ถ้าบอกว่าประโยคนี้อยู่ในสายเลือดคนไทย คงไม่มีใครเถียง เพราะไม่ว่าเหตุการณ์ใดที่เหมือนว่าชาติไทยจะถูกพูดถึงในแง่ลบ หรือคนไทยถูกกระทำจากต่างชาติ สำนึกรักความเป็นไทยที่ซ่อนอยู่ภายในใจของใครหลายคนก็ถูกกระตุกขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย
หรือนี่จะเรียกว่าเรามี ‘ความเป็นชาตินิยม’ อยู่ในตัว ?
The Active ชวนสำรวจสถานการณ์สังคมในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. ถึง 2 มิ.ย. 67 ผ่านเครื่องมือ Zocial Eye ว่า เมื่อพูดถึงคำว่า ‘ชาตินิยม’ เหตุการณ์ไหนที่ถูกพูดถึงบ้าง พร้อมมองดูสถานการณ์ ‘ชาตินิยมของไทย’ ว่า ขณะนี้เป็นอย่างไร ? แล้วเราจะสามารถใช้ประโยชน์จากการมีชาตินิยมของคนไทยได้บ้างหรือไม่ ?
เมื่อพูดถึงคำว่า ‘ชาตินิยม’ จากการรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลผ่านเครื่องมือ Zocial Eye พบว่า ถูกพูดถึง 13,385 ข้อความ รวม 793,455 Engagement โดยมีเหตุการณ์ดังนี้
ปรากฎการณ์ LISA สะเทือนเยาวราช
ไม่ว่าจะหยิบจับ หรือทำอะไร เรียกว่า ลิซ่า ทำถึงทุกเรื่อง ล่าสุดเกิดขึ้นอีกครั้งกับเพลง Rockstar เพาะตั้งแต่ทุกสายตาชาวโลก รวมถึงคนไทย ได้รับชม MV ก็เชื่อว่าไม่มีผิดหวัง ที่สำคัญคือทำให้กระแส เยาวราช ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ถ่ายทำ MV เพลงนี้มีคนแห่แหนกันไปตามรอยไม่ขาดสาย รวมถึงการใช้ทีมงานเป็นคนไทยเกือบทั้งหมด
เพราะเยาวราชเป็นจุดที่เคยหลับ ผู้คนที่นั่นจึงไม่ต่างจากกลไกขับเคลื่อนเมือง เลยนำไปสู่การถูกตั้งข้อสังเกตในหลายมิติ โดยเฉพาะมุมมืดของเยาวราชที่สังคมรู้ว่ามีอยู่แต่กลับไม่ค่อยพูดถึง
ในช่วงเวลาที่ปล่อย MV เพลงใหม่ของลิซ่า บทความในเชิงตั้งคำถามจากสื่อที่มีเนื้อหาสะท้อนความเป็นจริงในเยาวราชก็เกิดขึ้นในช่วง วันที่ 26 – 28 มิถุนายน 2567 จำนวน 84,788 Engagement ประเด็นจาก MV และเรื่องของ เยาวราช ส่งผลให้เสียงในสังคมแตกออกชัดเจน ฝั่งหนึ่งมองว่า นี่คือจังหวะสำคัญที่จะทำให้ผู้คนหันมาสนใจปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในเยาวราช แต่เสียงจากอีกฝั่ง ก็เชื่อว่า นี่คือการทำลายภาพลักษณ์ของประเทศไทย ในขณะที่กระแสกำลังดี ซึ่งต่างฝ่ายต่างใช้คำพูดรุนแรง ด้วยคำว่า “ชังชาติ” และ “ชาตินิยมตอแหล”
ศึกอาหาร ไทย – เกาหลี
กระแสวิจารณ์ศึกแห่งอาหารระหว่างไทย และเกาหลี โดยการเปรียบเทียบอาหารของแต่ละชาติ ถึงรสชาติและความยาก ง่ายในการปรุง โดยในวันที่ 9 มิถุนายน 2567 มีจำนวน 26,010 Engagement “ต้มยำกุ้ง” ถูกนำมาเปรียบเทียบกับ “ต๊อกโบกี” ของเกาหลี ว่ามีความแตกต่างกัน ซึ่งมีเสียงสะท้อนออกมาว่า “เรื่องอาหารกระตุกความขวาจัดของคนไทยได้ดีทีเดียว” ทำให้หลายคนมองเหตุการณ์นี้ว่า นี่คือการ “เหยียดเชื้อชาติ” ผ่านอาหาร ซึ่งคนไทยเองก็มีเรื่องถกเถียงในประเด็นการเอาเมนูถวายวัง ไปเทียบกับเมนูของชาวบ้าน โดยมีบางส่วนแย้งว่า ต้มยำกุ้งไม่ใช่อาหารชาววัง และหากจะเทียบเมนูลักษณะคล้าย ๆ กัน ก็สามารถเทียบได้ว่าเมนูของไทย ยังคงดีกว่าเกาหลี
ภาพยนตร์แห่งปี โชว์ความเป็นไทย
ไนน์เอ็นเตอร์เทน เปิดโผผู้เข้าชิงรางวัล ‘ภาพยนตร์แห่งปี’ ประกอบด้วย สัปเหร่อ, ขุนพันธ์, แมนสรวง, 4 Kings 2, มนต์รักนักพากย์ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นภาพยนตร์ที่แสดงความเป็นไทย ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 จำนวน 18,461 Engagement โดยเสียงในโลกออนไลน์ต่างชื่นชมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยด้วยความภาคภูมิใจ
T-Pop vs K-Pop
มีการวิจารณ์อุตสาหกรรมเพลงไทย (T-Pop) ที่เริ่มมีกระแสซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการมีความเป็นชาตินิยมของคนไทย อีกทั้งยังวิจารณ์อุตสาหกรรมเพลงของประเทศเกาหลี (K-Pop) ที่กำลังอยู่ในจุดอิ่มตัว ในวันที่ 21 เมษายน 2567 จำนวน 39,129 Engagement ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ เห็นด้วย
#สงกรานต์2567
สังคมวิจารณ์ประเด็น #สงกรานต์2567 ซึ่งมีบุคคลดึงภาพวัฒนธรรมและกิจกรรมในไทย ไปเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ และอ้างว่าเป็นกิจกรรมของประเทศกัมพูชา ในวันที่ 16 เมษายน 2567 จำนวน 33,228 Engagement โดยมีความเห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวคือ “การขโมยทางวัฒนธรรม”
แม้ว่าไม่ใช่เรื่องจริง แต่การผลิตซ้ำเนื้อหาที่ไม่ถูกต้องจะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเปลี่ยนไปตามเนื้อหานั้น ๆ ในสายตาของคนทั่วโลก ซึ่งเสียงในโลกออนไลน์ส่วนใหญ่มีความเห็นที่ตรงกัน ทั้งในแง่ของการใช้เหตุผล โดยเสนอให้หน่วยงานราชการรีบจัดการกับปัญหาดังกล่าว และมีบางส่วนใช้คำดูถูกเหยียดหยามประเทศกัมพูชาด้วยคำว่า “เคลมโบเดีย”
ต้องเชียร์ไทยสิ!
สเตฟาน ซาลาโมเน่ อดีตนักแสดงชาวไทย วิจารณ์กรณีสังคมไม่พอใจที่คนไทยเชียร์ทีมชาติเกาหลี ในรอบคัดเลือก ฟุตบอลโลก 2026 (โซนเอเชีย กลุ่ม C นัดที่ 4) ในวันที่ 27 มีนาคม 2567 จำนวน 24,499 Engagement ด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวพร้อมกับคำพูดที่ว่า “เราต้องเชียร์ไทยสิ เราต้องมีความภาคภูมิใจ คุณต้องเชียร์ทีมชาติตัวเองดิวะ” ทำให้คนในสังคมต่างก็เข้ามาแสดงความเห็นที่หลากหลายทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย
ศึก กะเทยไทย vs กะเทยฟิลิปปินส์
เหตุการณ์ทะเลาะวิวาทระหว่างกลุ่ม กะเทยชาวไทย กับ กะเทยฟิลิปปินส์ ในซอยสุขุมวิท 11 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 จำนวน 30,984 Engagement ประเด็นนี้ชาวไทยส่วนใหญ่ต่างเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันอย่างล้นหลาม ทั้งในเชิงตลกขบขันจากสถานการณ์-ภาพเหตุการณ์จริง และเชิงปกป้องความเป็นชาติของตัวเองด้วยข้อความที่รุนแรง พร้อมทั้งสร้างความเกลียดชัง
จากที่ยกตัวอย่างจะเห็นว่าหลายเหตุการณ์แสดงให้เห็นว่าคนไทย มีทั้งการร่วมใจกันชื่นชม และสนับสนุนในความเป็นไทยกันอย่างเข้มแข็ง แต่ก็มีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้เห็นว่าในความเข้มแข็งนี้ หากมีเสียงบางส่วนเห็นแย้งและถูกพูดถึงในแง่ลบ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผล หรือด้วยอารมณ์ก็ตาม ก็จะส่งผลให้เกิดวิวาทะกันระหว่างคนไทยกันเอง หรือการใช้คำพูดดูถูกชาติอื่น ๆ โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่อาจจะตามมาในอนาคต จนนำไปสู่การเกลียดชังระหว่างประเทศ หรือการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันภายในประเทศได้
สถานการณ์ ชาตินิยมของไทย จึงดูเหมือนว่าไม่ได้ช่วยส่งเสริมให้ชาติไปในทิศทางบวกมากนัก นี่คือมุมมองของ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ ที่เห็นว่า ขณะนี้ชาตินิยมของไทยถูกรัดด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียว โดยการศึกษา หรือหน่วยงานด้านความมั่นคงทำให้การคิดเรื่องชาติ ไม่เห็นถึงความหลากหลาย ซึ่งคนไทยส่วนมากจะคิดว่าชาติไทยคือชาติของคนเชื้อชาติไทย แต่ทั้งที่แท้จริงแล้วชาติ คือ การที่คนจำนวนมากคิดถึงการอยู่ร่วมกันด้วยความหลากหลาย และประเทศไทยมีความหลากหลายทางเชื้อชาติอยู่จำนวนมาก
ยกตัวอย่างง่าย ๆ เวลาเราพูดถึงอาหารจีน หลายคนรวมถึงคนไทยเอง ก็จะนึกถึงทั้งอาหารจีนเสฉวน อาหารจีนแต้จิ๋ว อาหารจีนฮกเกี้ยน อาหารจีนไฮหลำ ซึ่งอาหารต่าง ๆ เหล่านี้ ก็เห็นได้ทั่วไปตามย่านต่าง ๆ ของไทย แต่พอมองกลับมาที่อาหารไทย จะพบว่า ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารของภาคกลาง ทั้งที่ประเทศไทยมีถึง 4 ภาค และแน่นอนว่า อาหารไทยก็ต้องมีความหลากหลายเช่นกัน หรือแม้กระทั่งความหลากหลายทางศาสนา ซึ่งเราจะเห็นว่าวันหยุดต่าง ๆ ในแต่ละปี จะไม่ค่อยมีวันหยุดของศาสนาอื่นเลยนอกจากศาสนาพุทธ
“พอมาเป็นเมืองไทย ความเป็นชาติของเราจะถูกทำให้มีศูนย์กลาง แล้วก็มีคนคอยบอกว่า อันนี้แหละ คือบรรทัดฐานหรือมาตรฐานกลางของความเป็นชาติไทย”
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
ดังนั้นความเป็นชาติในประเทศไทย จึงถูกทำให้กลายเป็นเรื่องของ ความเหมือนกัน และถูกเชื่อมโยงกับการเป็นชาติของคนชั้นสูง ซึ่งทำให้ระเบียบกฎเกณฑ์บางอย่างมองไม่เห็นความเหลื่อมล้ำและความหลากหลายของสังคมไทย
อย่างไรก็ตามแม้จะมีความเป็นชาตินิยมก็ไม่ผิด ในทรรศนะของ ศิโรตม์ มองว่า สำนึกของความเป็นชาติมีข้อดีอย่างหนึ่งคือ เมื่อมีเหตุการณ์ที่ทำให้คนไทยรู้สึกว่าขณะนี้ชาติกำลังประสบปัญหา หรือคนในชาติกำลังประสบปัญหา หลายคนก็จะรู้สึกว่าต้องช่วยเหลือกัน ทุกคนเป็นพี่น้องกัน จึงต้องมีความเอื้ออาทรต่อกันและกัน มีความเจ็บร้อนแทนคนที่เป็นชาติเดียวกับเราเช่นเดียวกับหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา ซึ่งหากจะใช้ประโยชน์จากการมีความเป็นชาตินิยมของคนไทยได้ จะต้องตระหนักด้วยว่าเรามีความหลากหลาย มีต้นทุนที่หลากหลายด้วยพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ จนเกิดเป็นภาษา วัฒนธรรม หรืออื่น ๆ ที่สามารถนำมาเป็นพลังและใช้ในทางบวกได้
“เพราะฉะนั้น พลังของชาตินิยมในเชิงบวก คือทำให้รู้สึกว่าคนที่ในความเป็นจริงเราไม่รู้จักเขา ไม่ว่าจะเป็นคนไทยที่ดอยหลวง คนไทยที่รือเสาะ คนไทยที่พยุหคีรี คนไทยที่คีรีรัฐนิคม หรือว่าทีลอซู เป็นคนเหมือนกับเรา อันนี้คือพลังเชิงบวกของชาติ”
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์