คิกออฟฉีดวัคซีนโควิด-19! ถึงคิวกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ฉีด “แอสตราเซเนกา”
ส่วนภาพรวมฉีดปูพรมวันแรก (7 มิ.ย. 2564) ยอด 306,580 เข็ม ทั่วประเทศ
แม้ความเข้าใจเรื่องวัคซีนภายใต้ชุดข้อมูลที่แตกต่างและมีข้อจำกัด แต่ “คนสูงวัยใจเก๋า” ยังต้องการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคระบาด
ใครที่ยังลังเลอยู่ ไม่ลังเลแล้วนะคะ!
The Active ชวนฟังเสียงผู้สูงอายุในเขตกรุงเทพฯ ที่ตัดสินใจเข้ารับการฉีดวัคซีน ที่ไม่ใช่แค่มิติของสุขภาพ แต่ยังรวมถึงปากท้อง ครอบครัว และสังคม
ความรู้สึกของ ‘กัลยศรี หมอกมณี’ หรือ ป้าอ้อย อายุ 66 ปี ที่เข้าฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา เข็มแรกในวันที่ 7 มิ.ย. 64 ถึงแม้จะยืนยันผ่านแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” แต่ป้าอ้อยก็ยังไม่มั่นใจว่าวัคซีนแอสตราเซเนกา จะมีพอถึงตัวเองหรือเปล่า เพราะขนาดคนที่จองไว้วันเดียวกันในบางจังหวัด ก็ยังถูกเลื่อนออกไป โดยป้าอ้อยเตรียมความพร้อมของร่างกายด้วยการพักผ่อนอย่างน้อย 8 ชม. ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนประมาณ 1 สัปดาห์
แม้จะแทบเป็นคนแรก ๆ ของชุมชน แต่ป้าอ้อย ยอมรับ กว่าจะถึงวันนี้ตัดสินใจกลับไปกลับมาหลายครั้ง เพราะการเสพข้อมูลในโซเชียลมีเดีย แต่เนื่องจากตัวเองอยู่กับสามีเพียง 2 คน และในละแวกบ้านติดเชื้อ 30 คนแล้ว หากติดเชื้อกังวลว่าจะเข้าถึงการรักษาลำบาก จึงพยายามถามข้อมูลจากลูกที่ทำงานอยู่ต่างประเทศ และดูการแถลงข่าวทางทีวี หรือกระทรวงสาธารณสุข
“ลูกก็ไม่ห้ามนะ ยิ่งตอนนี้ยิ่งไม่ห้ามเลย เพราะตอนนี้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่สีแดง แต่จะห้ามป้าอ้อยไม่ให้ออกจากบ้านก็ไม่ได้ เพราะป้าอ้อยเป็น อสส. อยู่ในชุมชน กังวลอยู่อย่างเดียวตอนนี้คือให้ได้ฉีดแอสตราเซเนกาเถอะ เพราะป้าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง แพ้ยาหลายตัว แพ้อาหารทะเล ก็พยายามตามข่าวจากคุณหมอเราเชื่อถือ ให้งดอะไรเราก็งด มีอะไรก็ตอบตามความจริง ยิ่งเห็นหลายคนที่เสี่ยงกว่าป้าอ้อยฉีดแล้วไม่เป็นอะไร เราก็เลยกล้าที่จะเสี่ยง”
ขณะที่ชีวิตหลังจากฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ป้าอ้อยคาดหวังว่าจะได้ใช้ชีวิตแบบปลอดภัยมากขึ้น จากเดิมที่ค่อนข้างวิตกกังวลกลับมาถึงบ้านต้องบันทึกลงปฏิทินว่า ตัวเองไปทำอะไรที่เสี่ยงมาบ้าง และต้องคอยนับว่า 14 วัน ตัวเองมีอาการอย่างไร แต่ยังคงใช้ชีวิตบนความไม่ประมาท ตามมาตรการควบคุมโรค เพราะวัคซีนแค่ทำให้อาการไม่รุนแรงหรือเสียชีวิต พร้อมทิ้งท้ายไปถึงหน่วยงานด้านสาธารณสุขหากต้องการรณรงค์ให้ผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีน
“ลงทะเบียนครั้งแรกเนี่ยยากมาก ป้าอ้อยว่าระบบมันยังไม่เสถียรมั้ง เดือนที่แล้วในชุมชนลงกันแทบไม่ได้เลย แต่ก็พยายามลงทะเบียนเอง ถ้าเป็นคนแก่ที่ไม่มีลูกหลาน หรือ อสส. คอยถามคอยสมัครให้ จะทำอย่างไร ก็อยากให้เข้ามาดูตรงนี้หน่อยนะคะ”
‘สมชาย ว่องวิชญากร’ หรือ ลุงสมชาย อายุ 66 ปี อดีตพนักงานเอกชนในวัยเกษียณ ด้วยทักษะการใช้เทคโนโลยี ทำให้ทั้งการสั่งอาหารออนไลน์ ทำธุรกรรมทางการเงิน รวมถึงการลงทะเบียน “หมอพร้อม” ซึ่งจะเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มแรก 6 ก.ค. 64 ที่ รพ.รามาธิบดี ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันแทบไม่ต้องออกไปเผชิญกับ (โรค) ภายนอก
ไม่ต่างจากการเสพข่าวสารในยุคโควิด-19 ทั้งข้อมูลการติดเชื้อ การระวังตัวเอง หรือแม้กระทั่งคุณภาพของวัคซีนชนิดต่าง ๆ ลุงสมชาย พูดคุยกับ The Active พูดคุยถึงการมาของวัคซีนแอสตราเซเนกา ได้อย่างน่าสนใจ
“ข่าวลือค่อนข้างเยอะเรื่องคุณภาพของวัคซีน แต่สำหรับผมไม่ว่าชนิดไหนป้องกันได้หมด อาจมีบ้างที่คุณภาพแตกต่างกัน แต่เมื่อเช้าฟังข่าวจากสาธารณสุขยืนยันว่าจะได้ฉีดแอสตราเซเนกา ที่ 2 เข็ม ป้องกันได้ร้อยละ 70 ดังนั้น ผู้สูงอายุหรือโรคเรื้อรังไปฉีดกันเถอะครับ ดีกว่าติดเชื้อแล้วอาการหนักต้องเข้าไอซียู”
ลุงสมชาย ยังสะท้อนปัญหาการสื่อสารของรัฐบาลที่ทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่กล้าเข้ารับการฉีดวัคซีน โดยแนะนำว่า ศบค. ที่พยายามทำให้ตัวเองเป็นเซ็นเตอร์ในการเผยแพร่ข่าวสาร ต้องสื่อสารออกมาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อย่าเช้าอย่างเย็นเป็นอีกอย่าง หากทำได้ ข่าวเฟกนิวส์ หรือข่าวปลอม จะไม่มีผลกับประชาชนเลย เพราะเชื่อว่าไม่มีใครไม่อยากฉีดวัคซีน
‘ลาวรรณ กองพิลา’ หรือ ป้าดำ อายุ 74 ปี กำลังจะกลายเป็นคนแรกในบ้าน ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนแอสตรา เข็มแรกในวันที่ 16 มิ.ย. 64 ท่ามกลางเสียงทัดทานของคนในบ้านก่อนหน้านี้ ส่วนสามีอายุ 80 ปี ยังยืนยัน “อย่างไรก็ไม่ฉีด”
ป้าดำ ตัดสินใจลงทะเบียน “หมอพร้อม” โดยมีลูกเป็นคนลงทะเบียนให้ โดยจุดบริการฉีดวัคซีนคือสถานที่เดียวกันกับที่ป้าดำรักษาดวงตาช่วงเช้า เสร็จแล้วจะเข้ารับการฉีดวัคซีนในช่วงบ่าย จึงคิดว่าไม่น่าจะปัญหามากนัก
เมื่อถามว่า รู้หรือไม่วัคซีนที่จะฉีดคือยี่ห้ออะไร ป้าดำบอกว่ายังไม่ทราบแต่น่าจะเป็นไอ้ตัวใหม่นี่แหละ (แอสตราเซเนกา) ส่วนตัว ไม่กังวลเรื่องผลข้างเคียง แม้จะมีโรครุมเร้า ทั้งเบาหวาน ความดัน ไขมัน หรือที่ป้าดำเรียกว่า “โรคทันสมัย” เพราะเตรียมใจไว้หมดแล้ว อีกอย่างเพื่อน ๆ อสส. ในชุมชนก็ฉีดกันหมด แต่มีอยู่เรื่องเดียวที่ยังเป็นกังวลอยู่
“อายุปูนนี้แล้ว ตัดสินใจแล้วก็คือจบ แต่ป้าติดกาแฟตอนเช้า เลยสงสัยว่าถ้าฉีดตอนบ่าย กินกาแฟไปตอนเช้าได้ไหม เพราะไม่อย่างนั้นป้าจะปวดหัว ต้องถามพยาบาลที่ศูนย์ว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง”
ส่วนการทำหน้าที่ในฐานะ อสส. ของชุมชน หลังรับวัคซีนครบ 2 เข็ม ป้าดำบอกว่าช่วยสร้างความมั่นใจในการพบปะคนในชุมชนมากขึ้น โดยเฉพาะการแจกอาหาร ของใช้ ให้กับคนที่ต้องกักตัว แต่สำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างการร่วมกลุ่มทำแปลงผักของชุมชนคงต้องงดไปก่อน เนื่องจากไม่ใช่ผู้สูงอายุทุกคนที่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีน
หมายเหตุ* หลักปฏิบัติก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรณีพบปัญหาสามารถสอบถามหน่วยงานสาธารณสุข (ข้อมูล : กระทรวงสาธารณสุข)
เพราะตัดสินใจเข้าร่วมกับโครงการของสำนักงานเขตวังทองหลาง ที่จัดให้คณะกรรมการชุมชนซึ่งเป็นด่านหน้าในการควบคุมโรค รับการฉีดวัคซีน “ซิโนแวค” เข็มแรกไปเมื่อ 27 พ.ค. 64 ทำให้พลาดการฉีด “แอสตราเซเนกา” ในรอบนี้ แต่สำหรับ ‘กัลยศรี หมอกมณี’ หรือ ป้าแอ๋ว อายุ 66 ปี กลับไม่ได้รู้สึกเสียใจ หรือเสียดาย เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ เกิดขึ้น อย่างที่หลายคนกังวล และจะเข้ารับการฉีดเข็มที่ 2 อีกครั้งในวันที่ 17 มิ.ย. 64 นี้ อย่างแน่นอน
นอกจากกังวลในเรื่องของโรคแล้ว อีกด้านหนึ่งป้าแอ๋วยังเปิดร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ และเป็นที่ตั้งของสถาบันการเงินกองทุนชุมชน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในจุดที่จะมีคนในชุมชนมาใช้บริการมากที่สุดแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านมั่นคง และกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ดังนั้น จึงไม่อยากปิดร้าน ซึ่งทางออกที่คิดว่าดีที่สุดเวลานั้นก็คือการฉีดวัคซีน ซึ่งคนในชุมชนส่วนใหญ่ยังปฏิเสธรับวัคซีนอยู่
“จริง ๆ ลูกจองแอสตราเซเนกาไว้ให้แล้ว แต่มันได้ไกลวันที่ 2 ก.ค. 64 เราก็เลยจะเอาอันนี้ก่อน เพราะในชุมชนมีคนติดเชื้อ เสียชีวิตแล้ว ยิ่งมีข่าวลือมากคนก็ยิ่งไม่อยากฉีด ตอนนั้นป้าตัดสินใจฉีดก่อนเลย ฉีดเร็ว ก็เหมือนเราเหมือนเป็นด่านหน้าสร้างความมั่นใจให้เขาด้วย”
ขณะที่การปูพรมฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ป้าแอ๋ว ยืนยันว่าขอให้ปฏิบัติตามที่สาธารณสุขประกาศอย่างเคร่งครัด เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่กินของต้องห้ามก่อนฉีดวัคซีน แจ้งประวัติเรื่องสุขภาพทั้งหมดอย่างตรงไปตรงมา เพื่อป้องกันไม่ให้ผลข้างเคียงหลังการฉีด และสร้างความมั่นใจให้กับคนอื่น ๆ กล้าที่จะฉีดวัคซีน และทำให้สถานการณ์กลับเป็นปกติโดยเร็วที่สุด