รู้ทัน ลดเสี่ยง…โรคหลังน้ำลด

น้ำท่วมเป็นภัยพิบัติที่นำมาซึ่งความเสียหาย และปัญหาสุขภาพมากมาย โดยเฉพาะเป็นหนึ่งในปัจจัยการการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อต่าง ๆ ซึ่งมักเกิดจากการสัมผัสน้ำ และสิ่งปนเปื้อนในน้ำท่วม การป้องกัน จึงเป็นโอกาสลดความเสี่ยงเกิดโรค เพื่อไม่ให้ซ้ำเติมผลกระทบของผู้ประสบภัย

นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า น้ำท่วมในระยะแรกอาจยังไม่มีเชื้อโรคมาก แต่เมื่อกลายเป็นน้ำขังก็จะสกปรก และมีเชื้อโรคมากขึ้นเป็นที่มาของเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ และหากต้องเดินย่ำน้ำแต่ละวันเป็นเวลานาน ก็จะยิ่งมีโอกาสป่วยด้วยโรคที่มากับน้ำท่วมมากขึ้น

รวมถึงเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิด โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ ซึ่งสามารถแพร่กระจายได้ง่ายมากขึ้นผ่านอากาศ ที่เย็นชื้นช่วงฝนตก และเมื่อมีการระเหยของน้ำจากพื้นที่น้ำท่วม ทำให้เชื้อโรคลอยอยู่ในอากาศที่เราหายใจเข้าไป

ขณะที่การสัมผัสน้ำท่วมโดยตรง หรือการใช้ของใช้ที่ปนเปื้อนน้ำ ก็อาจทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย สามารถติดเชื้อได้ โดยอาจทำให้เกิดความเสี่ยงเกิดโรคและอุบัติเหตุได้ดังนี้ 

1. โรคระบบทางเดินหายใจ

ได้แก่ ไข้หวัด, ไข้หวัดใหญ่, โควิด-19, ปอดบวม อาการสำคัญ คือ ไข้, ไอ, เจ็บคอ, คัดจมูก, มีน้ำมูก, มีเสมหะ, ปวดศีรษะ, ปวดเมื่อยตามตัว, อ่อนเพลีย, เบื่ออาหาร

การป้องกัน คือ 

  • ดูแลร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ

  • ไม่สวมเสื้อผ้าที่เปียกชื้น 

  • เช็ดตัวให้แห้ง 

  • หลีกเลี่ยงการแช่น้ำเป็นเวลานาน 

  • หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นหวัด 

  • ปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจาม 

  • ล้างมือเป็นประจำด้วยน้ำและสบู่ 

  • เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปี

2. โรคระบบทางเดินอาหาร

ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง, อาหารเป็นพิษ, อหิวาตกโรค, โรคบิด, ไทฟอยด์ และโรคตับอักเสบ ซึ่งรับเชื้อผ่านการกินอาหารหรือน้ำดื่ม ที่ปนเปื้อนเชื้อเหล่านี้เข้าไปจากน้ำสกปรก หรือขาดแคลนน้ำสะอาด อาการสำคัญ ถ่ายอุจจาระเหลว 3 ครั้งขึ้นไป, ถ่ายเป็นน้ำ หรือมีมูกเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง ใน 1 วัน นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง, คลื่นไส้, อาเจียน, ปวดศีรษะ, มีไข้, ปวดเมื่อยตามตัว, เบื่ออาหาร, อ่อนเพลีย, ตัวเหลือง, ตาเหลือง

การป้องกัน คือ 

  • กินอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด หรืออาหารกระป๋องที่ยังไม่หมดอายุ กระป๋องไม่บวมหรือเป็นสนิม รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่กินอาหารดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารที่เก็บไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึง ก่อนรับประทานทุกครั้ง ตลอดจนเลือกซื้อวัตถุดิบที่สด  สะอาด และมีคุณภาพ 

  • ดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำจากขวดที่ฝาปิดสนิทมีเครื่องหมาย อย.หรือน้ำต้มสุก 

  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ทุกครั้งก่อนกินอาหาร และหลังการใช้ห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก และใช้ช้อนกลางตักอาหาร เมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น 

  • ห้ามถ่ายอุจจาระลงในน้ำโดยตรง ถ้าส้วมใช้ไม่ได้ ให้ถ่ายลงในถุงพลาสติกปิดปากถุงให้แน่นแล้วนำไปใส่ในถุงขยะ

3. โรคฉี่หนู (โรคเลปโตสไปโรซิส)

เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่ออกมากับน้ำปัสสาวะของสัตว์ เช่น หนู, หมู, วัว, ควาย, สุนัข, แพะ, แกะ ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำ ลำคลองแอ่งน้ำขังเล็ก ๆ รวมทั้งพื้นดินโคลนที่ชื้นแฉะ คนจะได้รับเชื้อผ่านทาง บาดแผล รอยถลอก รอยขีดข่วน หรือเชื้ออาจไชผ่านทางผิวหนังที่อ่อนนุ่ม จากการแช่น้ำนาน และจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำ ที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป

อาการสำคัญ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงฉับพลัน (หลังลุยหรือแช่น้ำ 1 – 2 สัปดาห์), ปวดศีรษะ, ปวดเมื่อย, กล้ามเนื้อมาก,โดยเฉพาะบริเวณน่องและโคนขาหรือปวดหลัง อาจมีอาการตาแดง, มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง, ไอมีเลือดปน, ตัวเหลือง, ตาเหลือง, ปัสสาวะน้อย, ซึม, สับสน

การป้องกัน คือ 

  • หลีกเลี่ยงการลุยน้ำลุยโคลน

  • ป้องกันไม่ให้บาดแผลสัมผัส ถูกน้ำ โดยการสวมร้องเท้าบูธยาง 

  • รีบล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่แล้วเช็ดให้แห้ง โดยเร็วที่สุด เมื่อต้องลุยน้ำย่ำโคลน 

4. โรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อรา และแผลพุพองเป็นหนอง

เกิดจากการย่ำน้ำ หรือแช่น้ำที่มีเชื้อโรค หรืออับชื้นจากเสื้อผ้า และเครื่องแต่งกายที่ไม่สะอาดเป็นเวลานาน โดยจะมีอาการ เท้าเปื่อย เป็นหนอง และเริ่มคันตามซอกนิ้วเท้าผิวหนังลอกเป็นขุย จากนั้นผิวหนังจะพุพองนิ้วเท้าหนาและแตก มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนคือผิวหนังอักเสบบวมแดง

การป้องกัน คือ 

  • หลีกเลี่ยงการลุยน้ำลุยโคลน 

  • ป้องกันไม่ให้บาดแผลสัมผัสถูกน้ำโดยการสวมร้องเท้าบูธยาง 

  • รีบล้างเท้าให้สะอาดด้วย สบู่ แล้วเช็ดให้แห้งโดยเร็วที่สุด เมื่อต้องลุยน้ำ ย่ำโคลน

  • หากมีบาดแผลควรใช้ แอลกอฮอล์เช็ดแล้วทาด้วยยาฆ่าเชื้อ 

5. โรคตาแดง

อาการสำคัญ ตาแดง, ระคายเคืองตา, น้ำตาไหล, กลัวแสง, มีขี้ตา, หนังตาบวม 

การป้องกัน คือ

  • ล้างด้วยน้ำสะอาดทันทีถ้ามีฝุ่นละอองหรือน้ำสกปรกเข้าตา

  • ไม่ควรขยี้ตาด้วยมือที่สกปรก

  • อย่าให้แมลงตอมตา

  • แยกผู้ป่วยตาแดงออกจากคนอื่นรอบตัว 

  • ไม่ใช้สิ่งของร่วมกันเพื่อป้องกันการระบาดของโรค 

6. ไข้เลือดออก

มียุงเป็นพาหะของโรค ที่วางไข่บริเวณที่มีน้ำท่วมขัง อาการสำคัญ คือ ไข้สูง, ปวดศีรษะ, ปวดเมื่อยตามตัว, หน้าแดง, จุดเลือดออกตามผิวหนัง, เลือดออกตามไรฟัน

การป้องกัน คือ

  • ระวังอย่าให้ยุงกัดในเวลากลางวัน 

  • นอนในมุ้ง 

  • ทายากันยุง 

  • กำจัดลูกน้ำและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยปิดฝาภาชนะเก็บน้ำไม่ให้มีน้ำขัง 

7. อุบัติเหตุไฟดูด เหยียบของมีคม และการถูกสัตว์ร้ายมีพิษกัดต่อย

ได้แก่ งู, ตะขาบ, แมงป่อง

การป้องกันถูกสัตว์มีพิษกัด ต่อย คือ

สำรวจตู้รองเท้า เสื้อ ผ้าเช็ดเท้า ท่อต่าง ๆ ขอบประตู หน้าต่างของบ้าน ที่มักพบสัตว์มีพิษอาศัยอยู่, จัดเก็บสิ่งของและเครื่องใช้ ให้สะอาด สอดส่องได้ง่าย, สำรวจสิ่งแปลกปลอมก่อนสวมใส่รองเท้าทุกครั้ง

ส่วนการป้องกันอุบัติเหตุจากของมีคม ไฟดูด คือ  

  • ถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้า สับคัตเอาต์ตัดไฟฟ้าในบ้านก่อนที่น้ำจะท่วมถึง

  • เก็บกวาดขยะ วัตถุแหลมคม ในบริเวณอาคารบ้านเรือน และตามทางเดินอย่างสม่ำเสมอ 

8. โรคเครียด  

ผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วม หรือกำลังอยู่ในที่ที่มีความเสี่ยงที่อาจถูกน้ำท่วม อาจจะเกิดภาวะเครียด จะมากหรือน้อยขึ้นกับปัจจัยส่วนตัว เช่นความมั่นคงทางอารมณ์ ทักษะในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ขนาดของความเสียหายของทรัพย์สินที่เกิดขึ้น ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความรุนแรงของความเครียด

หากมีความเครียดรุนแรงทำให้การทำกิจวัตรประจำวันเสียไป นอนไม่หลับ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ และแพทย์อาจให้ยาคลายเครียด ช่วยในรายที่มีอาการมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และอาจต้องพบจิตแพทย์ตามความจำเป็น การดูแลตนเองเบื้องต้นในช่วงน้ำท่วมจะช่วยป้องกัน และลดความเสี่ยงในการเกิดโรค

สุขาภิบาลในศูนย์พักพิง  

ขณะที่ภายในศูนย์พักพิงต่าง ๆ ที่มีประชาชนอพยพมาพักอาศัยชั่วคราวจำนวนมากนั้น นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย ย้ำว่า ต้องคำนึงถึงการดูแลและจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นพื้นที่แพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ โดยการจัดการสุขาภิบาลพื้นที่ฐานที่ดี เช่น 

  • จัดให้มีถังขยะและถุงดำสำหรับใส่ขยะที่เพียงพอกับจำนวนผู้อพยพ

  • ขอให้ประชาชนพกเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ติดตัวไว้สำหรับฆ่าเชื้อโรค

  • การดูแลเรื่องการขับถ่ายในส้วมที่สะอาดมีการดูแลความสะอาดโถส้วมและอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องส้วม เช่น สายฉีดชำระ ขันน้ำ ก๊อกน้ำให้สะอาดทุกวัน กรณีเป็นส้วมฉุกเฉินควรใช้งานและดูแลความสะอาดร่วมกัน และประสานให้หน่วยงานท้องถิ่นนำสิ่งปฏิกูลจากส้วมฉุกเฉินไปกำจัดเป็นประจำ

  • ของใช้จำเป็นสำหรับประชาชนก็ควรต้องเตรียมาให้เพียงพอ เช่น ผ้าอนามัย และยาคุมสำหรับผู้หญิง ถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชาย

  • ผ้าอ้อม สำเร็จรูปสำหรับเด็กเล็กและคนแก่ กระโถน ถุงพลาสติกพร้อมที่นั่งถ่ายแบบของคนป่วย และเสื้อชูชีพ 

ศูนย์พักพิงควรมีการจัดแบ่งโซนสำหรับกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง และกำหนดพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพ ตลอดจนให้ความรู้แก่ผู้อพยพในการดูแลสุขอนามัย การป้องกันความเสี่ยงสุขภาพเมื่อต้องอาศัยในศูนย์อพยพ พร้อมสนับสนุนชุด V-Clean ชุด Sanitation toolkit ชุดทดสอบการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารและน้ำ ชุดทดสอบคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำสำหรับใช้ในศูนย์อพยพ  และสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นให้แก่หน่วยงานในพื้นที่ เพื่อนำไปใช้ช่วยเหลือประชาชน

จากการประเมินความเสี่ยงภายในศูนย์อพยพ เบื้องต้นบางพื้นที่ยังคงพบปัญหาด้านการสุขาภิบาลที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น มีการนำเสื้อผ้ามาบริจาคจำนวนมาก ซึ่งมีความเสี่ยงการติดโรคที่ปนมาในเสื้อผ้า มีการประกอบปรุงอาหารที่พื้น โดยไม่ถูกสุขลักษณะ มีการปนเปื้อนเชื้อโรคได้ จึงต้องมีการจัดการด้านการสุขาภิบาลที่ถูกต้อง เน้นย้ำให้มีการจัดการเสื้อผ้าที่มาบริจาคให้สะอาด โดยอาจทำการซักและใส่น้ำยาฆ่าเชื้อ ผึ่งให้แห้งก่อนนำมาใช้ 

สำหรับการปรุงประกอบอาหารภายในศูนย์พักพิงนั้น ให้เฝ้าระวังการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหาร โดยให้ประกอบปรุงอาหารในพื้นที่สูงจากพื้น เกิน 60 เซนติเมตร และมีการปรุงอาหารปรุงสุกใหม่อยู่เสมอ รวมทั้งมีการตรวจประเมินคลอรีนในน้ำใช้ เพื่อป้องกันโรคติดต่อ โรคระบาดต่าง ๆ ได้ ตลอดจนมีการจัดการขยะมูลฝอย โดยต้องใช้ถุงดำใส่ลงไปในถังขยะก่อนทุกครั้ง และให้ท้องถิ่นมาเก็บไปทุกวัน ป้องกันสัตว์แมลงนำโรคมาคุ้ยเขี่ยขยะ

“หลายพื้นที่ยังคงมีฝนตกหนัก หากเริ่มมีความเสี่ยงน้ำท่วม รีบเก็บสิ่งของขึ้นที่สูง ยกสะพานไฟลง ปิดประตูหน้าต่างบ้านให้มิดชิด เก็บรวบรวมของ ใช้จำเป็น ยาประจำตัว ไฟฉาย แบตเตอรี่สำรอง และรีบออกจากบ้านไปยังพื้นที่ปลอดภัยทันที โดยเฉพาะ กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถช่วยเหลือ และดูแลความปลอดภัยให้กับทุกท่านได้อย่างรวดเร็ว ลดความเสี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพได้”

นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา

ส่วนพื้นที่ที่เข้าสู่ระยะฟื้นฟูหลังน้ำลด เช่น จ.เชียงราย ได้สนับสนุนการทำความสะอาด ให้ความรู้ป้องกันตนเองจากเชื้อโรค การล้างทำความสะอาดบ้าน และการดูแลสถานที่สาธารณะจากปัญหา ซากปรักหักพัง ดินโคลน ฝุ่นละอองจากโคลนแห้ง ขยะที่ลอยมากับน้ำ เชื้อราในบ้าน สัตว์มีพิษ พาหะนำโรค ไฟฟ้ารั่ว ช็อต และไฟดูด 

นอกจากนี้ ยังจัดโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพแต่ละกลุ่มวัยในศูนย์อพยพ ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ จัดพื้นที่แม่ให้นมบุตร ส่งเสริมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เด็ก 0-5 ปี จัดพื้นที่เปลี่ยนผ้าอ้อม จัดมุมให้ความรู้เรื่องคุณค่าและปริมาณอาหารที่เหมาะสม จัดกิจกรรมหมุนเวียน เช่น มุมหนังสือ มุมศิลปะ เด็กอายุ 6-12 ปี เพิ่มการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ และผู้สูงอายุ จัดพื้นที่เปลี่ยนผ้าอ้อม การออกกำลังกายดูแลสุขภาพ เป็นต้น พร้อมดูแล เรื่องขยะ ห้องส้วม และอาหาร ให้เป็นไปตามหลักสุขาภิบาลด้วย

ดินโคลนแห้ง ห่วงแนวโน้มฝุ่น PM10 พุ่ง

ทั้งนี้ ใน จ.เชียงราย พบว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาด 10 ไมครอน หรือ PM10 สูงสุดอยู่ที่ 72 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ซึ่งแม้จะยังไม่เกินค่ามาตรฐาน 120 มคก./ลบ.ม. แต่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นช่วงเวลากลางวัน จากการทำความสะอาด และการจราจรที่ทำให้ฝุ่นจากดินโคลนที่เริ่มแห้งฟุ้งกระจาย จึงได้เน้นย้ำมาตรการคือ 

  1. ให้มีการเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM10 ในพื้นที่ 

  2. สื่อสารข้อมูลสถานการณ์ฝุ่นละอองและวิธีการป้องกันตนเอง โดยเฉพาะการสวมหน้ากาก ลดกิจกรรมกลางแจ้ง 

  3. เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ ใน 4 กลุ่มโรค ทั้งโรคตาโรคผิวหนัง โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด

  4. สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (หน้ากากอนามัย) ให้แก่กลุ่มเสี่ยง 

  5. ปรับระบบนัดและใช้ Telemedicine เพื่อลดการสัมผัสฝุ่น 

  6. จัดห้องปลอดฝุ่นในสถานบริการสาธารรสุข โดยปิดประตู หน้าต่างเพื่อลดฝุ่นเข้าอาคาร 

  7. ให้คำแนะนำประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คือ เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ในการจัดบ้านให้สะอาด 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS