ปลูกต้นไม้ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีของเมือง
หนึ่งในนยโยบายสำคัญของ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คือการเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยเริ่มต้นจากการคิกออฟปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้นไปเมื่อต้นเดือน ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจและมีหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมปลูกต้นไม้กับทางกรุงเทพมหานคร
สำหรับเป้าหมายการปลูกต้นไม้ล้านต้น เพื่อกักฝุ่น และมลพิษในเมืองกรุง สร้างร่มเงา ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ โดยแบ่งยุทธศาสตร์การปลูกเป็น 4 กลุ่ม ตามลักษณะของพื้นที่ ดังนี้
- พื้นที่ขนาดใหญ่ สวนสาธารณะน้อย เช่น เขตหนองจอก เขตคลองสามวา เป้าหมายเพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ปลูกไม้ยืนต้น 75% พุ่มกลาง 20% เถา 5%
- พื้นที่ขนาดใหญ่ สวนสาธารณะมาก เช่น เขตประเวศ เขตจตุจักร เป้าหมายเพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ปลูกไม้ยืนต้น 75% พุ่มกลาง 20% เถา 5%
- พื้นที่ขนาดเล็ก สวนสาธารณะน้อย เช่น เขตสัมพันธวงศ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เป้าหมายเพื่อกักฝุ่น และมลพิษในเมืองกรุง ให้ร่มเงา ปลูกไม้ยืนต้น 40% พุ่มกลาง 50% เถา 10%
- พื้นที่ขนาดเล็ก สวนสาธารณะมาก เช่น เขตพระนคร เขตดุสิต เป้าหมายเพื่อกักฝุ่น และมลพิษในเมืองกรุง สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ปลูกไม้ยืนต้น 30% ไม้พุ่มกลางไม่เกิน 70%
โดยมีการตั้งเป้าการปลูกในส่วนราชการอื่น ๆ 10,000 ต้น ภาคประชาชน 50,000 ต้น สำนักสิ่งแวดล้อม 200,000 ต้น บริษัทเอกชน 240,000 ต้น และสำนักงานเขต 500,000 ต้น โดยชุมชนในพื้นที่ กทม. ร่วมกันเพาะกล้าไม้ ช่วยสร้างการจ้างงานเพิ่มในชุมชน
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการนี้ มีส่วนร่วมกับภาคเอกชนได้เยอะมาก ที่ผ่านมาคนมักพูดว่าอยากให้มีพื้นที่สีเขียวในเมืองเยอะๆ เหมือนสิงค์โปร์ ไต้หวัน นำมาสู่นโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น ของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ตัวเลขล้านต้นอาจดูเหมือนเยอะ แต่อยากให้การปลูกต้นไม้ไม่ใช่แค่การปลูก แนวคิดที่ลึกกว่านั้นคือ การสร้างระบบนิเวศที่ดีของเมือง ด้วยแนวคิดที่เป็นรูปธรรม เช่น สวนที่เข้าถึงได้ในสิบห้านาที การมีพื้นที่สีเขียวใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ให้คนในเมือง รวมไปถึงมิติเศรษฐกิจ อย่างคนขายต้นกล้า ก็จะได้มีอาชีพ มีส่วนร่วมในการสนับสนุนต้นไม้ให้กับ กทม. ตลอดจนการประเมินทางสิ่งแวดล้อมระดับโลก การวัดผลคารบอนเครดิตต่างๆ ที่ กทม. จะต้องชดเชย จากการปลูกต้นไม้ในแต่ละปี ดังนั้นจึงต้องคิดให้ครบทุกมิติ
“อย่างที่โรงขยะหนองแขมอ่อนนุช มีมลภาวะทางกลิ่นชัดเจน กระทบกับชาวบ้าน ก็จะหาต้นไม้มาปลูกใหม่ให้ทำหน้าที่เป็นกำแพง ดักกลิ่น ดักฝุ่นละอองขนาดเล็ก ดังนั้นการปลูกต้นไม่จึงไม่ใช่แค่ปลูก แต่จะปลูกให้ได้ประโยชน์สูงสุด และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของเมืองได้ต้องอาศัยแนวคิดระยะยาว ต้องให้เวลาและมีแผนที่ไม่ใช่แค่ปลูกแค่นั้น”
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
1 เดือน ปลูกแล้ว 2.6 หมื่นต้น คาดปลูกได้เกินเป้าหมายจากความร่วมมือทุกภาคส่วน
ปัจจุบัน กทม. ได้ดำเนินการปลูกต้นไม้แล้ว จำนวน 26,122 ต้น แบ่งเป็น ไม้ยืนต้น 9,692 ต้น ไม้พุ่ม 11,776 ต้น และไม้เลื้อย 4,654 ต้น โดยเขตบางกะปิ ปลูกมากที่สุด คิดเป็น 37%
สำหรับหน่วยงานภาคเอกชนที่แจ้งความประสงค์ปลูกต้นไม้ ได้แก่ ดิ เอราวัณ 100 ต้น ปตท. 100,000 ต้น SCG 100,000 ต้น แสนสิริ 20,000 ต้น CP 100,000 ต้น สมาคมนักธุรกิจไต้หวัน 50,000 ต้น ThaiPBS 1,000 ต้น Dubble A 100,000 ต้น Bangkok Residence 400 ต้น AIA 10,000 ต้น Central Group 100,000 ต้น รวมจำนวน 581,400 ต้น และยังมีเอกชนอีกหลายแห่งซึ่งอยู่ระหว่างการยืนยันจำนวน
นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานอื่น ๆ ที่ กทม. ได้ประสานขอไป เช่น สภาอุตสาหกรรม หอการค้าไทย อยู่ระหว่างการตอบรับ ดังนั้นจะมีเกือบ 600,000 ต้น ที่ภาคเอกชนให้มาแล้ว
“ถ้าเราร่วมมือกันโดยไม่ใช้งบประมาณสามารถดำเนินการได้เร็ว เป็นนโยบายระยะยาว เนื่องจากต้องใช้เวลาปลูก แต่เราเริ่มต้นได้เร็ว เชื่อว่า 4 ปี เราได้ครบหนึ่งล้านต้น กรุงเทพจะมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน”
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
เตรียมพบกับ แอป. Bkk-Plant แสดงข้อมูลต้นไม้แบบเรียลไทม์
ข้อมูลต้นไม้ที่ได้ปลูกแล้ว 26,122 ต้น จะถูกบันทึกอยู่ในฐานข้อมูลในแอปพลิเคชัน BKK-plant ทั้งหมด แสดงผลแบบเรียลไทม์ โดยมีรายละเอียดชื่อกิจกรรม วันที่ปลูก สถานที่ปลูก ชนิดของต้นไม้ และชนิดของต้นไม้ที่แนะนำสำหรับพื้นที่ พร้อมรูปถ่าย พร้อมการคำนวณคาร์บอนเครดิตให้กับเมืองได้ แต่ขณะนี้แอปพลิเคชันดังกล่าวยังอยู่ระหว่างพัฒนา คาดว่าประชาชนจะสามารถดาว์นโหลดใช้งานได้ภายในช่วงปลายปีนี้