พินัยกรรมจนข้ามรุ่น: ข้อท้าทายเชิงนโยบายแก้ปัญหาความจน

เวทีสาธารณะ “ความจนข้ามรุ่นในสังคมไทย และข้อท้าทายเชิงนโยบาย” เปิดเผยการศึกษาโครงการวิจัย “ความจนข้ามรุ่นในสังคมไทย ภายใต้ความท้าทายเชิงโครงสร้าง” ปีที่1 มีผู้เข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหาและข้อมูลที่เกี่ยวกับความยากจนข้ามรุ่น อาทิ รศ.กนกวรรณ มะโนรมย์ หัวหน้าคณะโครงการวิจยัคณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และทีมวิจัย, สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยเพื่อการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI, มนทิรา เข็มทอง ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน, ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กิตติ อินทรกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

รอคอยข้ามรุ่น: มานุษยวิทยาว่าด้วยเวลาที่รอคอยของคนยากจนกับนโยบายการศึกษาของไทย โดย ผศ.ฐานิดา บุญวรรโน งานวิจัยชิ้นนี้ ศึกษาวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการทำงานภาคสนามทางมานุษยวิทยาใน 10 ครัวเรือนของจังหวัดพิษณุโลกที่มีฐานะยากจน ขาดเงินออม มีอัตราการพึ่งพิงกันในครัวเรือนสูงและการศึกษาต่ำอันเป็นคุณลักษณะของครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นที่ระบุไว้ในหมุดหมายที่ 9 ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570)

ข้อมูลทิศทางการพัฒนาของประเทศพบว่า ข้อมูลสถิติสำรวจในปีพ.ศ. 2564 พบจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทยในช่วงอายุ 15-39 ปี นั้นยังคงต่ำกว่า 12 ปี แต่จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้นเล็กน้อยแต่ยังไม่ได้ช่วยให้เด็กรุ่นใหม่ในหลายครัวเรือนยากจนมีโอกาสเข้าศึกษาต่อถึงระดับมหาวิทยาลัย หรือมีโอกาสประกอบอาชีพในฐานะนายจ้าง ข้าราชการ ผู้จัดการ ผู้ประกอบวิชาชีพ 

ในงานวิจัยระบุข้อมูลว่า สัดส่วนคนระดับรายได้ 20% ล่างได้รับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยอยู่ที่ 1.2% ในขณะที่คนระดับรายได้ 9% และ 1% บนสุดได้รับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยอยู่ที่ 39% หรือมากกว่า และพบว่า สัดส่วนคนระดับรายได้ 20% ล่างสามารถเข้าถึงสถานะการทำงาน เช่น การเป็นนายจ้าง ข้าราชการได้ไม่ถึง 2% นอกจากเด็กในครัวเรือนยากจนจะมีโอกาสเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยอย่างจำกัดแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนเรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลายอีกด้วย 

ในปี 2564 ข้อมูลสถิติรายงานว่า มีจำนวนนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาประมาณ 238,707 คน สังกัด สพฐ. 78,003 คน, สังกัด สป. 50,592 คน, สังกัด สอศ. 55,599 คน และผู้พิการในวัยเรียนสังกัด พม. 54,513 คน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 2565 ประกอบกับข้อมูลจาก TPMAP ในปี 2565 ได้รายงานว่ามีครัวเรือนไทยประมาณ 597,248 ครัวเรือนที่มีแนวโน้มจะตกอยู่ในความยากจนข้ามรุ่น 

ข้อมูลแวดล้อมเหล่านี้อาจช่วยตั้งข้อสังเกตได้ว่านโยบายการศึกษาของไทยที่ผ่านมามีส่วนช่วยขยายโอกาสทางการศึกษา แต่งบประมาณที่ลงไปกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อาจยังไม่เพียงพอต่อการตัดตอนวัฏจักรความยากจนข้ามรุ่นในครัวเรือนไทยได้อย่างเบ็ดเสร็จ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาก็ดี หรือการขาดโอกาสในการศึกษาต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับและขั้นพื้นฐานก็ดีล้วนเกี่ยวโยงอย่างแยกไม่ออกจากนโยบายสังคมด้านอื่น ๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับรายได้ของผู้ปกครองและเศรษฐานะโดยรวมของครัวเรือน

ผู้วิจัยสรุปลักษณะของครัวเรือนที่มีแนวโน้มว่าจะส่งผ่านหรือได้ส่งผ่านความยากจนจากรุ่นสู่รุ่นไปแล้ว เช่น การไร้ที่ดิน ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือที่ดินติดจำนอง รวมทั้งไม่สามารถยังชีพจากการเพาะปลูก ซึ่งเชื่อมโยงกับค่าใช้จ่ายด้านอาหารในครัวเรือนสูงและการมีหนี้สินในครัวเรือน ไม่มีเงินออมและไม่มีสินทรัพย์ที่สามารถแปลงเป็นเงินออม มีอัตราการพึ่งพิงกันในครัวเรือนสูงมาก ในครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นมักมีคนแก่ คนพิการ คนว่างงาน เด็ก หากใครคนใดคนหนึ่งที่หาเงินเข้าบ้านได้มากที่สุดเกิดล้มป่วย บาดเจ็บหรือตกงาน คนอื่น ๆ ในครัวเรือนจะได้รับผลกระทบตามกันอย่างรุนแรงและอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

มีลักษณะของครัวเรือนข้ามรุ่น (skipped generation household) ที่เด็กรุ่น Gen Z และ Gen Alpha ต้องอาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย (Baby boomer และ Gen X) โดยคนรุ่นพ่อแม่ (Gen Y) ต้องออกไปหางานทำนอกพื้นที่แต่ไม่มีความสม่ำเสมอในการส่งเสียเงินค่าเลี้ยงดูบุตรให้กับปู่ย่าตายาย เด็กรุ่น Gen Z และ Gen Alpha เพศหญิงที่อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายายมีความเสี่ยงที่จะมีครอบครัวหรือตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรหรือเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศ เนื่องจากอยู่ในบ้านที่มีสภาพทรุดโทรมชำรุด ไม่แน่นหนาและอยู่ในสภาพแวดล้อมของชุมชนที่ไม่ปลอดภัย เช่น แวดล้อมไปด้วยกลุ่มวัยรุ่นที่ติด/ค้ายาเสพติด ไม่มีอาชีพและรายได้ที่สม่ำเสมอและมั่นคง ส่วนมากเป็นแรงงานนอกระบบและเสี่ยงต่อการตกงานอยู่เสมอ ส่วนมากพบการหย่าร้างและสมรสใหม่ (หลายครั้ง) และพบลักษณะของบุตรต่างพ่อต่างแม่อาศัยอยู่ร่วมกันในครัวเรือนเดียวกัน

ลักษณะข้างต้นเป็นลักษณะทั่วไปของครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยพบว่า ในแต่ละช่วงรุ่นของครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นนั้นมีลักษณะเฉพาะในปัญหาชีวิต ในสิ่งที่ต้องทำในชีวิตประจำวัน (ภาระ หน้าที่ ความรับผิดชอบ) ซึ่งเชื่อมโยงกับทัศนคติและความหวังต่อนโยบายการศึกษาไทยที่แตกต่างออกไป 

งานวิจัยมีข้อเสนอ เชิงนโยบายต่อคนรุ่น Baby boomer และ Gen X เช่น เป้าหมายเฉพาะของนโยบายคือ การลดการพึ่งพิงของคนรุ่น Baby boomer และ Gen X ต่อคนรุ่น Gen Y ในครัวเรือน 

 ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคนรุ่น Gen Y เป้าหมายเฉพาะของนโยบายคือ  การแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน, เพิ่มเม็ดเงินในการลงทุนด้านการศึกษาต่อคนรุ่น Gen Z และ Alpha และลดการพึ่งพิงของคนรุ่น Gen Y ต่อคนรุ่น Gen Z และ Alpha ในอนาคต

ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคนรุ่น Gen Z และ Alpha เป้าหมายเฉพาะของนโยบายคือ การขยายโอกาสทางการศึกษา ทำให้ความยากจนไม่ใช่ปัจจัยที่จะทำให้คนหลุดออกจากระบบการศึกษา 

ภูผายอดด้วน: “กับดัก”ความยากจนจากการต่อสู้กับทุนอันยาวนาน ของกลุ่มคัดค้านเหมืองแร่หินดงมะไฟ บทความวิจัย ของ “กิติมา ขุนทอง” คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสลกนครมุ่งนำเสนอประเด็นความยากจนข้ามรุ่นในพื้นที่ของกลุ่มอนุรักษ์ป่าเขาเหล่าใหญ่ – ผาจันได ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ที่เกิดจากการเคลื่อนไหวคัดค้านนโยบายการจัดการทรัพยากรเหมืองแร่

งานวิจัยชิ้นนี้สัมภาษณ์ กลุ่มสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ฯ อย่างเป็นทางการจำนวน 12 คน และไม่เป็นทางการมากกว่า 10 คน โดยพิจารณากลุ่มประชากรที่ร่วมเคลื่อนไหวตั้งเริ่มคัดค้าน 

กิติมา ค้นพบว่า การต่อสู้กับรัฐและบริษัทที่ทำเหมืองหินดงมะไฟที่มีมาอย่างยาวนาน ทำให้ชาวบ้านขาดโอกาสพัฒนาอาชีพ และไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากร   ทำให้เกิดความยากจนของรุ่นพ่อแม่ ที่ออกมาคัดค้านเหมืองแร่หินดงมะไฟ และได้ส่งต่อถึงรุ่นลูกหลาน เนื่องจากการเข้าไม่ถึงทรัพยากรป่าไม้ และที่ดินที่ได้กลายเป็นที่เหมืองหิน ซึ่งเคยเป็นแหล่งรายได้หลักของชุมชน

อีสานถูกสร้างบนความยากจน ครองสัดส่วนความจนมากที่สุดไม่ว่าจะพัฒนายังไง… เหมืองแร่เป็นจินตนาการใหม่ของภาคอีสาน แร่ในฐานะเศรษฐกิจสร้างชาติ” 

กรณีเหมืองหินดงมะไฟ สะท้อนโครงสร้างนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของไทยที่ใช้แนวทางเปลี่ยนทรัพยากรให้เป็นสินค้าได้สร้างผลกระทบให้เกิดความยากจนเชิงซ้อน คือ  “จน” จากการถูกพรากและกีดกันออกจากทรัพยากร และ “จน” จากการสูญเสียเวลาและโอกาสทำมาหากิน สร้างโอกาสทั้งทางเศรษฐกิจ โอกาสทางสังคม โอกาสทางการศึกษา อันเกิดจากการต่อสู้เพื่อแย่งชิงทรัพยากรกลับคืนมา

ความยากจนที่เกิดขึ้นจากปฏิบัติการแย่งชิงทรัพยากรของชุมชน เป็น “กับดัก” สำคัญต่อการเกิดสภาวะ “ความเสี่ยงจนข้ามรุ่น” ให้กับคนที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว หรือคนรุ่นลูกและรุ่นหลานที่สูญเสียโอกาส ต่าง ๆ ในชีวิตความยากจน จึงไม่อาจละเลยมิติของอารมณ์ความรู้สึก และความสัมพันธ์ระหว่างคนและทรัพยากร ตลอดจนต้องพิจารณาให้เห็นอารมณ์ในระดับโครงสร้างที่เชื่อมโยงเข้ากับการตกเป็นผู้ถูกกดทับและการดิ้นรนเพื่อหลุดพ้นจากการกดขี่จากความทุกข์ทางอารมณ์ จากการถูกแย่งยึดทรัพยากร

กิติมา เสนอว่า หากประเทศไทยต้องการขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำตามเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ที่จะประกาศใช้ในปี 2566 การหามาตรการรับมือเป็นเพียงปลายน้ำ แต่สิ่งสำคัญควรกำจัด “กับดัก”และ “หลุมพราง” ที่กระจัดกระจายซ่อนอยู่ นั่นคือการกลับมาสำรวจความยากจนที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายการจัดการทรัพยากรของรัฐ โดยเฉพาะด้านทรัพยากรแร่ ซึ่งปัจจุบันเป็นกำลังเป็นปัญหาที่ขยายวงกว้างในหลายภูมิภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคอีสานที่เปิดสัมปทานทั้งแร่หิน-ทราย แร่โปแตช แร่ทองคำ และแร่ปิโตเลียม  

รัฐควรมองปัญหาในมิติที่รอบด้านทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมการเมือง อารมณ์ความรู้สึก รวมทั้งผลกระทบทางอ้อมที่มาจากการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน เช่น การเคลื่อนไหวคัดค้านของชาวบ้านที่ต้องใช้ทรัพยากรทั้งแรงกาย แรงใจ เงินและโอกาสภายใต้ปฏิบัติการเหล่านั้น รวมไปถึงผลกระทบหลังการดำเนินกิจการเหมืองแร่ การฟื้นฟูก็เป็นนับเป็นหนึ่งกับดักของความยากจนที่ชุมชนต้องเผชิญและนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะความจนข้ามรุ่น 

ภาวะความยากจนข้ามรุ่นของผู้หญิงในพื้นที่ชุมชนประมงขนาดเล็กในบริบทสถานการณ์ ภัยพิบัติจังหวัดปัตตานีประเทศไทย  โดย อลิสา หะสาเมาะ  คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภาวะความยากจนข้ามรุ่นของผู้หญิงชาวประมงขนาดเล็กในบริบทสถานการณ์ภัยพิบัติ พื้นที่ ม.1 ตำบลบางตาวา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ความยากจนข้ามรุ่นของผู้หญิงในหมู่บ้านแห่งนี้ โดยมีกฎหมายป่าชายเลนและกฎหมายประมงที่สร้างข้อจำกัดและกดทับ ชุมชนประมงแห่งนี้มีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับทะเลและชายฝั่ง ชาวบ้านมีประสบการณ์ภัยพิบัติจากการกัดเซาะชายฝั่งมาตลอด 70 ปี จนต้องถอยร่นเข้ามาลึกในชายฝั่งป่าชายเลน 

แต่ภายหลังเมื่อบ้านใหม่ถูกประกาศให้เป็นเขตป่าสงวน ส่งผลให้ชาวประมงขาดโอกาสทางสังคมเนื่องจากไม่สามารถนำบ้านและที่ดินไปจำนำหรือจำนอง หรือต่อยอดทางธุรกิจในแบบอื่นได้ กรณีศึกษาทั้งหมดต้องทำงานหนักตั้งแต่เด็ก เมื่อผู้หญิงเข้าสู่ช่วงต้นของวัยชราจึงประสบกับปัญหาสุขภาพ ได้แก่ กระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ลูกก็มีการศึกษาน้อยเช่นเดียวกับรุ่นพ่อและแม่ ทำให้รุ่นลูกขาดโอกาสในการทำงาน ขาดโอกาสในการพัฒนาทักษะทางอาชีพ แต่ลูกต้องดูแลแม่ที่ป่วยและเริ่มเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ เนื่องจากระบบการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานเข้าไม่ถึง กลายเป็นวัฏจักรความยากจนข้ามรุ่นซ้ำซากที่ยากจะหลุดพ้น

ประวัติศาสตร์ความยากจน จากฐานข้อมูลสถานการณ์ความยากจนในจังหวัดปัตตานี หรือ Thai People Map and Analytics Platform [TPMAP] พ.ศ. 2565 พบว่า จังหวัดปัตตานีมีความยากจนมากที่สุดในประเทศไทยและอำเภอหนองจิกอยู่ในอันดับที่ 4 ของจังหวัดปัตตานี (อันดับ 1,2,3 คือ ยาบี เกาะเปาะ และคลองตันหยงตามลำดับ) อำเภอนี้มีคนจนจำนวน 3,908 คน จากประชากรสำรวจ 51,642 คน โดยตำบลบางตาวา อยู่ในอันดับที่ 4 ของอำเภอหนองจิก มีจำนวนคนจน 291 คน คิดเป็น 11.25% (Thai People Map and Analytics Platform, 2565)

งานวิจัยพบว่าความยากจนมีสาเหตุมาจากความยากจนที่สะสมต่อเนื่อง ความแตกต่างทางด้านความเชื่อวัฒนธรรม ศาสนา จากชนกลุ่มใหญ่ หากแต่ความเข้าใจดังกล่าวไม่ได้มีมิติเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำ” หรือ “ถูกทำให้ยากจน” จากโครงสร้างทางสังคม และประวัติศาสตร์ที่ถูกกดทับจากประวัติศาสตร์กระแสหลักที่มาจากกรุงเทพ รวมทั้งการพัฒนาแบบรวมศูนย์อำนาจมาเนิ่นนานเช่นกันเนื่องจากการวิเคราะห์ที่ขาดความลึกซึ้งและเข้าใจปัญหาที่ซับซ้อน 

ดังนั้นการแก้ปัญหาความยากจนในภาคใต้ที่ผ่านมาจะใช้แผนเดียวกันในการแก้ปัญหาทั่วประเทศ เหมือนตัดเสื้อโหล รัฐไทยมักจะออกแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนมาในรูปของการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในพื้นที่เพื่อลดความฟุ่มเฟือย รวมไปถึงการสร้างเมืองต้นแบบ โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” (จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) โดยมี ศอ.บต.เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน เช่น พื้นที่ในอำเภอหนองจิกจังหวัดปัตตานี ให้เป็นเมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน 

จนภายหลังขยายไปเมืองอุตสาหกรรมที่ 4 คือ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ความต้องการในการแก้ปัญหาความยากจน โดยใช้โมเดลสร้างเมืองอุตสาหกรรม  นอกจากจะเป็นการขยายถ่างความเหลื่อมล้ำ สร้างความขัดแย้งให้เพิ่มขึ้น รัฐยังมีวัตถุประสงค์แฝงคือ ใช้ข้ออ้างในการขยายพื้นที่เมืองอุตสาหกรรม ทะลวง และสลายกลุ่ม The Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani (BRN) โดยอาศัยอำนาจของ ศอ.บต. และกฎหมายพิเศษ ในพื้นที่แห่งนี้ประกาศเปลี่ยนแปลงผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีม่วง และสร้างความแตกแยกให้ภาคประชาสังคม โดยการสนับสนุนโครงการให้ NGOs ที่สนับสนุนแนวคิดของรัฐ ซึ่งไม่แตกต่างจากการใช้วิธีแบ่งแยกและปกครอง ดังเช่นในอดีตที่แบ่งเป็น 7 หัวเมือง ใน พ.ศ. 2351 หลังสถาปนาราชวงศ์จักรี 

ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย ยกเลิกกฎหมายพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2475 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และให้ใช้กฎหมายทั่วไป โดยมีกระบวนการยกเลิกอย่างค่อยเป็นค่อย ให้สิทธิในการอยู่อาศัยกับชาวประมงพื้นบ้านที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะ เมื่อต้องถอยร่นเข้ามาอยู่ในพื้นที่ป่าสงวน เนื่องจากประสบปัญหาในการใช้ประโยชน์ที่ดิน พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ จากศักยภาพของชุมชน โดยใช้กรอบแนวคิดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตรวจสอบการเข้าถึงบัตรสวัสดิการของรัฐให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้เต็มจำนวน เนื่องจากภาวการณ์อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ทำให้ถูกหักหัวคิวและถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้นำ ส่งเสริมการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างมาตราการเยียวยาที่ครอบคลุมวิถีชีวิตของประมงทะเลชายฝั่ง ให้ทุกคนที่ไม่สามารถเข้าเกณฑ์การออม ได้รับโอกาสในการพัฒนาที่อยู่อาศัย อำนวยความสะดวกให้ประมงขนาดเล็กเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน 

ความยากจนในแผ่นดินสีแดง: สองทศวรรษแห่งการพรากสิทธิ์ในที่ดินกับโอกาสที่สูญเสีย สู่ความยากจนข้ามรุ่นในอำนาจเจริญ เป็นบทความวิจัย ของ “ธวัช มณีผ่อง” คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาอุบลราชธานีนำเสนอ ความยากจนข้ามรุ่นใน “พื้นที่สีแดง” ภายใต้นโยบายป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ ในช่วงสงครามเย็น กับชาวดงบักอี จ.อำนาจเจริญ ซึ่งเคยถูกบังคับอพยพถึง 2 ครั้ง ระหว่างปี พ.ศ. 2495 – 2520   มีการเผาบ้าน ยุ้งข้าวทรัพย์สินที่สะสม รวมทั้งเงินทอง ส่งผลให้เกิดภาวะความยากจนแ จนส่งผ่านข้ามรุ่น และต้องการใช้เวลานานมากกับการต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิ์ในที่ดินทำกินที่เรียกว่า สปก. 

หากพิจารณาในแนวการสะสมทุนโดยการพรากสิทธิ์  Accumulation by Dispossession ของ David Harvey ตลอดระยะเวลา 20 ปี การพรากสิทธิ์ในที่ดิน หมายถึงการถูกพรากโอกาสในการสะสมทุน โดยเฉพาะในช่วงของการพัฒนาในทศวรรษที่ 30 การเผชิญชีวิตอยู่ท่ามกลางการถูกพรากสิทธิ์ที่ยาวนานทำให้รุ่นพ่อแม่และรุ่นลูกสูญเสียโอกาสทำมาหากินเหมือนคนในพื้นที่อื่น ๆ การศึกษานี้ใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ ศึกษาสภาวะการไร้ที่ดินและความไม่มั่นคงในที่ดินจากนโยบายป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ของรัฐไทย ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

ธวัช ค้นพบว่า ผลกระทบจากการปราบคอมมิวนิสต์ ทำให้พรากสิทธิ์ในที่ดินของประชาชนไป 2 รูปแบบ คือ  1. การพรากสิทธิ์จากที่ดินทางกายภาพโดยการบังคับอพยพ ไปอยู่ในจุดที่แห้งแล้งไม่เหมาะกับการดำรงชีวิตและทำมาหากิน  และ 2.  การพรากสิทธิ์จากที่ดินโดยโครงสร้าง ผ่านกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ ทับที่ทำกินของชาวบ้าน  ในระหว่างปี พ.ศ. 2507 – 2540  ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับข้อหาบุกรุกป่าไม้ในที่ดินของตนเอง เกิดความกลัวในการทำไร้ทำนา จนต้องเข้าร่วมขบวนเรียกร้องสิทธิ์ในที่ดินกับสมัชชาคนจนภาคอีสาน จนได้รับสิทธิ์ สปก. ในปี 2550 

กรณีของดงบักอี เมื่อเชื่อมกับกรณีอื่น ๆ ในงานของเครือข่ายและองค์กรอนุรักษ์ในเขตทางภาคเหนือ สะท้อนว่านโยบายการพัฒนาที่ประสานกับนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์  ผลที่เกิดขึ้นคือการพรากสิทธิ์จากที่ดินโดยรัฐ ไม่ได้เกิดขึ้นกับท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง แต่ยังกระจายไปทั่วประเทศ  

จากรณีนี้ ธวัช มีข้อเสนอต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจน  และไม่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น คือ  นโยบายการพัฒนาของรัฐ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ต้องคำนึงถึงผลกระทบ เปิดโอกาสให้ประชาชน กลุ่ม หน่วยงาน ต่าง ๆ ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้ามารับฟังและเจรจา เพื่อหาความเป็นธรรม  รัฐควรเปลี่ยนมุมมองต่อประชาชน  ที่มักถูกเบียดขับให้กลายเป็นอื่น ไม่มองว่าประชาชนผู้เห็นต่างหรือกลุ่มผู้เรียกร้องการมีส่วนร่วม “เป็นศัตรูของรัฐ”  ให้ความเป็นอื่น สู่การเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnerships for the Goals)  ในแบบที่ให้ความสำคัยกับทุกคนคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย  

รวมถึงย้อนกลับไปฟังเสียงและเปิดเวทีการมีส่วนร่วม กับผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายหรือโครงการพัฒนาของรัฐ  ผลกระทบทั้งขณะปัจจุบันและอดีต  ความทุกข์ยากของชาวดงบักอี กับ 30 ปีที่สูญเสียโอกาสในการพัฒนาของวิถีชีวิตในที่ดินตนเอง ที่รัฐเอาความยากจนไปใส่ไว้ในมือของพวกเขา  เป็นตัวอย่าง ที่ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องทบทวน  การชดเชยเยียวยาผลกระทบ อาจต้องถกคิดอย่างประณีต ความลึกซึ้ง ละเอียด และรอบด้านเพียงพอที่จะส่งเสริมและป้องกันการส่งต่อความยากจนข้ามรุ่น

“เกษตรกร” วาทกรรรมความจนและการเปลี่ยนผ่านความหมายมองจากนโยบายรัฐ บทความวิจัยโดย“ผศ.ปิ่นวดี ศรีสุพรรณ” คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาอุบลราชธานี ซึ่งได้ศึกษาครัวเรือนเกษตรกรยากจน จำนวน18 ครัวเรือน มีทะเบียนเกษตรกรจำนวน 16 ครัวเรือน และไม่มีทะเบียนเกษตรกรจำนวน 2 ครัวเรือน โดยคัดเลือกครัวเรือนเกษตรกรจากฐานข้อมูล TPMAP และฐานข้อมูลโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จ.อำนาจเจริญ 

ผศ.ปิ่นวดี พบว่าในภาพรวมครัวเรือนที่ลงทะเบียนเกษตรกรต่างมีความเป็นอยู่ที่ดี ส่วนใหญ่มีสมาชิกที่อยู่ในวัยแรงงาน เมื่อเทียบกับครัวเรือนที่ไม่มีทะเบียนเกษตรกร ส่วนครัวเรือนที่ยากจนอย่างมาก มีสมาชิกครัวเรือนอยู่ในสภาวะพึ่งพิง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเด็ก อาศัยรายได้จากบัตรสวัสดิการที่ได้รับเป็นหลัก

ทุกครัวเรือนต่างสะท้อนว่าในรุ่นพ่อแม่ของตนมีความยากลำบาก เพราะต้องทำนาและทำงานหนัก การศึกษาไม่สูง ต้องออกไปขายแรงงาน ในหมู่บ้านไม่มีโอกาสที่จะได้หาเงินให้กับตัวเอง 

แต่ในกลุ่มครัวเรือนกรณีศึกษาไม่มีคนที่สะท้อนถึงระบบทุนนิยมที่เอารัดเอาเปรียบกดราคาพืชผลทางการเกษตรมากนัก เพราะพวกเขาไม่มีเวลาคิดว่าการทำนาและขายข้าวถูกเอาเปรียบหรือไม่ มีเพียงบางครอบครัวที่เห็นว่ารัฐบาลต้องช่วยเหลือ ราคาปุ๋ยและราคาข้าว โดยแม้จะรู้ว่าทำนาไม่คุ้มค่าและมีค่าใช้จ่ายที่สูงเพิ่มขึ้น แต่หลายคนก็ยังคงทำนาเพื่อยังชีพต่อ 

ปัจจุบันเกษตรกรเป็นกลุ่มที่ถูกบ่งชี้ว่าเป็นครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 เป็น กลุ่มประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ และยังเป็นกลุ่มที่ถูกกลไกตลาดกดราคาสินค้าเกษตรมาโดยตลอด 

แม้ว่าทุกรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการเกษตรและมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร แต่ทำไมเกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในกลุ่มคนยากจน เพราะความยากจนไม่ได้มีแค่ความทุกข์ยากในทางปฏิบัติเท่านั้น แต่การทำให้เกิดความยากจนยังฝังแฝงอยู่ในโครงสร้างเชิงนโยบาย ซึ่งนำไปสู่วิธีการแก้ไขปัญหาความยากจนที่ไม่ได้ทำให้ความยากจนหมดไป 

บางครั้งนโยบายรัฐก็มีแนวโน้มที่ทำให้เกิดการกีดกันครัวเรือนเกษตรกรที่ยากจน ในขณะเดียวกันเกษตรกรที่มีโน้มหลุดพ้นความยากจน ต้องทำให้ตนเองเข้าสู่เส้นทางการแก้ไขปัญหาความยากจน เพื่อให้ได้ประโยชน์จากนโยบายของรัฐ 

จากกรณีศึกษาชี้ว่าเกษตรกรที่เป็นครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นนั้นถูก วาทกรรมความเป็นครัวเรือนเกษตรและภาคปฏิบัติการขีดเส้นไว้และทำให้โอกาสในเลื่อนชั้นทางสังคมเกิดขึ้นได้ยาก

การศึกษาวาทกรรมเกี่ยวกับการผลิตด้านการเกษตรเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มการวิเคราะห์วาทกรรมการพัฒนา ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามประเด็นปัญหาของสังคม ขณะที่ “การพัฒนา” ถูกทําให้เป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นหนทางขจัดความยากจน แต่การวัดความยากจนไม่ได้สะท้อนปัญหาความทุกข์ยากที่เกิดขึ้น 

แม้ว่านโยบายแก้ปัญหาความยากจนของรัฐบาลชุดต่าง ๆ ที่ผ่านมา มักอ้างความทุกข์ยากลําบากของคนยากจน โดยเฉพาะเกษตรกรชาวนาในภาคชนบท แต่ก็มีทั้งการทำมาตรฐานเครื่องมือจัดแบ่งประเภท เช่นเกณฑ์หมู่บ้านเข้มแข็ง มาตรฐานการมองความยากจนจากรายได้ การสร้างมาตรฐานราคาผลิตผลเพื่อกำกับควบคุม โดยมีสถาบันทำหน้าที่ผลิตและปฏิบัติการเพื่อให้เกิดการนำมาตรฐานไปใช้ ยิ่งขยายขอบเขตเชิงพื้นที่ของการบังคับใช้มาตรฐานได้มากเท่าใด สถาบันก็จะยิ่งมีบทบาทและได้รับความสำคัญมากขึ้นเท่านั้น 

โครงการพัฒนาได้สร้างระเบียบวินัยขึ้นใหม่ เป็นระเบียบวินัยซึ่งกําหนดให้ผู้อยู่ภายใต้โครงการต้องกระทําเช่น การสะสมเงิน ความตรงต่อเวลา ความสม่ำเสมอในการฝาก พฤติกรรมการสร้างดอกเบี้ย และแบบแผนการปฏิบัติระหว่างผู้กู้กับผู้ให้กู้ ฯลฯ ถูกกําหนดขึ้นโดยอํานาจ ที่อ้างความรู้ของการบริหารจัดการ 

ในขณะที่ระเบียบวินัยที่ชาวบ้านกำหนด ไม่น่าเชื่อถือและไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เป็นการผลิตซ้ำวาทกรรมความยากจน จากหน่วยงานที่หลากหลาย ล้วนเกื้อกูลและแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในลักษะที่สามารถเข้าสวมแทนที่่ สิ่งเดิมตามแต่นโยบายและกระแสความนิยมของสังคมแต่ละยุคแต่ละสมัย ตามแต่ “วาทกรรมการพัฒนา” ใดจะได้รับการยกย่องเชิดชูขึ้น 

หมู่บ้านพัฒนาจึงเป็นเพียงผลผลิตทาง “วัตถุ” ของวาทกรรมการพัฒนาที่เปลี่ยนไป และช่วยตอกย้ำผลิตซ้ำการยอมตามเชื่อฟังรัฐ เพื่อให้งบประมาณยังคงเข้าสู่ชุมชนหมู่บ้าน ในฐานะหมู่บ้านตัวอย่างที่“ราษฎร” อยู่ในกรอบธรรมเนียมแห่งระเบียบวินัย

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิม โดยจะเห็นว่าภาครัฐเปลี่ยนบทบาทจากผู้กำหนดแนวทางการหรือให้คำแนะนำในระดับท้องถิ่นไปสู่การให้บริการจดทะเบียนหรือเป็นเพียงเจ้าหน้าที่บริการเก็บข้อมูลมากขึ้น 

ครัวเรือนมีความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่รัฐในแง่ของการรับค่าชดเชยเยียวยาตามนโยบายแบบประชานิยมมากกว่าเป็นผู้รับบริการความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่ เมื่อวิเคราะห์ในระดับปัจเจกผ่านกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็น “ครัวเรือนเกษตรกร” จะเห็นว่าครัวเรือนถูกจัดระเบียบภายใต้กฎเกณฑ์การรับเงินซึ่งต้องมีบัตรประชาชน บ้านเลขที่ และการมีที่ดินทำการเกษตร 

ในขณะเดียวกันโครงการพัฒนาเป็นโครงการพัฒนาแบบมุ่งเป้าซึ่งกลายเป็นการเด็ดยอดความสำเร็จมากกว่าการพัฒนาจากฐานราก แม้ว่าจะมีชื่อโครงการในแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่ได้สะท้อนปัญหาภาวะความยากจนที่เกิดขึ้นและครัวเรือนยากจนมีแนวโน้มจะได้รับการละเลยเพียงเพราะการถูกมองว่าที่ยากจนเพราะ “ขี้เกียจ”

 การเป็นครัวเรือนเกษตรทำให้เห็นว่าเขามีโอกาสที่จะได้รับความช่วยเหลือมากกว่าครัวเรือนที่เป็นแรงงานเกษตรเพียงอย่างเดียว การมีที่ดินทำกินจึงช่วยให้เขาอยู่รอดมากกว่ากลุ่มที่ไม่มีที่ดินทำกิน และลดค่าใช้จ่ายที่สามารถนำไปสู่การออมและการทำให้สภาพชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นได้ 

ดังนั้นข้อเสนอเชิงนโยบายในเบื้องต้นรัฐควรมีนโยบายและกลไกที่เอื้ออำนวยให้เกษตรกรครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นเข้าถึงสิทธิประโยชน์จากนโยบายภาครัฐด้านเกษตกรรมให้มากขึ้น

เวทีสาธารณะ “ความจนข้ามรุ่นในสังคมไทย และข้อท้าทายเชิงนโยบาย”มีการเปิดพื้นที่ให้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลงานวิจัย สถานการณ์ความยากจน โดย รศ.ดร. กนกวรรณ มะโนรมย์ หัวหน้าคณะโครงการวิจยัคณะศลิปศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึงที่มาของการเริ่มต้นศึกษาโครงการวิจัยชิ้นนี้ว่า เป็นการต่อยอดงานวิจัยจากที่นักวิชาการแต่ละท่านได้ทำงานต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องกับความยากจน ประกอบกับที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่13 ได้นิยามความยากจนข้ามรุ่น ไว้ในแผนฯ อย่างชัดเจน ซึ่งมีอยู่ราว 6 แสนครอบครัว ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจึงต่อยอดศึกษาหาความเข้าใจและอธิบายกับดักการส่งต่อความยากจนข้ามรุ่นที่ดำรงอยู่เนื่องจากสาเหตุอะไร เบื้องต้นงานวิจัยที่ค้นพบในปีแรก สามารถสะท้อนลักษณะของความจนที่ถูกสร้างขึ้นมาจากเงื่อนไข นโยบายทางสังคม ภายใต้ระบบทุนนิยม ที่ทุกคนอยากใช้ทรัพยากร แต่เข้าไม่ถึง กลายเป็นกับดักความยากจนถูกส่งต่อจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูก  

“ปรากฎการณ์ความจนที่คงอยู่ เราไม่เคยสืบต่อว่าอะไรที่ทำให้คนจนยังอยู่ ลูกหลานมองหาโอกาสยากในการข้ามความจนข้ามรุ่น ตามนิยามของรัฐ และดำรงอยู่ภายใต้โครงสร้างสังคม ทั้งกฎหมาย นโยบาย กฎระเบียบของสังคม งานวิจัยพบว่า ความยากจนเป็นโครงสร้างใหญ่ ที่เหนี่ยวรั้ง ถ่วง ไม่สามารถหลุดได้ ถูกกดทับกระทำ ทางออกต้องแก้ถึงรากถึงโคน ตัดวงจรข้ามรุ่น”

นอกจากการอธิบายความยากจนข้ามรุ่นในงานวิชาการแล้ว เป้าหมายของการศึกษาครั้งนี้ยังต้องการข้อเสนอในเชิงนโยบายโดยรศ.กนกวรรณ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทุกพรรคการเมืองให้ความสำคัญกับความยากจนโดยทั่วไป ไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างชัดเจนต่อการแก้ไขปัญหาความจนข้ามรุ่น  นโยบายทุกพรรคการเมืองไม่ได้ตัดวงจรของความยากจน การตั้งมาตรฐานขั้นต่ำเกินไป เช่น เส้นความยากจนที่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือนทำให้ความยากจนและความจนข้ามรุ่นอยู่อย่างต่อเนื่อง

นโยบายที่พรรคการเมืองอำพรางความยากจนไว้อย่างเดิม เนื่องจากไม่ได้เน้นความรุนแรงเช่นการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้การเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี การไม่มีบัตรประชาชน การมีสถานะไม่ได้ลงทะเบียนโครงการสนับสนุนของรัฐหรือกลุ่มคนที่เห็นต่างจากรัฐเป็นต้น นอกจากนี้นโยบายสร้างกับดักความยากจนผ่านหน้าการพัฒนาเช่นการสร้างเขื่อนเศรษฐกิจในกรอบ BCG เขตเศรษฐกิจพิเศษนโยบายเหมืองแร่กลางคืนผืนป่าทำให้คนจนที่ไม่มีศักยภาพถูกผลักให้ตกหลุมพรางหรือกำจัดนวัตกรรมการพัฒนา

“นโยบายที่ผ่านมาเลี้ยงไข้ประชาชน เป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้นไม่ยั่งยืน เช่นการใช้งบประมาณจำนวนมากไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรสวัสดิการประชารัฐ โครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน นโยบายที่ผ่านมาใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลถึง 4 ทิศทาง เช่นงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจและผลกระทบโควิด-19 ถูกนำไปใช้สร้างถนนปลูกป่าโครงการเกษตรขนาดใหญ่” 

รศ.กนกวรรณ บอกถึง ข้อเสนอเบื้องต้นจากทีมนักวิจัยฯ คือ  นโยบายของพรรคการเมืองต้องไม่ละเลยคนจนข้ามรุ่นเพราะคนกลุ่มนี้มักถูกละเลยจากนโยบายรัฐนับตั้งแต่แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 พรรคการเมืองต้องมีนโยบายที่แก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่นแบบครบวงจรรอบด้านทั้งมิติเชิงลึกและกว้างออกแบบนโยบายสอดคล้องกับพื้นที่และกรณีเฉพาะ  

“ด้านการศึกษาต้องมีนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพ่อแม่ Gen Y ควบคู่กับการพัฒนาเด็กการศึกษาภาคบังคับฟรีถึงมัธยมศึกษาและช่วยการพัฒนาเศรษฐกิจครัวเรือนไปพร้อม ๆ กันเพื่อลดตับวงจรปัญหาความจนข้ามรุ่น”

ขณะที่ด้านการเกษตรเน้นนโยบายที่ให้ความสำคัญกับครัวเรือนเกษตรไร้ที่ดินหรือมีที่ดินขนาดเล็กทำให้คนกลุ่มนี้ไม่เข้าเกณฑ์การช่วยเหลือหรือการเข้าถึงโครงการพัฒนาด้านการเกษตรของรัฐเช่นโคกระบือโคกหนองนาโซล่าฟาร์มการใช้ประโยชน์จากที่ดินสาธารณะ และการบูรณาการนโยบายร่วมกันเช่นเกษตรการศึกษาและสวัสดิการสังคม 

ด้าน สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยเพื่อการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI กล่าวว่า เรื่องเล่าผ่านงานวิจัยหลายชิ้นข้างต้น ถ้าเทียบกับเมื่อ 30 ปีก่อน ยุคนั้นจะมีเรื่องราวอีกแบบหนึ่งคือคนจนและหายจน​ แต่ตอนหลัง​ เห็นว่าลำบาก เวลาผ่านไปก็ไม่ได้ดีขึ้น ลูกหลานยังคงยากจน ที่เป็นเช่นนั้นเพราะมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างการพัฒนา ในระยะแรกอาจจะประสบความสำเร็จ แต่ตอนหลังโครงสร้างทางสังคมทางเศรษฐกิจก็มีการปรับเปลี่ยนไป

“นโยบายตามไม่ทัน ตอนนี้อาจจะต้องใช้นโยบายลักษณะรายบุคคลหรือมุ่งเป้า ไปดูทีละครอบครัว แต่ต้องทำงานแบบบูรณาการหลาย หน่วยงาน แน่นอนคงต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า คนจนคงไม่หมดไปอย่างรวดเร็ว และปัจจุบันก็อาจจะไม่ใช่คนจนข้ามรุ่น แต่เป็นคนจนเรื้อรังคือพ่อแม่ในยุคนี้ที่ยังไม่หยุดจน “

ดร.สมชัย อธิบายเพิ่มเติมว่าการเป็นคนจนเรื้อรัง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายที่ทำให้คนจนลงจากเคสกรณีศึกษาต่าง ๆ และก็มีบางนโยบายที่เหมือนดีแต่ละเลยคนบางกลุ่ม  ข้อเสนอของ สมชัย เห็นด้วยกับการวางแผนแก้ปัญหารายครอบครัว หรือ Case Manager ซึ่งกลไกของรัฐอาจทำได้ไม่ดีนัก ต้องอาศัยการมีส่วนของชุมชน ซึ่งมีความรู้จักใกล้ชิด 

แต่ รศ.กนกวรรณ มองว่าการแก้ปัญหาแบบพุ่งเป้าคนจนโดยใช้โมเดลจีน รัฐบาลนี้ให้ทุนกับมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค มีการทำข้อมูลออกมา ตอบได้ว่าคนจนอยู่ที่ไหน เพื่อให้แก้ปัญหาเป็นรายครัวเรือน แต่ความจนมันไม่ได้แก้ไขได้ง่าย ๆ ต้องมีทรัพยากรที่ลงไปให้เพียงพอ เช่น มีการตลาด การฝึกทักษะ ต้องเข้าถึงให้ทรัพยากรที่จะไปให้เขาเข้าถึงที่ดิน แหล่งน้ำ 

“ข้อดีอย่างหนึ่งคือ TPMAP มีข้อมูล และมีเห็นความพยายามที่จะจดทะเบียนคนจนซึ่งก็จะเป็นการคัดกรองกลุ่มคนที่ต้องได้รับการช่วยเหลือพอสมควร แต่การคัดกรองคนจนก็มีความซับซ้อน และสิ่งสำคัญคือรัฐต้องทุ่มเททรัพยากร ต้องเข้ามาเพื่อสนับสนุนให้แก้ปัญหาความจนดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นด้วย”

ด้าน มนทิรา เข็มทอง ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน  ระบุว่า เวลานี้มีฐานข้อมูลตั้งตนในการทำงาน จาก TPMAP ซึ่งได้ข้อมูลมาจากการลงทเบียนบัตรสวัสดิการของรัฐ และข้อมูลพื้นที่ฐานจากการสำรวจของหน่วยงานท้องถิ่นทุกปี คือ ข้อมูลจำเป็นพื้นฐาน หรือ จปฐ  ภายใต้การรวมมือของทุกภาคส่วนซึ่งพบตัวเลขระบุว่า 6 แสนครอบครัว ที่เป็นคนจนข้ามรุ่นตามเกณฑ์ ซึ่งหน่วยงานจะเข้าไปทำงานเป็นรายกรณี

“งานวิจัยที่ไปเจอ เขาอยู่ในระบบหรือเปล่า รัฐบาลจัดสรรเงินให้จัดเก็บข้อมูลทุกปี   ลงทุนการเก็บข้อมูลให้ครอบคลุม จะเอาไปทำงานปีนี้  ถ้าไม่หมด ก็ทำปีหน้า เราเดินมาถูกทาง ขออย่าอคติ มองอย่างเป็นธรรม”

ขณะที่  ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอ แม้จะมีการทำงานบนฐานข้อมูลชี้เป้าจากTPMAP ยังเชื่อว่าเป้าอาจจะเคลื่อนและเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ระบบของรัฐจำเป็นต้องมีตัวช่วย

“การแก้ปัญหาคนจน ต้องไม่ใช่ความรู้สำเร็จรูป ไม่ใช่ระบบรราชการเจ้าของเรื่องเท่านั้น มันต้องเป็นโจทย์สังคมที่ต้องร่วมกันถก คนจนที่เราไม่รู้จักหน้าค่าตาคือใคร มีหลายกรณีที่โผล่มา อย่าคิดว่าเรารู้ว่าหมดแล้วว่าคนจนอยู่ที่ไหน   คิดว่าแผนที่ช่วยได้หมด มีการปรุงแต่งสถิติสามารถมารายงานได้ขนาดไหน“ 

ด้าน รศ.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า  ทำไมคนจนยังเรื้อรัง ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลแก้ปัญหาแก้นจนมาตลอด ยิ่งสร้างนโยบายแก้จนมากเท่าไหร่ ยิ่งมีคนจนกลุ่มใหม่เพิ่มขึ้นเท่านั้น  ด้วยกระบวนการแก้จน ได้สร้างคนจนแบบใหม่ อาจมีคนอยู่นอกเหนือการรับรู้ของฐานข้อมูล การสร้างมาตรการที่ไม่ตรงเป้า เราเข้าใจกรอบรัฐ ไม่ใช่ไม่หวังดี แต่ประเด็นเรามองความเป็นมนุษย์ครอบคลุมแค่ไหน  ความยากจนไม่ใช่แค่รายได้ การศึกษา ภาวะทุพโภชนาการหรือมากกว่านั้นไหม เช่น ศักดิ์ศรีความเป็นนุษย์ 

“ที่ผ่านมาทำไมปัญหาการเข้าถึงสาธารณสุขถึงเบาบางลง เพราะเรามีสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ในเชิงนโยบายเราจึงต้องมีการพูดถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานด้านอื่น ๆ จริง ๆ หรือไม่  เรายังต้องคิดถึงสวัสดิการอะไรอีกที่เราจะทำ เช่นการตัดวงจรข้ามรุ่น คนรุ่นใหม่ เติบโตมีชีวิตของเขาเองโดยไม่ต้องแบกคนข้างหลัง หน้าที่รัฐมาช่วยได้แบบเจาะจง ร้ายแรง เร่งด่วน “ 

ด้าน กิตติ อินทรกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ  ระบุว่า มีหลายกรมทำงานคุณภาพชีวิตครัวเรือนเปราะบาง ซึ่งได้ข้อมูลมาจากสภาพัฒฯ เช่นกัน ซึ่งยังมีเกณฑ์อื่น ๆ ที่เรานำมาใช้เพิ่มเติมในการวิเคราะห์ความเปราะบาง  เช่น  การมีเด็กแรกเกิด 0-6 ในครอบครัว คนพิการ ผู้สูงอายุ  รายได้ต่ำกว่าแสน  ฯลฯ เป็นต้น หลักให้การช่วยเหลือ เริ่มต้นมีเงินช่วยเฉพาะหน้า เน้นทำงานเร็ว เก็บข้อมูลถึงบ้านทำงานลงพื้นที่หลายครั้ง สร้างความเชื่อใจผ่านอาสาสมัคร เราเก็บข้อมูลต่อเนื่อง เริ่มวาวแผนแก้ปัญหาเคสจากการเริ่มที่ไว้ใจ มีปัญหาอะไรแก้ตรงตามที่ต้องการ มีผู้จัดการรายกรณี ทำงานร่วมกับสถาบันศึกษา  ท้องถิ่น 

“นอกจากนี้ยังเสนอให้เพิ่มการเข้าถึงการศึกษาเพื่อขยับเลื่อนฐานะ จะทำอย่างไร ให้ลูกคนจนอยู่ในระบบการศึกษาได้นานที่สุด พอไปดูค่าใช้จ่ายในครัวเรือนสูงมากในการสร้างคุณภาพชีวิตให้ดี  เราต้องเตรียมคุณภาพของเด็กตั้งแต่ในท้อง คนจนจะมีเงินขนาดไหน เมื่อต้องใช้เงินมาก รัฐต้องมีการพัฒนาทักษะฝีมือ ตอบโจทย์หลักสูตรอบรม ถ้าเขาสนใจก็เริ่มต้นตามที่เขาสนใจ”

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส

Alternative Text
VISUAL NOTE TAKER

ลลิตา วิจิตอมรวงษ์

เปลี่ยนเนื้อหาเข้าใจยาก ให้เป็นภาพเข้าใจง่าย เจ้าของเพจ Mis.lalita รักธรรมชาติ และชอบฟังเพลง