รู้จัก Rama Home Isolation “เพิ่มเตียง ลดตาย” ระบบดูแลคนไข้เสมือนใกล้หมอ

“โรงพยาบาลรามาธิบดี” หนึ่งในองค์กรด้านสาธารณสุขที่เผชิญสถานการณ์คุมระบาดของโรคโควิด-19 มาตั้งแต่แรก เฉพาะช่วงระบาดระลอกใหม่ เมษายน ถึง สิงหาคม 2564 ตรวจพบผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 20,000 คน เกินกำลังรับเข้ารักษาในโรงพยาบาลกว่า 90 เท่า

เมื่อข้อเท็จจริงที่ว่า “การเบ่ง” หรือ “ขยายเตียง” รับผู้ติดเชื้อเข้ารักษาในโรงพยาบาลแทบเป็นไปไม่ได้แล้ว ด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยากร สวนทางผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

วิธีการ “เพิ่มเตียงที่บ้าน” หรือ “Home Isolation” จึงเกิดขึ้นบนความท้าทาย

The Active ชวนเปิดยุทธศาสตร์ “Rama Home Isolation” ที่อนุมานได้ว่าเป็นระบบ “เพิ่มเตียง ลดตาย” ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้ทันท่วงทีที่ตรวจพบว่าติดเชื้อ

Rama Home Isolation คืออะไร

“Rama Home Isolation” คือ ระบบดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยบริการแยกกักตัวที่บ้านของโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีเป้าหมายให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงระบบการรักษากับทีมแพทย์ ตั้งแต่วันแรกที่ตรวจพบเชื้อ จนถึงวันสุดท้ายของการกักตัว

“โรงพยาบาลรามาธิบดี” หันมาใช้ยุทธศาสตร์นี้รับมือสถานการณ์ระบาดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2564 หลังตรวจพบผู้ติดเชื้อสะสมเดือนเมษายน 976 คน พฤษภาคม 1,995 คน มิถุนายน 3,544 คน กระโดดมาที่ 6,954 คนในเดือนกรกฎาคม

ที่ผ่านมา “รามาธิบดี” มีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาล 160 เตียง ก่อนขยับเป็น 220 เตียงในเวลาต่อมา มีระบบสถานพยาบาลดูแลผู้ป่วยเฉพาะกิจ หรือ Hospitel ระบบสนุบสนุนการกักตัวในชุมชน หรือ Community Isolation และเปิดระบบดูแลผู้ป่วยที่บ้าน หรือ Home Isolation หวังกดตัวเลขผู้ติดเชื้อรอคอยการรักษาและเสียชีวิตที่บ้านซึ่งพบเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

จะเห็นได้ว่า ช่วงต้นของการระบาดระลอกสามในเดือนเมษายน ผู้ติดเชื้อที่ทยอยเพิ่มขึ้น ทำให้ตัวเลขของผู้ที่ได้รับการรักษาใน รพ.รามาธิบดี คิดเป็นร้อยละ 74.6 จากจำนวนที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ที่ รพ.รามาธิบดี แต่สัดส่วนนี้ ลดลงเรื่อย ๆ ในเดือนพฤษภาคม จนถึงมิถุนายน สะท้อนภาวะผู้ป่วยที่กำลังล้นระบบ

แต่เมื่อเริ่มมีการนำระบบ Home Isolation และ Community Isolation มาใช้ในวันที่ 3 กรกฎาคม หลังจากนั้นพบว่าสัดส่วนของผู้เข้ารับการรักษาโดยโรงพยาบาลนั้นค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้น กระทั่งสามารถดูแลผู้ป่วยได้มากถึงร้อยละ 87.3 ในเดือนสิงหาคม แม้ รพ. จะมีเตียงเท่าเดิม แต่ก็สามารถดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น

เพิ่มเตียงรักษาที่บ้านทำอย่างไร

กว่า 2 เดือนที่ผ่านมา ยุทธศาสตร์ “Rama Home Isolation” ใช้ยุทธวิธี ติด ต่อ เตียง คือ หลังจาก หน่วยสอบสวนโรค ตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR พบผลติดเชื้อ จะส่งแฟ้มประวัติมา แผนกเวชศาสตร์ครอบครัว เพื่อติดต่อคนไข้ ประเมินที่อยู่อาศัย และสอบถามความยินยอมเข้าสู่ระบบรักษาแบบแยกกักตัวที่บ้าน

ทั้งนี้ ยุทธวิธี ติด ต่อ เตียง” ต้องตรวจ RT-PCR ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเท่านั้น โดย 1 วัน โรงพยาบาลสามารถรับตรวจหาเชื้อวันละ 300 คน โดยเฉลี่ยเดือนกรกฎาคมพบว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้เข้ารับการตรวจติดเชื้อโควิด-19” โดยเข้าถึงการรักษาใน Hospitel ประมาณ 20-30% ที่เหลือจะได้รับการติดต่อเข้าระบบเพิ่มเตียงที่บ้าน

แผนกเวชศาสตร์ครอบครัว ในสถานการณ์ปกติเป็น หน่วยแพทย์ปฐมภูมิ หรือ Primary care ทำหน้าที่ดูแลด้านการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ฟื้นฟูสภาพ และควบคุมโรคระบาดร่วมกับประชาชน โดยประยุกต์ความรู้ทั้งด้านการแพทย์ จิตวิทยา และสังคมศาสตร์ ด้วยแนวคิดแบบองค์รวม ให้แก่บุคคล ครอบครัว และชุมชนในการดูแลส่งเสริมสุขภาพของตนเอง และสามารถดูแลตนเองเมื่อเจ็บป่วยได้อย่างสมดุล

รากฐานสำคัญของ แผนกเวชศาสตร์ครอบครัว” ทำให้วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ มีความเชี่ยวชาญพอตัวในการดูแลผู้ป่วยด้วยบริการแยกกักที่บ้าน

ระบบดูแลคนไข้ เสมือนใกล้หมอ

ทันทีที่ “แผนกเวชศาสตร์ครอบครัว” ได้รับแฟ้มประวัติผู้ติดเชื้อ “พยาบาล” จะทำหน้าที่ติดต่อคนไข้ เพื่อรับเข้าระบบ “Rama Home Isolation” เสมือนเป็นผู้ป่วยในแต่รับการรักษาอยู่ที่บ้าน โดยผ่านการซักประวัติ และทำแบบสอบถามผ่านระบบออนไลน์ที่เปิดขึ้นมาโดยเฉพาะ

จากนั้น พยาบาล” จะส่งประวัติให้ แพทย์ โทรเวชกรรม หรือ Telemedicine วินิจฉัยอาการ โดยจะส่งคำสั่งการรักษากลับมาที่ พยาบาล เพื่อประสาน เภสัชกร จัดชุดยาพื้นฐาน เช่น ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอสำหรับผู้ป่วยทุกคน และชุดยาฟ้าทะลายโจร ฟาวิพิราเวียร์ เกลือแร่ ตามการประเมินอาการ โดย 1 ชุด จะมีจำนวนเพียงพอสำหรับการรักษาอย่างน้อย 14 วัน

“Rama Home Isolation” มี แพทย์” วินิจฉัยอาการและส่งคำสั่งการรักษาวันละ 7-8 คน เป็นแพทย์เวศาสตร์ครอบครัว และแพทย์อาสาสมัครจากแผนกอื่น ๆ ติดตามอาการผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง และเพื่อความรวดเร็วในการรักษา อาจารย์แพทย์ด้านอายุรศาสตร์จึงพัฒนาระบบสั่งจ่ายยาเป็นชุด ๆ และนอกจากการรักษาสุขภาพกาย ยังมีการประเมินสุขภาพใจ ที่มี นักจิตวิทยา ช่วยติดตามดูแลคนไข้และคนในครอบครัวแบบองค์รวม

และหลังจาก เภสัชกร จัดชุดยารักษาตามคำสั่งแพทย์ จะส่งไปที่หน่วย “ธุรการ จัดลงถุงยังชีพที่มีเครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว หน้ากากอนามัย ถุงขยะ คู่มือแนะนำการติดต่อแพทย์ สำหรับทุกคน และจัดอาหารจากร้านที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับผู้ป่วยกรณีที่ไม่สามารถจัดการตนเองได้ โดยมีพนักงานส่งของ ซึ่งว่าจ้างผู้ว่างงานนำส่งผู้ป่วยถึงบ้าน วันละ 4 เวลา หรือ ญาติผู้ป่วยมารับ” ที่โรงพยาบาล

ในทุก ๆ วัน “แพทย์” หรือ “พยาบาล” จะ Telemedicine ติดตามอาการผู้ป่วยอย่างน้อย 1 ครั้ง เพื่อแนะนำการรักษา สั่งจ่ายยา หรือ ส่งเครื่องผลิตออกซิเจน ให้ “พนักงานส่งของ” นำไปให้ที่บ้านตามความจำเป็นเพิ่มเติม หากพบอาการผิดปกติจะดำเนินการประสานรับคนไข้เข้ารักษาในโรงพยาบาลทันที

โจทย์ท้าทายในสถานการณ์ผู้ป่วยล้นเตียง

ปัจจุบัน “Rama Home Isolation” มีผู้ป่วยโควิด-19 ในความดูแลร่วม 300 คน กว่า 60% อยู่ในสถานะผู้ป่วยสีเขียว เตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่ยังจำกัด ทำให้ระบบดูแลที่บ้านมีผู้ป่วยสีเหลืองประมาณ 30% และผู้ป่วยสีแดงอีกกว่า 10%

นอกจากนี้ แม้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาอยู่บ้านที่มีแพทย์พยาบาลติดตามดูแลอาการใกล้ชิด ก็พบข้อจำกัดสำหรับผู้ป่วยที่เข้าไม่ถึงการสื่อสารผ่านเทคโนโลยี และกรณีที่ญาติผู้ป่วยติดเชื้อ ยังมีข้อจำกัดว่าหากไม่ได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลรามาธิบดี จะไม่สามารถเข้ารับการรักษาในระบบ “Rama Home Isolation” ด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยากรหน่วยให้บริการ

• รับชมเรื่องราว “Rama Home Isolation ระบบดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ติดบ้าน”

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม