การก้าวขึ้นมารับไม้ต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ แพทองธาร ชินวัตร เป็นที่จับตามองของประชาชน จากอุบัติเหตุทางการเมืองที่ทำให้ เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ พ้นจากตำแหน่ง อีกหนึ่งสิ่งที่ถูกจับตามองก็คือ นโยบายที่รัฐบาลเพื่อไทยได้ทำมาก่อนหน้านี้ในระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านนมาจะถูกสานต่อหรือไม่ หรือจะถูกเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยขนาดไหน
The Active พาส่องนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯ ใหม่จากพรรคเดิม ย้อนรอยรัฐบาลเศรษฐา ถึงรัฐบาลแพทองธาร ว่านโยบายไหนได้ไปต่อ มีแนวโน้มว่าจะไปต่อ หรือรอความชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
นโยบายได้ไปต่อ
เนื่องด้วยหัวเรือใหญ่ของรัฐบาลยังคงเป็นพรรคเพื่อไทยเช่นเคย รวมไปถึงการปรับ ครม. ก็มีการเปลี่ยนแปลงพรรคร่วมไม่มาก จึงไม่แปลกที่นนโยบายส่วนใหญ่จะยังได้ไปต่อ แต่บางนโยบายก็มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น
นโยบายเรือธงที่สำเร็จแล้วเหลือแค่รอประกาศใช้คือ นโยบายสมรสเท่าเทียม ซึ่ง พ.ร.บ.เพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ผ่านสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2567 เหลือรอแค่ประกาศใช้ ซึ่งคาดว่าจะประกาศในสมัยนายกฯ แพทองธาร อย่างแน่นอน
ในขณะที่นโยบายส่วนใหญ่เป็นนโยบายที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการขยับขึ้นมา 2 ครั้ง แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วัน ทั้งประเทศ ในรัฐบาลก่อนมีการประกาศว่าจะขึ้นเป็น 400 บาท/วัน ทั้งประเทศภายใน 1 ต.ค. 2567 และ 600 บาท/วัน ภายใน 2570 ซึ่งก็ต้องรอติดตามว่ารัฐบาลแพทองธารจะสามารถสานต่อเป้าหมายนนี้ได้หรือไม่
รวมถึงนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ซอฟต์พาวเวอร์ แก้หนี้ทั้งระบบ ที่มีการดำเนินการมาอยู่แล้ว ก็มีการประกาศจากนายกฯ แพทองธาร ว่าจะเดินหน้าสานต่อ
บางนโยบายที่ดูไม่แน่ไม่นอนอย่าง ดิจิทัลวอลเล็ต ก็ยังคงได้ไปต่อในรัฐบาลชุดใหม่นี้ แต่ก็แลกมาด้วยกับการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข โดยเงื่อนไขล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2567 โครงการจะมีการปรับเงื่อนไขเป็นแจกกลุ่มเปราะบางและประชาชน โดยมีทั้งในรูปแบบเงินสดและเงินดิจิทัล
ในส่วนของกฎหมาย ทั้ง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 และการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อล้างมรดก คสช. ก็จะมีการเดินหน้าต่อเช่นกัน
นโยบายยาเสพติด และนโยบายกัญชา ซึ่งแม้ไม่ใช่นโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยโดยตรงก็ได้ไปต่อ โดย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย จากพรรคภูมิใจไทย ก็ยืนยันว่าจะเดินหน้านโยบายกัญชาต่อตามที่รัฐบาลเศรษฐาได้ทำไว้ โดยจะไม่ดึงกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด แต่จะออก พ.ร.บ.ควบคุมแทนเหมือนเดิม
นโยบายด้านสังคม คุณภาพชีวิตอย่าง หวยเกษียณ คณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ก็เดินหน้าต่อ แต่มีการปรับเงื่อนไข ขยายอายุผู้มีสิทธิ์ซื้อเป็น 70 ปี แต่ต้องถือ 10 ปีขึ้นไปถึงจะถอนเงินออกมาได้
แจกโฉนดที่ดิน ส.ป.ก. หนึ่งในนโยบายด้านการเกษตร ก็ยังเดินหน้าแจกโฉนดให้ประชาชนต่อเนื่อง แม้จะมีข้อพิพาทระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมอุทยานแห่งชาติ ในกรณีป่าทับลานก็ตาม
นโยบายด้านการคมนาคม อย่างรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เพื่อลดค่าครองชีพ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ก็ได้เดินหน้าต่อ และอยู่ในเป้าหมายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ครบทุกสายภายในปี 2569 และอีกนโยบายที่ตอนนี้อยู่เพียงขั้นตอนการวางแผนอย่างโครงการแลนด์บริดจ์ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2567 สุริยะก็ออกมายืนยันอีกเช่นกันว่าจะเดินหน้าต่อ 100% แม้ว่าจะถูกชายบ้านในพื้นที่ เช่น เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะและเครือข่ายรักษ์ระนองคัดค้านก็ตาม
น่าจะไปต่อ
ส่วนใหญ่เป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาลเพื่อไทย โดยมี 2 นโยบายที่เป็นนโยบายเร่งด่วนซึ่งรัฐบาลเศรษฐาได้แถลงต่อรัฐสภา ได้แก่ ลดค่าพลังงาน ก็ต้องมารอลุ้นกันต่อว่ารัฐบาลแพทองธารจะมีการลดหรือตรึงราคาค่าไฟงวด ม.ค.- เม.ย. 2568 หรือไม่ และนโยบายสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ก็มีแนวโน้มว่าน่าจะได้ไปต่อเช่นกัน เนื่องจากภาคประชาสังคมบางส่วนก็เน้นย้ำให้รัฐบาลทำต่อ
ในส่วนของกาสิโนถูกกฎหมายผ่านสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ทางสภาฯ ในสมัยนายกฯ เศรษฐา ก็ได้เห็นชอบรายงานเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ 28 มี.ค. 2567 และอยู่ระหว่างการร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร ก็มีแนวโน้มว่าจะได้เดินหน้าต่อ แม้มีข้อกังวลจากหลายภาคส่วนก็ตาม
นอกจากนี้มีนโยบายเพิ่มเติมจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งพึ่งมาจับมือเข้าร่วมรัฐบาลแพทองธาร โดยมี เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดำรงตำแหน่ง รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเดชอิศม์ ขาวทอง ดำรงตำแหน่ง รมช.สาธารณสุข พรรคประชาธิปัตย์ได้เน้นย้ำจุดยืนและนโยบายของพรรคเข้ามาร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น ความจงรักภักดี-ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน การกระจายอำนาจ และการแก้ปัญหาที่ดินทำกินและราคาพืชผลการเกษตร ก็อาจจะต้องรอดูว่าจะปรากฎนโยบายเหล่านี้ในเชิงรูปธรรมอย่างไร
ยังไม่ชัดเจน
ความไม่ชัดเจนส่วนใหญ่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยนายกฯ เศรษฐาแล้ว บางนโยบายเป็นนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ แต่เมื่อมีการร่วมมือกับพรรคอื่น ๆ อาจทำให้ไม่สามารถดำเนินนโยบายที่หาเสียงไว้ได้อย่างเต็มที่ เช่น
ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ที่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีการยกเลิกแต่อย่างใด โดยเน้นกระตุ้นให้คนมาสมัครเพิ่มขึ้นผ่านระบบสมัครใจ และหากไม่ครบตามที่ต้องการจะบังคับเกณฑ์ทหารเพิ่ม และนโยบายสันติภาพชายแดนใต้ ก็เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเอาอย่างไรต่อ โดยในสมัยนายกฯ เศรษฐา ได้มีการตั้ง กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาแล้วก็ตาม และมีการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายครั้ง โดยปัจจุบันมีการต่อจนถึงวันที่ 19 ต.ค. 2567 ซึ่งก็ต้องรอติดตามกันต่อไปว่า นโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลใหม่จะออกมาในรูปแบบไหน หรือมีท่าทีเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่ อย่างไร