อย่าหยุดอยู่แค่เดือนไพรด์ “เศรษฐกิจสีรุ้ง” เคลื่อนได้รัฐต้องคิดไกลกว่านี้

หากถามว่าธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) มีความเติบโตแค่ไหน  ถ้านับกันแค่ Bangkok Pride Festival 2024 ทั่วประเทศตลอดเดือน มิ.ย. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ประมาณการว่าจะมีผู้ผู้คนจากทั่วโลกเข้าร่วมงานกว่า 860,000 คน และสร้างเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ที่สำคัญการเติบโตของเทศกาลนี้แทบจะไม่ได้พึ่งกลไกจากหน่วยงานรัฐ แต่เป็นรัฐที่อาจจะต้องพึ่งพาคนในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ในฐานะอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์

ที่บอกว่าเป็นอุตสาหกรรม เพราะยังมีอีกหลากหลายธุรกิจที่เติบโตได้ด้วยตัวเอง (Organic)  และพึ่งพากันและกันในชุมชนเครือข่าย LGBTQIAN+ โดยเฉพาะตลอดทั้งเดือนไพรด์นี้ที่ทำให้ไทยเป็นหมุดหมายจากที่โลก ไทยพีบีเอส จึงชวนผู้ประกอบการ ภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการ มองอนาคตในเวทีเสวนา Policy Forum ครั้งที่ 11  นโยบายขับเคลื่อน “เศรษฐกิจสีรุ้ง” ที่จัดขึ้นเมื่อ 3 มิ.ย. ที่ผ่านมา

มองโอกาส ‘แดร็ก’ จากศิลปะการแสดง สู่อาชีพสีรุ้ง

อุตสาหกรรม Drag เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมบันเทิงที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและมีแนวโน้มเติมโตอย่างต่อเนื่อง แม้จะยังมีข้อมูลที่ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากค่อนข้างใหม่และยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นทางการ แต่จากปัจจัยต่าง ๆ เช่น กระแสความนิยม การได้รับการสนับสนุน บ่งชี้ว่าอุตสาหกรรม Drag นี้ มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

แดร็ก หรือ Drag ย่อมาจากคำว่า Dressed Resembling A Girl (หมายถึง การแต่งกายเป็นผู้หญิง – แต่ในปัจจุบันไม่ได้มีแค่การแต่งกายเป็นผู้หญิงอย่างเดียวเท่านั้น) เป็นศิลปะการแสดงที่นำเสนอตัวตนผ่านการแต่งกาย การแต่งหน้า และการแสดงออก ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่ในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น

ธีน่า – ธีรวัฒน์ ทองนิมิตร ผู้จัดงาน Drag จาก Prism Galaxia ระบุว่า ที่ผ่านมามีความพยายามรวบรวมชุนชน Drag มากว่า 20 ปีแล้ว โดยเฉพาะในหลังสถานการณ์โควิด-19 สามารถขยายชุมชนม Drag ให้เติบโตขึ้น เช่น ไต้หวัน สิงคโปร์ อังกฤษ ซึ่งปัจจุบันไทยถือว่ามีความสามารถเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก มีเด็กและเยาวชนสนใจมองว่าเป็นศิลปะ การแสดงแขนงหนึ่ง และสามารถทำเป็นอาชีพได้

ที่สำคัญการแสดง Drag Show หนึ่งครั้ง ศิลปินจะต้องมีการเตรียมตัวเป็นค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 5,000-10,000 บาท เท่ากับช่วยกระจายรายได้ไปยังพ่อค้า แม่ขาย ที่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ เช่น คนขายเสื้อผ้าประตูน้ำ ผ้าตัดชุดพาหุรัด เครื่องประดับสำเพ็ง เรียกว่าเป็นเป้าหมายของเหล่า Drag ทั้งคนไทยและต่างชาติเลยก็ว่าได้ แต่ถึงอย่างนั้นการรับรู้ของคนในสังคมไทยยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน หรือจัดอยู่ในกลุ่มศิลปินเช่นเครือข่ายที่พวกตนกำลังผลักดัน

“เราผลักดันกันมาเองจนถึงวันนี้ ใช้พลัง ลงทุนกันเยอะมาก ถึงบอกว่าเราเป็นศิลปินแต่รายได้ยังต่ำกว่าอาชีพอื่นมาก เราอยากถูกมองว่าเป็นศิลปินที่ได้รับการสนับสนุนเหมือนด้านอื่นๆ ไม่ได้ถูกโฟกัสแค่ทุกเดือน มิ.ย. แต่ทำยังไงให้ต่างชาติเห็นว่าเราจะเป็นเจ้าภาพเวิลด์ไพรด์ เรามีดีอะไรอีกบ้าง นอกจากการจัดงานไพรด์ นี่คือสิ่งที่เราอยากได้”

ธีน่า

‘ซีรีส์วาย’ อุตสาหกรรมเนื้อหอม

ซีรีส์วาย (Y) ประกอบไปด้วยซีรีส์ยาโอย (Yaoi หรือ Boys love นำเสนอความสัมพันธ์ชายรักชาย) และซีรีส์ยูริ (Yuri หรือ Girls love นำเสนอความสัมพันธ์หญิงรักหญิง) ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมภาพยนตร์ซีรีส์ส่งออกที่สำคัญของไทย และเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการผลิตซีรีส์วายมากกว่า 177 เรื่อง ซึ่งนอกเหนือจากการเห็นจำนวนซีรีส์วายที่เพิ่มขึ้นในทุกปี ยังคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมซีรีส์วายมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ในงานแถลงข่าวร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ Be On Cloud ผู้ผลิตซีรีส์วายระดับโลก ในวันที่ 31 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา วิทยากร มณีเนตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่ามูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ซีรีส์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมีมูลค่า 8,000 ล้านบาท ในปี 2566 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ล้านบาท ในปี 2567

และกลุ่มภาพยนตร์และซีรีส์วาย ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากมูลค่า 1,000 ล้านบาท ในปี 2566 เป็น 2,000 ล้านบาท ในปี 2567 จากความร่วมมือและการทำงานเชิงรุกของกระทรวงพาณิชย์ นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าจะสามารถผลักดันสินค้าบริการและการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากขึ้นกว่า 5,000 ล้านบาท ภายในปี 2569

ความสำเร็จนี้ อนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย บอกว่า เกิดจากการที่ภาพยนตร์ หรือซีรีส์ไทย เปิดกว้างในเรื่องเพศมากกว่าประเทศอื่น ๆ จึงทำให้การเล่าเรื่องราว หรือปัญหาได้มากกว่า ความนิยมมากกว่า เห็นได้จากตอนนี้ที่ซีรีส์วายไม่ได้จำกัดแค่แนวรักสดใส วัยรุ่น แต่ยังไปถึงเรื่องราวย้อนยุค สยองขวัญ สะท้อนปัญหาสังคม หรือมีนักแสดงที่ก้าวเข้ามารับบทบาทชายรักชาย หญิงรักหญิง มากขึ้นที่ประเทศอื่น ๆ อาจจะยังทำไม่ได้

ขณะที่ตัวคอนเทนต์ซีรีส์วายที่สามารถทำรายได้อยู่ที่อันดับหนึ่งของโลก แต่อาจจะต้องนึกถึงสิ่งที่ตามมามากกว่านั้น เช่น รายได้จากการโชว์ตัวนักแสดง ต่อยอดเศรษฐกิจ โดย อนุชา มองว่า ซีรีส์วายไม่จำเป็นต้องยัดเยียดวัฒนธรรมเข้าไปโดยตรง เพราะกระแสนิยมมาจากความสมจริงของเรื่องราว นักแสดง สิ่งแบบนี้ผู้กำกับจะแทรกเข้าไปอยู่แล้วในซีรีส์ เห็นได้จากการเจาะกลุ่มตลาดใน ยุโรป รัสเซีย อเมริกาใต้ ส่วนที่ต้องเจาะเพิ่มขึ้นให้ได้ คือ ตลาดสหรัฐอเมริกา เพื่อเปิดตลาดให้กว้างมากขึ้น โดยการสนุนหรือโพรโมทจากภาครัฐสำคัญมาก เช่น อาจจะต้องส่งภาพยนตร์ของเราเข้าไปให้เป็นที่รู้จักในเทศกาลต่าง ๆ มากขึ้นกว่านี้

“คิดว่านอกเหนือจากการพัฒนาตัวคอนเทนต์ เราต้องมีคนในวงการ LGBTQIAN+ เข้ามาทำงานมากขึ้น ปัจจุบันถ้านับผู้กำกับที่เป็นหญิงข้ามเพศ มีแค่ 2-3 คน รวมถึงคนเขียนบท ทีมงาน นักแสดง ที่จำเป็นต้องให้พื้นที่อัตลักษณ์อื่น ๆ เข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรม เขาจะได้ส่งเสียงไปถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ”

อนุชา บุญยวรรธนะ

ยกระดับบริการผ่าตัดข้ามเพศ เสริมความงาม ชิงความได้เปรียบ ดึงนักท่องเที่ยว

อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับความนิยมในไทย โดยในแต่ละปีมีคนเดินทางเพื่อเข้ามารับการผ่าตัดแปลงเพศ ผ่าตัดเสริมความงาม และบริการทางการแพทย์สาขาอื่น ๆ ในไทย เฉลี่ยปีละกว่า 1.2 ล้านคน ส่วนตัวยังมองว่าไทยเป็นอันดับ 1 ของโลก เพราะศัลยแพทย์ของไทยมีความประณีต ที่สำคัญไทยเป็นที่รู้จักมากเพราะเป็นการที่นักท่องเที่ยวชวนกันแบบปากต่อปาก

ทั้งนี้คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องขยับไปพร้อมกัน ทั้งการให้บริการคนข้ามเพศแบบองค์รวม เช่น บางคนรู้สึกครอบครัวไม่ยอมรับ สับสน รัฐสนันสนุนให้มี โรงพยาบาลหรือคลินิกการขอรับคำปรึกษา หรือตอนนี้ที่มีความพยายามให้ LGBTQIAN+ เข้าถึงมากที่สุด เช่น ฮอร์โมน ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) กำลังศึกษาอยู่ เพื่อชิงเอาความได้เปรียบนี้ดึงนักท่องเที่ยว รวมถึงคนในประเทศให้เพิ่มมากขึ้นไปอีก

“อนาคตนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไม่กังวลเพราะเราผลิตศัลยแพทย์ตกแต่งทุกปีอยู่แล้ว แต่ฮอร์โมนเป็นหัวข้อใหญ่เนื่องจากเราต้องนำเข้ามูลค่าต่อปีเป็นแสนล้าน ถ้าเราผลิตใช้เอง ส่งออก โดยที่รัฐต้องเข้ามาสนับสนุน มูฟไปข้างหน้าด้วยกัน เพราะถ้าเราไม่มีกลยุทธ์ 5 ปีข้างหน้า เราอาจจะไม่เป็นที่หนึ่งของโลกแล้วก็ได้”

พญ.งามเฉิด สิตภาหุล

เชื่อมโยง – รัฐสนับสนุน – สิทธิสวัสดิการทางกฎหมาย ช่วยต่อยอดเศรษฐกิจสีรุ้ง

ในภาพรวม อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) มองว่า มีหลายอุตสาหกรรมสีรุ้งที่เชื่อมโยงกัน เช่น การท่องเที่ยวและความบันเทิง หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งรัฐและเอกชนต้องเชื่อมโยงกันเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมเหล่านี้ รวมถึงการจัดเตรียมพื้นที่ให้พร้อมสำหรับเรื่องนี้ เช่น เมืองหรือย่านที่ส่งเสริมกลุ่ม LGBTQIAN+ ทำให้คนไหลเข้ามา และส่งผลให้เมืองเจริญขึ้น

รวมไปถึงการที่รัฐอุดหนุนและสนับสนุนในมิติต่าง ๆ โดยยกตัวอย่างกรณีเมืองเบอร์ลิน เยอรมนี ที่ทำให้ศิลปินหลั่งไหลเข้ามาอยู่และอาศัยผ่านกลไกรัฐต่าง ๆ เช่น การอุดหนุนโดยลดราคาเช่าบ้านพัก การอุดหนุนการรวมกลุ่มสร้างชุมชน (Community) การอุดหนุนสนับสนุนอุปกรณ์ เป็นต้น ซึ่งการที่รัฐเข้ามาสนับสนุนนี้ก็จะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมให้ก้าวต่อไปข้างหน้าได้ดีมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ อริยะ เสนอให้มีการสร้างแพลตฟอร์มเป็นศูนย์กลาง รวมข้อมูลการท่องเที่ยว การแพทย์ เพื่อแนะนำชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้จ่ายอุตสาหกรรมในด้านต่าง ๆ จะช่วยเชื่อมโยง ทำให้เกิดการแข่งขันและพัฒนาอุตสาหกรรมให้ดียิ่งขึ้นต่อไปได้

นอกเหนือจากด้านเศรษฐกิจแล้ว อีกด้านหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือด้านสิทธิสวัสดิการทางกฎหมาย แม้จะบอกว่าสังคมไทยเปิดรับความหลากหลายในระดับหนึ่ง แต่ถ้ากฎหมายยังไปไม่ถึง ก็จะเป็นเพียงแค่คำพูด จำเป็นต้องมีการการผลักดันด้านสิทธิสวัสดิการ เช่น สมรสเท่าเทียม คำนำหน้านาม สิทธิในการลาแปลงเพศ การเข้าถึงฮอร์โมนข้ามเพศ การเพิ่มบทบาทผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้ามามีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อทำให้อันดับของประเทศไทยสูงขึ้น ซึ่งเมื่ออันดับสูงขึ้น มาตรฐานเรื่องอื่น ๆ ก็จะตามมา

ขณะที่ ภัณฑิล จงจิตรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ บอกว่า ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ พยามผลักดันในมิติของเศรษฐกิจสีรุ้งมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ซีรีส์วาย ตามนโยบายของ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในการหาตลาดใหม่ ๆ เช่น ใช้อินฟูลเอนเซอร์,โซเชียลมีเดีย โดยมีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมมือกับเทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลก เช่น มี.ค. 67 พาผู้ผลิตภาพยนตร์ ซีรีส์ไปที่ฮ่องกง จำนวนกว่า 400 รายการ  มูลค่าพันกว่าล้านบาท เทศกาลหนังเมืองคานส์อีก 300 พันกว่าล้าน โดยเชื่อว่าจากการทำงานร่วมกันจะทำให้เกิดการเติบโตในตลาดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นปีละหมื่นล้านบาทไม่เกินจริง ทั้งนี้ยังไม่นับรวมสิ่งอื่น ๆ ที่ตามมาซึ่งอาจจะประมาณน้อยไปด้วยซ้ำ

โดยทางกระทรวงฯ เห็นถึงเครื่องมือสำคัญ จากการเป็นหนึ่งในคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ฯ ได้ทดลองทำความร่วมมือ ทำงานอย่างเป็นระบบ ทำอย่างไรที่จะทำให้ชาวต่างชาติรู้จักสินค้าไทย เมืองรองที่สำคัญ มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อคัดสินค้าไทย แต่ไม่ได้หมายความว่าเราเข้าไปยัดเยียดเข้าไปในภาพยนตร์ หรือซีรีส์ เป็นการขอความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ใช้อิทธิพล ความมีชื่อเสียงของนักแสดง เพื่อทำให้คอนเทนต์เป็นธรรมชาติมากที่สุด

เช่น ภาพยนต์ “แมนสรวง” ที่ผู้กำกับอยากจะโปรโมทความเป็นไทย โดยมีฉากหลังเป็นถนนทรงวาด ด้วยการแปลงย่านนี้ให้เป็นธีมของภาพยนตร์ จากที่เคยเงียบเหงา กลายเป็น 40 ถนนที่คูลที่สุดในโลก ของนิตยสาร time เพราะการตามรอยซีรียน 20,000-50,000 บาทต่อคน

ส่วนในด้านการสนับสนุนด้านการข้ามเพศนั้นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เห็นด้วยที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากต้องการเข้ามาที่ไทย โดยเฉพาะการผลิตฮอร์โมนน่าสนใจ เพราะชายข้ามเพศต้องฉีดทุก 1-2 สัปดาห์ คิดว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์น่าจะรับไปศึกษาต่อ ในการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข

อริยะ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ ผู้ก่อตั้ง บริษัท Transformational กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่เคยจัดงานอีเวนท์ซีรีส์วายในไทย พบว่า คนจีนมีสัดส่วนค่อนข้างเยอะ ส่วนสำคัญเพราะบ้านเขาอาจจะไม่เปิดกว้างในสื่อมากนัก โดยมองว่าอุตสาหกรรมนี้ใหญ่มาก และเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ไม่ต้องทำอะไรเลย เห็นจากที่ผู้กำกับไทยหลายคนไปโปรโมทซีรีส์ที่ฮ่องกงด้วยตัวเอง ใช้เงินตัวเอง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีกำลัง สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ต้องได้รับการสนับสนุน และมีนโยบายที่สนับสนุนในระดับประเทศ

พร้อมทั้งได้มีข้อเสนอถึงสิ่งที่รัฐควรเร่งทำเพื่อกระตุ้นการส่งออกเศรษฐกิจสีรุ้ง คือ หากต้องการขับเคลื่อน ซีรีส์วาย และ Drag เป็นอุตสาหกรรมบันเทิง จะต้องมีกลยุทธเหมือนวงการ kpop ของเกาหลีใต้ ที่ตั้งเป้ามา 10 ปี การที่เราเห็นมีคนไทยอยู่ในวง เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นกลยุทธ์ที่เกาหลีใต้ศึกษาและเจาะกลุ่มเป้าหมายใหญ่ไว้อยู่แล้ว และสามารถทำจริง 

ด้าน การแพทย์ คนที่จะเข้ามาผ่าตัดต้องพักฟื้น รัฐควรมีช่องทางที่น่าเชื่อถือ หรือเป็นสื่อหลักและเป็นฐานข้อมูล ส่วนการส่งออกคือฮอร์โมน ถ้าไทยจับตลาดได้เร็วจะถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ด้าน การท่องเที่ยว ต้องทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่เป็นมิตรกับ LGBTQIAN+ โปรโมทได้ว่าที่ไหน โรงแรม ชุมชนไหน เช่น การปักหมุดในแผนที่ แอปพลิเคชันให้กับคนที่ยังไม่เคยมาประเทศไทยสามารถค้นหาเจอได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน

Alternative Text
VISUAL NOTE TAKER

ลลิตา วิจิตอมรวงษ์

เปลี่ยนเนื้อหาเข้าใจยาก ให้เป็นภาพเข้าใจง่าย เจ้าของเพจ Mis.lalita รักธรรมชาติ และชอบฟังเพลง