เลือก สว. ไปกันต่อ ! สำรวจสนามเลือกสว. ระดับจังหวัด

สิ้นสุดไปแล้วกับการเลือก สว. ในระดับอำเภอ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา จากผู้สมัครที่ผ่านคุณสมบัติจำนวน 46,206 คน ผ่านการเลือกในรอบระดับอำเภอจำนวน 23,645 คน เพื่อเข้าไปสู่รอบการเลือกระดับจังหวัด ซึ่งมีขั้นตอนกระบวนการคล้ายกับขั้นตอนการเลือกระดับอำเภอ นั่นคือ การเลือกกันเองในกลุ่ม จากนั้นทำการแบ่งสาย และทำการเลือกไขว้ ซึ่งจะเหลือคนได้ไปต่อระดับประเทศ จังหวัดละสูงสุด 2 คนต่อกลุ่ม (หรือรวมไม่เกิน 40 คนต่อจังหวัด)

ก่อนที่จะไปถึงการเลือกระดับจังหวัด สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีการเผยแพร่รายชื่อผู้สมัคร สว. ที่ผ่านเข้ารอบระดับจังหวัด เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา

The Active ทำการวิเคราะห์ข้อมูลผู้สมัคร สว. จากข้อมูลของ ปัญจมพงศ์ เสริมสวัสดิ์ศรี ซึ่งได้ทำการแปลงข้อมูลผู้สมัครจากเว็บไซต์ กกต. เป็นรูปแบบ JSON เพื่อนำไปวิเคราะห์ข้อมูลต่อได้

กลุ่มอาชีพ : กลุ่มผู้สูงอายุฯ ไปต่อสูงสุด – กลุ่มอุตสาหกรรม ไปต่อรั้งท้าย

จากจำนวนผู้ผ่านการเลือก สว. ระดับอำเภอ ทั้งหมด 23,645 คน พบว่ากลุ่มที่มีจำนวนผู้สมัครได้ไปต่อสูง ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่มีผู้สมัครสูง

3 กลุ่มแรกที่ผ่านเข้ารอบระดับจังหวัด ได้แก่

  • กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น (กลุ่มที่ 15) 1,984 คน
  • กลุ่มการศึกษา (กลุ่มที่ 3) 1,975 คน
  • กลุ่มสตรี (กลุ่มที่ 14) 1,800 คน

3 กลุ่มสุดท้ายที่ผ่านเข้าระดับจังหวัด

  • กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม (กลุ่มที่ 13) 671 คน
  • กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม (กลุ่มที่ 18) 616 คน
  • กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม (กลุ่มที่ 12) 443 คน

กลุ่มอาชีพ : ผู้สูงอายุฯ มีสัดส่วนไม่ได้ไปต่อมากสุด – อุตสาหกรรม มีสัดส่วนไม่ได้ไปต่อน้อยสุด

หากพิจารณาในมุมเปรียบเทียบสัดส่วนผู้สมัครกับผู้ผ่านเข้ารอบก็จะมีความสัมพันธ์กัน คือ กลุ่มไหนที่มีผู้สมัครเยอะ จะมีสัดส่วนคนไม่ได้ไปต่อรอบจังหวัดมาก ส่วนกลุ่มไหนมีคนสมัครน้อย ก็จะมีโอกาสได้ไปต่อมาก

โดย 3 อันดับกลุ่มที่มีสัดส่วนไม่ได้ไปต่อมากที่สุด ได้แก่

  • กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น (กลุ่ม 15) มีผู้สมัครที่คุณสมบัติผ่าน 4,973 คน ได้ไปต่อระดับประเทศ 1,984 คน ไม่ได้ไปต่อ 2,989 คน (คิดเป็น 60.10%)
  • กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ  (กลุ่ม 19) มีผู้สมัครที่คุณสมบัติผ่าน 3,659 คน ได้ไปต่อระดับประเทศ 1,465 คน ไม่ได้ไปต่อ 2,194 คน (คิดเป็น 59.96%)
  • กลุ่มสตรี (กลุ่ม 14) มีผู้สมัครที่คุณสมบัติผ่าน 4,384 คน ได้ไปต่อระดับประเทศ 1,800 คน ไม่ได้ไปต่อ 2,584 คน (คิดเป็น 58.94%)

และ 3 อันดับกลุ่มที่มีสัดส่วนไม่ได้ไปต่อน้อยที่สุด ได้แก่

  • กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่น (กลุ่มที่ 10) มีผู้สมัครที่คุณสมบัติผ่าน 1,146 คน ได้ไปต่อระดับประเทศ 808 คน ไม่ได้ไปต่อ 338 คน (คิดเป็น 29.49%)
  • กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม (กลุ่มที่ 18) มีผู้สมัครที่คุณสมบัติผ่าน 829 คน ได้ไปต่อระดับประเทศ 616 คน ไม่ได้ไปต่อ 213 คน (คิดเป็น 25.69%)
  • กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม (กลุ่มที่ 12) มีผู้สมัครที่คุณสมบัติผ่าน 573 คน ได้ไปต่อระดับประเทศ 443 คน ไม่ได้ไปต่อ 130 คน (คิดเป็น 22.69%)

เลือกสว. ระดับจังหวัด กรุงเทพฯ แข่งดุ – สมุทรสงคราม แข่งน้อย

สำหรับรอบการเลือก สว. ครั้งถัดไปคือการเลือกระดับจังหวัด ซึ่งจะมีการจัดขึ้นในวันที่ 16 มิ.ย. 2567 โดยกระบวนการจะมีความคล้ายกับการเลือกระดับอำเภอ เพียงแต่จำนวนคนที่จะไประดับประเทศจะเหลือเพียง 2 คนต่อกลุ่มต่อจังหวัดเท่านั้น (รวมเป็นจังหวัดละ 40 คน) หมายความว่าจังหวัดที่มีผู้สมัครผ่านเข้ารอบมามากย่อมมีอัตราการแข่งขันที่สูงกว่าจังหวัดที่มีผู้ผ่านเข้ารอบมาน้อย

หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า จังหวัดที่มีอำเภอจำนวนมากก็มีแนวโน้มที่ผู้สมัครจะผ่านมาสู่รอบระดับจังหวัดมากกว่าจังหวัดที่มีจำนวนอำเภอน้อยกว่า และทำให้การแข่งขันในระดับประเทศต้องมีการแข่งขันสูงขึ้นตามไปด้วย โดยรอบที่ผ่านมาจากการเลือกระดับอำเภอ (เขต) เยอะ แต่ละอำเภอส่งได้ผู้ผ่านเข้ารอบสูงสุด 3 คนต่อกลุ่ม หรือรวม 60 คนต่ออำเภอ ดังนั้นจังหวัดที่มีจำนวนอำเภอเยอะก็มีแนวโน้มจะมีผู้สมัครผ่านสู่รอบระดับจังหวัดเยอะตามไปด้วย

โดย 5 อันดับจังหวัดที่มีจำนวนผู้ผ่านเข้ารอบสูงสุด ได้แก่

  • กรุงเทพฯ ไปต่อ 1,634 คน
  • บุรีรัมย์ ไปต่อ 982 คน
  • เชียงใหม่ ไปต่อ 895 คน
  • ศรีสะเกษ ไปต่อ 861 คน
  • นครศรีธรรมราช ไปต่อ 807 คน

และ 5 อันดับจังหวัดที่มีจำนวนผู้ผ่านเข้ารอบต่ำสุด ได้แก่

  • นครพนม ไปต่อ 104 คน
  • พังงา ไปต่อ 92 คน
  • น่าน ไปต่อ 83 คน
  • ตาก ไปต่อ 79 คน
  • สมุทรสงคราม ไปต่อ 77 คน

กรุงเทพฯ ครองแชมป์ 17 จาก 20 กลุ่ม มีคนไปต่อมากสุดแต่ละกลุ่ม

นอกจากสนามกรุงเทพฯ จะครองแชมป์มีจำนวนคนไปต่อสูงที่สุดแล้ว ยังมีจำนวนกลุ่มคนที่มีผู้ไปต่อในระดับจังหวัดมากที่สุด

ยกเว้น 3 กลุ่ม ที่เป็นจังหวัดอื่นที่มีผู้ไปต่อระดับจังหวัดมากที่สุด ดังนี้

  • กลุ่มทำนา (กลุ่มที่ 5) มีผู้ไปต่อระดับจังหวัดมากที่สุดที่จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 65 คน
  • กลุ่มทำสวน (กลุ่มที่ 6) มีผู้ไปต่อระดับจังหวัดมากที่สุดที่จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 68 คน
  • กลุ่มกิจการอื่น (กลุ่มที่ 10) มีผู้ไปต่อระดับจังหวัดมากที่สุดที่จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 54 คน

เปิดพื้นที่ไม่ต้องแข่ง ฉลุยผ่านเข้ารอบเพราะผู้สมัครในกลุ่มไม่ถึง 2 คน

กระบวนการการคัดเลือกในระดับจังหวัด จะคัดเหลือ 2 คนต่อกลุ่มต่อจังหวัด เป็นที่น่าสังเกตว่า ถ้ากลุ่มไหนในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งมีจำนวนคนน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 คน ก็มีแนวโน้มที่จะได้ผ่านเข้าไปเลยโดยไม่ต้องแข่งขันกับผู้สมัครคนอื่นในกลุ่มเดียวกัน (แต่ต้องได้คะแนนจากผู้สมัครกลุ่มอื่นในรอบ “เลือกไขว้” ด้วย) โดยมีกลุ่มทั้งหมด 110 กลุ่ม และมีรายชื่อจังหวัดที่มีจำนวนกลุ่มของผู้สมัครที่ไม่เกิน 2 คนมากที่สุด คือ

  • จ.ตาก มี 9 กลุ่มอาชีพ
  • จ.น่าน มี 7 กลุ่มอาชีพ
  • จ.สมุทรสงคราม มี 6 กลุ่มอาชีพ

นอกจากนี้ยังมีอีก 33 จังหวัดที่ไม่มีกลุ่มอาชีพไหนในจังหวัดนั้น ๆ ที่มีคนไม่เกิน 2 คนเลย

เพศ : สัดส่วนผู้สมัครผู้หญิงลดลงเกือบ 6% สัดส่วนผู้ชายขึ้นมาครอง 2 ใน 3

เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 67 กกต. ได้ประกาศรายชื่อผู้สมัคร สว. ที่คุณสมบัติผ่านหลังการตรวจสอบ โดยมีจำนวนทั้งหมด 46,206 คน โดยแบ่งเป็นเพศชาย 26,727 คน (57.84%) และเพศหญิง 19,479 คน (42.16%)

ในขณะที่จำนวนผู้สมัครที่ผ่านรอบการเลือกระดับอำเภอไปต่อรอบระดับจังหวัดนั้น กกต. รายงานว่า มีจำนวน 23,645 คน (ลดลง 48.83% หรือเกือบครึ่ง) โดยแบ่งเป็นเพศชาย 15,077 คน (63.76%) และเพศหญิง 8,568 คน (36.24%)

จะเห็นได้ว่า ในการเลือกระดับจังหวัดมีสัดส่วนผู้หญิงลดลง 5.92% (หรือมีสัดส่วนผู้ชายเพิ่มขึ้น 5.92%) จากตอนสมัคร

และสัดส่วนผู้ชายปัจจุบันอยู่ที่ 63.76% ซึ่งคิดเป็นเกือบ 2 ใน 3 ของจำนวนผู้สมัครทั้งหมด แม้ว่าในการเลือก สว. ครั้งนี้ จะมีกลุ่มสตรี (กลุ่ม 14) แยกขึ้นมาต่างหากแล้วก็ตาม

อายุ : ช่วงอายุ 60-69 ปี มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากที่สุด ช่วงอายุ 70-79 ปี มีสัดส่วนลดลงมากที่สุด

แม้การกระจายตัวของช่วงอายุระหว่างผู้สมัครที่คุณสมบัติผ่าน (จำนวน 46,205 คน) และผู้สมัครที่ผ่านไปรอบระดับจังหวัด (23,645 คน) จะไม่แตกต่างกันมาก โดยมีการกระจายลักษณะเบ้ขวา (right-skewed) และสัดส่วนผู้สมัครสูงขึ้นโดดช่วงอายุ 60 ต้น ๆ ซึ่งคือช่วงที่เริ่มเกษียณอายุ

แต่หากเปรียบเทียบสัดส่วนการเปลี่ยนแปลงของก่อนและหลังการเลือกระดับอำเภอจะพบว่า สัดส่วนของผู้สมัครช่วงอายุ 60 – 69 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นสูงที่สุด จากเดิมในรอบสมัครอยู่ที่ 19,538 คน จาก 46,205 คน คิดเป็น 42.29% เหลือไปต่อรอบระดับจังหวัด 10,327 คน จาก 23,645 คน 43.68% (หรือ โดยรวม เพิ่มขึ้น 1.39%)

ในขณะที่กลุ่มช่วงอายุ 70 – 79 ปี มีสัดส่วนลดลงสูงที่สุด จากเดิมในรอบสมัครอยู่ที่ 4,829 คน จาก 46,205 คน คิดเป็น 10.45% เหลือไปต่อรอบระดับจังหวัด 2,204 คน จาก 23,645 คน คิดเป็น 9.32% (หรือโดยรวมลดลง 1.13%)

ตกรอบเพราะเลือกไขว้ไม่ได้ : 11 คนจาก 8 อำเภอ

จากระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2567 มีการระบุถึงการเลือกระดับอำเภอว่า อำเภอใดมีผู้สมัครกลุ่มเดียว จะต้องมีการจัด “เลือกกันเอง” ในกลุ่มเดียวกัน แต่ให้ “งดดำเนินการ” ในรอบ “เลือกไขว้” เพราะ “ไม่มีผู้สมัครกลุ่มอื่นให้เลือกและผู้สมัครจะเลือกตนเองไม่ได้”

ส่งผลให้ผู้สมัครสว. ในอำเภอที่มีอยู่กลุ่มเดียว ต้องตกรอบไป (ไม่ว่าจะมีผู้สมัครกี่คนก็ตาม) โดยอำเภอที่ตกรอบมีทั้งหมด 11 คน จาก 8 อำเภอ แบ่งเป็น

อำเภอที่มีผู้สมัครตกรอบ 1 คน ได้แก่

  • อ.เมืองยาง จ.นครราชสีมา ในกลุ่ม 14 – สตรี
  • อ.เชียงกลาง จ.น่าน ในกลุ่ม 14 – สตรี
  • อ.นาน้อย จ.น่าน ในกลุ่ม 18 – สื่อสารมวลชน นักเขียน
  • อ.แม่จริม จ.น่าน ในกลุ่ม 11 – ท่องเที่ยว
  • อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์ ในกลุ่ม 15 – ผู้สูงอายุ คนพิการ ชาติพันธุ์ ฯลฯ
  • อ.ทุ่งฝน จ.อุดรธานี ในกลุ่ม 2 – กฎหมาย

อำเภอที่มีผู้สมัครตกรอบ 2 คน ได้แก่

  • อ.อุ้มผาง จ.ตาก ในกลุ่ม 3 – การศึกษา

อำเภอที่มีผู้สมัครตกรอบ 3 คน ได้แก่

  • อ.ปางศิลาทอง จ.กำแพงเพชร ในกลุ่ม 3 – การศึกษา

แม้มีผู้สมัครเพียง 2 กลุ่มก็ยังเลือกไขว้เพื่อไปต่อได้

ในขณะที่ก่อนหน้านี้ พ.ร.ป.สว. มาตรา 40 (10) กำหนดให้ขั้นตอน “เลือกไขว้” มีการแบ่งสายออกเป็นไม่เกิน 4 สาย แต่ละสายไม่น้อยกว่า 3 กลุ่ม และไม่เกิน 5 กลุ่ม

ทำให้เกิดข้อสังเกตว่า อำเภอที่มีผู้สมัครเพียง 2 กลุ่มจะตกรอบเพราะ “เลือกไขว้” ไม่ได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบรายชื่อผู้สมัครสว. ที่ได้ไปต่อระดับจังหวัดพบว่า ในอำเภอที่มีผู้สมัคร 2 กลุ่มก็ยังมีการได้ไปต่อในระดับจังหวัดเหมือนอำเภออื่น ๆ

ที่น่าสนใจก็คือมีบางอำเภอที่มีผู้สมัคร 2 กลุ่ม แต่มีผู้ผ่านไปต่อระดับจังหวัดเพียง 1 กลุ่มเท่านั้น (ในขณะที่อีกกลุ่มไม่มีใครได้ไปต่อเลย) ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากการที่ผู้สมัครอีกกลุ่มไม่ได้ลงคะแนนเสียงให้ใครเลยในรอบ “เลือกไขว้” ทำให้ในกลุ่มนั้นไม่มีใครได้ไปต่อ ได้แก่

  • อ.สองแคว จ.น่าน ในกลุ่ม 15 – ผู้สูงอายุ คนพิการ ชาติพันธุ์ ฯลฯ มีผู้สมัคร 2 คนแต่ไม่มีใครได้ไปต่อ
  • อ.กู่แก้ว จ.อุดรธานี ในกลุ่ม 3 – การศึกษา มีผู้สมัคร 2 คนแต่ไม่มีใครได้ไปต่อ

อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธนธร จิรรุจิเรข

สงสัยว่าตัวเองอยากเป็นนักวิเคราะห์ data ที่เขียนได้นิดหน่อย หรือนักเขียนที่วิเคราะห์ data ได้นิดหน่อยกันแน่