้ติดเชื้อโควิด-19” ที่อาการหนัก ต้องรักษาตัวในห้อง ICU อยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อเฝ้าระวังอาการปอดติดเชื้อหรือปอดอักเสบ จะถูกส่งไปรักษาที่ “โรงพยาบาลหลัก” ของรัฐ และเอกชน พิจารณาจากความพร้อมทางการเงิน หรือมีประกันชีวิตดูแล

ตอนนี้ โรงพยาบาลหลัก มีจำนวนเตียงทั้งหมด 17,294 เตียง รองรับ “ผู้ติดเชื้อโควิด-19” ไปแล้ว 4,839 เตียง คงเหลือ 12,455 เตียง

กรณี “ผู้ติดเชื้อโควิด-19” ที่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการน้อย ก็ต้องควบคุมด้วยการกักตัวไม่ให้เป็นผู้แพร่เชื้อ แนวทางการรักษาจะมีการวัดไข้ วัดความดัน วัดค่าออกซิเจนในเลือด โดยจะได้รับการรักษาที่ “โรงพยาบาลสนาม” ซึ่งมีลักษณะเหมือนหอผู้ป่วยรวม หรือ “Hospitel” คือโรงแรมที่ปรับให้เป็นห้องดูแลคนไข้พิเศษ

ตอนนี้ “โรงพยาบาลสนาม” มีจำนวนเตียงทั้งหมด 5,128 เตียง รองรับ “ผู้ติดเชื้อโควิด-19” ไปแล้ว 309 เตียง คงเหลือ 4,819 เตียง

ส่วน “Hospitel” มีจำนวนเตียงทั้งหมด 1,061 เตียง รองรับ “ผู้ติดเชื้อโควิด-19” ไปแล้ว 78 เตียง คงเหลือ 983 เตียง

ส่วนกรณีที่มีผู้ติดเชื้อ “รักษาตนเองอยู่ที่บ้านตามคำแนะนำของแพทย์” นั้น อธิบดีกรมการแพทย์ ยืนยันว่า ไม่ใช่นโยบายของกระทรวงสาธารณสุข​ และ “ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทุกคนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล” เพราะแม้ไม่แสดงอาการ แต่ยังต้องเฝ้าระวังอาการปอดติดเชื้อหรือปอดอักเสบ

แต่ยอมรับว่าคู่มือการรักษาโรคโควิด-19 ของแพทย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือ การรักษาตามอาการ นอกจากจะพบว่าปอดอักเสบ จึงจะใช้ ยาฟาวิพิราเวียร์ ในการรักษา ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีอาการ แต่จำเป็นต้องกักตัวไว้เพื่อไม่ให้ไปแพร่เชื้อต่อ แล้วเฝ้าสังเกตอาการเป็นประจำทุกวัน เพราะ โควิด-19 ยังเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ยังต้องใช้เวลาในการเก็บรวบรวมอาการทางคลินิกและการรักษาให้ชัดเจน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์