ภาวะ โลกร้อน โลกเดือด คือสัญญาณสำคัญที่เป็นภัยคุกคามคนทั้งโลก นี่อาจเป็นหายนะที่มาพร้อมกับภัยพิบัติอย่างไม่มีวันลด
แล้วภัยพิบัติของไทยที่เผชิญกันทุกปี ก็ยังหนีไม่พ้น น้ำท่วม-น้ำแล้ง จนไม่ว่ารัฐบาลไหน ๆ ก็ต้องแก้ปัญหา และสนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือทุกปีซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ปัญหาก็ยังอยู่เหมือนเดิม ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่สังคมอาจต้องเปลี่ยนวิธีคิด เพื่อหาทางออกผ่านนโยบายที่ถูกทาง
เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า การแก้ปัญหายังเป็นไปในทิศทางสั่งการจากนโยบายของฝ่ายการเมือง ในลักษณะบนลงล่างที่สร้างการมีส่วนร่วมได้น้อย Policy Forum ครั้งที่ 3 จึงเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันพูดคุย ระดมสมอง เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจกันในประเด็นการแก้ปัญหาด้านน้ำ
ผ่านตัวแทนนักวิชาการ เครือข่ายภาคประชาชน ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรด้านน้ำของไทยทั่วประเทศ ให้ทุกฝ่ายเปิดใจร่วมสะท้อนแนวทางการจัดการน้ำ และหาทางออกร่วมกันจนนำมาสู่การออกแบบข้อเสนอเชิงนโยบาย สร้างการมีส่วนร่วม จนเกิดนวัตกรรมด้านน้ำที่สามารถต่อยอดไปสู่การรับมือด้านน้ำที่ดีขึ้น
ไทยอยู่ในวังวน ท่วม – แล้ง ซ้ำซาก
ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับวังวนปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ซ้ำซากที่เกิดจากความแปรปรวนสภาพอากาศ ซึ่งหลายเหตุการณ์ทั้ง อุทกภัยใหญ่ และภัยแล้งหนักที่เกิดขึ้น กลายเป็น “ภาพจำ” ของภัยพิบัติที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี
- ปี 2547-2548 “เขื่อนน้ำน้อยเป็นประวัติการณ์”
ปรากฏกการณ์คลื่นความร้อน เอลนีโญ ที่ผ่านเข้าแถบเอเชียตั้งแต่เดือนกันยายน 2547 ทำให้ไทยเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง และแล้งต่อเนื่อง ภัยแล้งที่ต่อเนื่องไปถึงกลางปี 2548 ยิ่งทำให้ภาคเกษตรขาดแคลนน้ำมาก โดยปริมาณน้ำในเขื่อนภาคอีสาน และภาคกลาง อย่างอ่างเก็บน้ำเขื่อนจุฬาภรณ์ ลำตะคลอง ทับเสลา และ กระเสียว ลดน้อยลงเป็นประวัติการณ์ ถึงขั้นวิกฤต
ขณะที่พื้นที่ภาคตะวันออก อ่างเก็บน้ำหลายแห่งต้องเฝ้าระวังน้ำน้อย อยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 14-29 อย่างเช่น อ่างเก็บน้ำบางพระ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และคลองสียัด หลายพื้นที่ในจังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี และตราด เกิดภาวะขาดแคลนน้ำ ทั้งในภาคการอุปโภค บริโภค ภาคเกษตร และอุตสาหกรรม
- ปี 2554 “มหาอุทกภัย”
อิทธิพลโดยตรงและโดยอ้อมจากพายุที่เคลื่อนตัวจากทะเลจีนใต้ถึง 5 ลูก ตั้งแต่ พายุโซนร้อนไหหม่า นกเตน ไห่ถาง เนสาด และนาลแก รวมถึงปริมาณน้ำสะสมในเขื่อนมีมาก และเมื่อมวลน้ำจากลุ่มน้ำยมไหลมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยามากถึง 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้เกิด “มหาอุทกภัย” น้ำท่วมในทุกภาคของประเทศ
โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ที่ถูกน้ำท่วมหนักและรุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ไม่เว้นแม้แต่สนามบินดอนเมืองต้องจมน้ำ
พื้นที่การเกษตรเสียหายถึง 11.2 ล้านไร่ ธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายมากถึง 1.44 ล้านล้านบาท ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ถึงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดและนำมาสู่การวางแผนรับมือในอุทกภัยในระยะยาวมากขึ้น
- ปี 2557-2558 “แล้งหนักทั่วประเทศ”
ผ่านมาอีกไม่ถึง 3 ปี เกิดสถานการณ์ฝนตกน้อยผิดปกติต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดภัยแล้งรุนแรงทั่วประเทศขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะปี 2558 ปริมาณฝนรายปี อยู่ที่ 1,247 มิลลิเมตร ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนิโญกำลังแรงมาก (Very Strong Elnino/Super Elnino) แม่น้ำสำคัญหลายสาย อย่างแม่น้ำปิงแห้งจนเดินข้ามได้
ปีนั้นกรมชลประทานประกาศงดปลูกพืชฤดูแล้ง 1.59 ล้านไร่ แต่มีการปลูกจริงถึง 4 ล้านไร่ ซึ่งเกินจากแผนไปมาก จึงมีการห้ามสูบน้ำจากคลองส่งน้ำต่าง ๆ เพื่อจัดสรรให้เพียงพอ ส่งผลให้พื้นที่เกษตรเสียหาย 1.65 ล้านไร่ เกษตรกรประสบภัยกว่า 1.7 แสนคน หลายพื้นที่เกิดภาพความขัดแย้งระหว่างผู้ใช้น้ำ เช่น ที่คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ชาวนาแย่งน้ำทำนาจนเกิดการกระทบกระทั่งกัน
- ปี 2560 “น้ำท่วมอีสานครั้งใหญ่”
แต่หลังจากนั้นอีกเพียง 2 ปีกลับเกิดสถานการณ์ฝนตกมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในปี 2560 และเกิดมหาอุทกภัยใหญ่ที่สร้างความเสียหายร้ายแรงที่สุดในรอบ 30 ปีที่ จ.สกลนคร จากอิทธิพลของพายุโซนร้อนตาลัส และเซินกา ปริมาณฝนสะสมในเขต อ.เมืองสกลนคร วันที่ 28 กรกฎาคม 2560 สูงถึง 180.3 มิลลิเมตร ในวันนั้น ปริมาณน้ำในลำห้วยทราย ที่รับน้ำจากเทือกเขาภูพานล้นตลิ่ง และมีมวลน้ำขนาดใหญ่จากหลายแห่ง ไหลเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ สนามบินถูกปิด ขณะเดียวกัน อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นเกิดการชำรุด ทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อน ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรเสียหาย
ความแปรปรวน ใน รอบ 20 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดความเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาล สถิติข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่าตั้งแต่ปี 2547– 2565 เกิดน้ำท่วม 98 ครั้ง มีมูลค่าความเสียหาย 76,489 ล้านบาท ส่วนภัยแล้ง คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 17,190 ล้านบาท
- ปี 2566 ไทยกำลังเดินเข้าสู่ปรากฏการณ์ ร้อน แล้ง รุนแรงขึ้น
ปีนี้ไทยเปลี่ยนผ่านจากปรากฏการณ์ลานีญา มาสู่ เอลนีโญ หรือภาวะร้อน แล้ง น้ำน้อยอีกครั้ง ตั้งแต่ต้นปีฝนก็ยังตกน้อยกว่าค่าปกติ (1 ม.ค.-13 ส.ค 2566) ร้อยละ 19 ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่าปรากฏการณ์เอนโซ ที่อยู่ในสภาวะเอลนีโญ กำลังอ่อนมีแนวโน้มที่จะแรงขึ้นในช่วงปลายปี 2566 จากนั้นจะมีกำลังอ่อนลงและจะต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2567 ก่อนที่ในปี 2573 ไทยก็จะเสี่ยงเผชิญน้ำท่วมใหญ่คล้ายปี 2554
เป้าหมายขับเคลื่อนนโยบายน้ำประเทศไทย
รศ.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านการบริหารจัดการน้ำ ระบุว่า ทุกประเทศเมื่อมีเจริญเติบโตความต้องการใช้น้ำก็จะมีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกิจกรรมเพื่อเศรษฐกิจ จึงทำให้แนวโน้มการเติมโตเรื่องการใช้น้ำมีมากขึ้น แต่ว่าในแง่ของการจัดหาเรามีข้อจำกัดว่าโอกาสที่จะสร้างเขื่อนใหม่ก็ยากขึ้น และการเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ฝนที่ตกตกไม่ตามฤดูกาลทำให้การจัดการยากขึ้น แนวโน้มที่จะทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำในอนาคตก็จะมีเพิ่มขึ้นสูงขึ้นกว่าในอดีต
“การจัดการน้ำแต่ละภาคส่วนในแง่ความเสี่ยงเราต้องมองพื้นที่ไหนมีพื้นที่มากที่จะได้รับความเสี่ยง สำหรับประเทศไทย ภาคกลาง และภาค EEC รวมกันแล้ว ก็มีมูลค่าของ GDP กว่า 60-70% ถือเป็นพื้นที่สำคัญถ้าจุดนี้มีปัญหาเศษฐกิจของประเทศก็จะหยุดเลยในแง่การโฟกัสต้องมองด้านนี้ด้วย อย่างภาคเกษตรเองก็มีการใช้น้ำมากที่สุดเกือบ 70% เพราะถ้าเราลดภาคเกรษตกร 10-15% ได้มันก็จะมาใช้ในส่วนภาคอื่นได้ดียิ่งขึ้น เราแนะนำว่าเราต้องใช้วิทยาการ ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วย เพื่อให้เราใช้วิทยาการตามเกณฑ์ที่มันพึงมี อันนี้คือหลักใหญ่”
รศ.สุจริต คูณธนกุลวงศ์
ประธานแผนงานวิจัยยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านการบริหารจัดการน้ำ ยังบอกอีกว่า ภาคเกษตรเองก็จะมีปัญหาว่าโลกมันเปลี่ยน อย่างการทำ ข้าวอย่างเดียวไม่ได้เป็นรายได้หลักเสมอไปในอนาคต เพราะฉะนั้นคงต้องเพิ่มเกษตรทางเลือก อย่างภาคอุตสาหกรรมการใช้น้ำมีตลอดเวลา บางแห่งใช้ 24 ชั่วโมง การหยุดในกระบวนการต่าง ๆ ก็จะเกิดผลกระทบ ทางเขาเองก็จะต้องประเมินความเสี่ยง หาแหล่งน้ำสำรอง หรือไม่ก็อาจต้องใช้น้ำซ้ำ เป็นการประหยัดน้ำไปในตัวเป็นมาตรการเสริม
ส่วนในภาคบริการคงเน้นอาคารใหญ่หรือเน้นการใช้น้ำในช่วงเสาร์ อาทิตย์โดยเฉพาะภาคโรงแรมและห้างสรรพสินค้าตรงนี้ต้องมีมาตรการเสริมทั้งในแหล่งน้ำสำรองและการใช้น้ำซ้ำในตัวมันเอง อย่างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยหลักการก็ควรใช้น้ำอย่างประหยัด และเก็บน้ำไว้ในยามจำเป็นในส่วนนี้การจัดการในไทยก็ให้ความสำคัญกับภาคอุปโภคและบริโภคอยู่แล้ว การขาดแคลนอย่างมากมายอาจจะไม่มี แต่ภาพรวมแล้วก็ควรจะมีแหล่งน้ำสำรองตัวเอง
ยังมีอีกหลากหลายประเด็นคำถามด้านการจัดการน้ำที่ชวนให้ รศ.สุจริต ช่วยอธิบาย และหาคำตอบไปสู่แนวทาง ข้อเสนอการจัดการน้ำของไทย
ระยะยาวต้องลดการใช้น้ำอย่างไร ?
รศ.สุจริต อธิบายโดยสมมติว่าปีหนึ่งใช้น้ำอยู่ที่ 4 -5% ถ้ามองระยะยาว 10-20 ปี ก็จะพบว่ามี 10-20 % ถ้าสามารถประหยัดน้ำได้ 20% ก็จะสามารถชดเชยในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น แม้จะมี Climate Change ก็ควรจะมี Buffer เหลือ 10-20 % แล้วก็ต้องหาแหล่งน้ำสำรองอีก 10-20% ก็จะได้เกิดเป็นสมดุลใหม่ อย่างการเติบโตใช้น้ำไปมันก็มีวันหมด หรือถ้าเกิดแล้งจริง ๆ ก็ต้องอยู่ได้ ต้องมีแผน 2 แผน แผนประหยัดน้ำ และแผนใช้น้ำสำรอง และแผนเผื่อสำรับยามฉุกเฉินนี้คือภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่ต้องเผื่อไว้เลย
แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นอย่างไร ?
สำหรับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยรวม ๆ ในเรื่องของการสร้างความมั่นคง สร้างรายได้ และสร้างการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นโดยภาพรวมยังเป็นอยู่ แต่ว่าผ่านไป 5 ปีแล้ว พ.ร.บ.น้ำออกมาแล้ว ก็ยังจัดความสมดุลในเรื่องการจัดการและการจัดหาที่ยังไม่สอดคล้องกัน กรรมการลุ่มน้ำเองที่มีหน้าที่จัดสรรเรื่องนี้ก็ยังเพิ่งเริ่มทำงานนี้ก็เป็นช่องว่าง ที่การดำเนินการอาจไม่ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
“เราควรจะมีแผน 1 ปี 2 ปี หรือเปล่า ใครจะเป็นคนทำ และทำแล้วฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะมีกลไกอย่างไรที่จะไปส่งเสริมหรือไปบังคับใช้เป็นไปตามแผนที่เกิดขึ้น ผมคิดว่ายังมีช่องว่างตรงนี้อยู่อย่างมากมาย”
รศ.สุจริต คูณธนกุลวงศ์
การสูบน้ำแบบฉลาด 3R PLUS
รศ.สุจริต ยังอธิบายถึง วิทยาการในการวิจัยในปัจจุบันนี้ สามารถที่จะทำนายล่วงหน้าได้ 3 ชั่วโมง 14 วัน และ 3 เดือน ส่งผลให้ 1. สามารถนำข้อมูลในอนาคตมาวางแผนประกอบในปัจจุบัน 2. ควรมีระบบเซนเซอร์ หรือ IOT ข้อมูลในจุดที่สำคัญได้ทุก ๆ 15 นาที ในแง่นี้ ทุก ๆ อบต. จะรู้ว่าตัวเองมีน้ำอยู่เท่าไร และล่วงหน้าอีก 2 สัปดาห์แนวโน้มจะเป็นอย่างไร
“เราสามารถจะแจ้งสมาชิกของพวกเราได้และก็สามารถลดการใช้น้ำได้วันนี้ผมมองว่าการบริหารน้ำโดยอาศัยข้อเท็จจริงและอาศัยข้อมูลที่ทำนายอนาคตประกอบช่วยการวางแผน การบรหารจัดการน้ำได้ดีขึ้น”
รศ.สุจริต คูณธนกุลวงศ์
สำหรับพื้นที่ EEC ที่อาจใช้น้ำอยู่ที่ 1,000 กว่าล้าน ลบ.ม.ต่อปี ซึ่งต่อไปแนวโน้มจะขึ้นเป็น 2,000 กว่าล้าน ลบ.ม.ต่อปี ระบบในปัจจุบันที่จะสามารถสร้างท่อเชื่อมอย่างตัว EEC ใช้น้ำจากฉะเชิงเทรา และฝั่งจันทบุรีเข้ามาช่วย ดังนั้นการสูบน้ำก็จะสูบน้ำในหน้าฝน ถ้ารู้แนวโน้มน้ำจะดีไม่ดี จะได้รู้ว่าควรสูบมากสูบน้อยแค่ไหน เป็นเรื่องหนึ่งที่ช่วยให้การตัดสินใจทำได้ดีขึ้น ดังนั้นการสูบน้ำเป็นพลังงานค่าไฟฟ้า ถ้าประหยัดตรงนี้ได้ ก็จะประหยัดไฟ และจะได้น้ำตามสมควร
อีกด้านหนึ่งคือผู้ใช้น้ำตามโรงงานต่าง ๆ ที่เป็นผู้ใช้หลัก รวมถึงโรงแรม หากรู้ว่าช่วงนี้น้ำไม่ค่อยดี เขาก็ต้องช่วยประหยัดน้ำ ช่วงนี้น้ำวิกฤตแล้ว อาจต้องใช้น้ำซ้ำ จากน้ำที่ระบายทิ้งทะเลเปล่า ๆ ก็คิดเอามาใช้ใหม่ในส่วนที่เป้นสีเขียวที่เรียกหล่อเย็น ส่วนนี้ก็จะช่วยลดการดีมาณขึ้นมาโดยเฉพาะช่วงวิกฤต เราก็ต้องสร้างสมดุลใหม่ให้เกิดขึ้นมาแต่ละปี ในส่วนนี้ก็ต้องหารูปแบบกลไกบนข้อมูลใช้ข้อมูลด้านนวัตกรรมให้ทำให้ทันสมัยมากขึ้นก็จะนำไปสู่การจัดการที่สมดุลที่ตกลงกันได้
ใน EEC มีลักษณะแบบนี้มากน้อยแค่ไหน ?
นักวิจัย บอกว่า การทำนายฝน สามารถพัฒนาได้ดีขึ้น ส่วนในโรงงานที่ติดตั้ง 3R มีปัญหา คือต้องใช้คนเข้าไปจับตาดู แต่ถ้าใช้เทคโนโลยี ข้อมูลก็จะส่ง automatic โดย WiFi ในโรงงาน จะสามารถใช้ข้อมูลได้ และถ้าใช้น้ำเกินก็ลดน้ำไม่ต้องรอข้ามวัน ไม่ต้องใช้คน ใช้คนเท่าเดิม ก็ไปทำอยู่ประมาณ 30-40 โรงงานในแต่ละประเภท ซึ่งมีทั้งหมดกว่า 7,000 โรงงาน ใน EEC มี 3,500 แห่ง อยู่ในนิคมฯ และ 3,500 แห่ง อยู่นอกนิคมฯ ซึ่งก็มีการสนับสนุนการใช้น้ำและประหยัดน้ำอยู่แล้ว ส่วนนอกนิคมฯ ก็มีสนับสนุนให้โรงงานเอาระบบนี้เข้าไปใช้ เพื่อลดความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำของตัวเอง
การจัดการน้ำในโครงการชลประทาน SANDBOX (โครงการท่อทองแดงประหยัดน้ำตั้งแต้นน้ำ)
ปัจจุบันโครงการชลประทานของประเทศไทยมีประมาณ 22% ใช้น้ำประมาณเกือบ 70% โดยโครงการชลประทาน จะสร้างรายได้ด้วย และความมั่นคงด้วย สิ่งที่ทำคือคนที่มีหน้าที่ส่งน้ำ และการใช้น้ำต้องมีข้อมูลเดียวกัน
“การใช้น้ำมีการจัดคิวคนนี้ได้ 9 โมงเช้า เที่ยงคืน ก็สามารถจัดระบบให้คุยกันได้ และการจัดน้ำ คือ มีคนใช้น้ำที่จัด จริง ๆ และพอใช้เสร็จก็รอส่งใหม่ ปัจจุบันไทยบริหารจัดการน้ำด้วยการใช้ข้อมูลสถิติ ว่า แนวโน้มจะเป็นอย่างไร อาจจะไม่เป็นไปตามจริง ชาวบ้านก็อาจเชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้าง ถ้าเขามีข้อมูลน้ำของเขาเอง และสามารถเช็กได้ว่าน้ำมาจริง ๆ เขาก็จะจัดระบบตัวเองให้เข้ากับระบบกลางที่จัดให้ได้ ที่เราวิจัยก็พบว่าการมีข้อมูลสื่อสารที่ใกล้เคียงความจริง และเวลาในการสื่อสาร ก็จะจัดระบบที่ลดการสูญเสียน้ำได้ จริง ๆ”
รศ.สุจริต คูณธนกุลวงศ์
มุมมองเชิงนโยบาย
- ควรมีการใช้เทคโนโลยีให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น เพราะเทคโนโลยีราคาถูก
- นำระบบเข้าไปติดตั้งในส่วนที่สำคัญก่อน เช่น ใน EEC หรือโครงการชลประทานขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำเยอะ จะเป็นผลชัดเจนยิ่งขึ้น
- ในส่วนของตัวชุมชนในกลุ่มผู้ใช้น้ำปัจจุบัน ระบบองเซนเซอร์ หรือไลน์ต่าง ๆ ข้อมูลเหล่านี้ผ่านเข้ามายังกรมชลประทานและสามารถส่งไปที่ไลน์ชาวบ้าน จะได้วางแผนปลูกพืชที่เหมาะสม ดังนั้นจำเป็นต้องมีผังน้ำระดับตำบล ต้องรู้น้ำมีเท่าไร น้ำใช้เท่าไร เมื่อทำสมดุลน้ำได้ ก็จะรู้ว่าน้ำขาดเท่าไร และจะหามาจากไหนได้บ้าง ถ้าให้ตำบลเป็นเจ้าภาพดูแลก็จะทำให้ตำบลสามารถรู้ความต้องการ ถ้าไม่พอก็แบ่งน้ำกันได้ ไม่พอก็จะไปขอจากกลุ่มอื่น นี่คือส่วนหนึ่งที่พิสูจน์ชัดว่าเครื่องมือสารสนเทศ สามาถช่วยแก้ปัญหาได้
จากนี้ไปในช่วงภาวะโลกแปรปรวน ในแต่ละพื้นที่กำลังจะพูดถึงการหาสมดุลน้ำใหม่ คือ ภายใต้น้ำที่ไม่แน่นอน การใช้เทคโนโลยีจะช่วยตรวจสอบได้ว่าน้ำเป็นอย่างไร สุดท้ายการมีส่วนร่วมเพื่อใช้ข้อมูลระบบที่มีอยู่ให้กฎ กติกา จัดสรรน้ำเป็นธรรมเป็นที่ตกลงกันได้จะช่วยให้ชุมชน อยู่ด้วยกับระบบได้ดียิ่งขึ้น
“ผมคิดว่าเราพยายามสื่อสารการใช้น้ำอย่างประหยัด เพิ่มมูลค่าและใช้วิทยาการสมัยใหม่”
รศ.สุจริต คูณธนกุลวงศ์
ใน Policy Forum ครั้งที่ 3 ที่ผ่านมา จึงเป็นการเปิดพิ้นที่ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันระดมสมอง จนนำไปสู่ข้อสรุปเชิงนโยบายเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการน้ำดังนี้
นวัตกรรมการสูบน้ำแบบฉลาด 3R PLUS
โดยใช้ระบบ MIS ที่สามารถคาดการณ์ปริมาณน้ำ อย่างน้ำต้นทุน ความต้องการน้ำ ซึ่งการคำนวณยังสร้างสมดุลน้ำอย่างยั่งยืน ด้วย 3Rs และ IOT จริง ๆ แล้วการลดการใช้น้ำทุกภาคส่วน ด้วย 3Rs ทำได้ทั้งในภาคอุปโภค-บริโภค, การท่องเที่ยว, อุตสาหกรรม, เกษตรกรรม ซึ่งในกระบวนการลดการใช้น้ำ Reduce จะสามารถลดความต้องการน้ำต้นทุน ส่วนการลดการสูญเสียน้ำ Reuse การนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ และ การใช้น้ำอย่างคุ้มค่าด้วย การ Recycle การบำบัดน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่
ส่วน ระบบ IOT (Internet Of Thing) ติดตามน้ำได้ทั้งระบบ โดยระบบนี้จะมี Sensor ตรวจวัด Platform การเก็บข้อมูล การสั่งการ ผ่าน APP การแสดงผล Realtime
โดยข้อเสนอจากผู้เข้าร่วมประกอบด้วย
- ต้องมีมาตรการที่ชัดเจน
- เพิ่ม R ที่สี่คือ Rain ระบบกักเก็บน้ำฝนมาใช้
- แยกประเภทน้ำ น้ำบำบัด น้ำเสีย ควรมีตัวกลางรับน้ำมาบำบัด และเร่งรัดออกมาตรฐาน และสุดท้ายน้ำฝน
- มีกลไกรับน้ำกลับมาใช้ ต้องมีมาตรฐาน จะทำให้ประชาชนสบายใจ และกล้าใช้
- การสร้างแรงจูงใจ ในระบบ 3R
- ให้ทดลองทำ Sandbox แล้วค่อย ๆ ต่อยอด ให้มีความเป็นเอกภาพในการจัดการน้ำ
สิ่งที่รัฐสนับสนุนได้ในระดับนโยบาย หากมีการผลักดัน 3Rs ให้ผ่านมาตรฐานการสนับสนุน เช่น การลดภาษี, ต้องมีหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) ดูแลกฎหมายข้อกำหนดกฏเกณฑ์, มีกฎหมายระบบน้ำในอาคาร อย่างน้ำสำรอง การดูแลรักษา ระบบกักเก็บน้ำฝน และต้องสร้างความเป็นเอกภาพทุกภาคส่วนร่วมจัดการ
การบริหารจัดการเขื่อนด้วย AI
สำหรับโมเดลการปล่อยน้ำด้วย AI ในระบบจะดูน้ำต้นทุน น้ำเข้า เพราะสามารถพยากรณ์น้ำไหลเข้าล่วงหน้าได้ 7 วัน และมีการดูน้ำท้ายเขื่อนแต่ละจุดปล่อยน้ำ ในส่วนนี้มีการกำหนดการระบายน้ำร่วมกัน ในลำน้ำ จะมีกำหนด Threshold Storage เกณฑ์การกักเก็บ โดยในการบริหารจัดการด้วยแบบจำลอง CP (Constain Programing) จะมีทั้งการนำข้อมูลน้ำเข้ามา อย่างปริมาณน้ำต้นทุน ปริมาณน้ำท้ายเขื่อนจุดที่ 1 ปริมาณน้ำท้ายเขื่อน จุดที่ 2 ต่อมา กำหนดข้อจำกัด และวัตถุประสงค์Threshold Storage เกณฑ์การกักเก็บน้ำระบายน้ำ ถัดมาเป็นการแสดงผล สุดท้ายจะออกมาเป็นรูปแบบการระบายน้ำที่เหมาะสม
ข้อเสนอจากผู้เข้าร่วมประกอบด้วย
- สร้างความเชื่อมั่นต่อระบบข้อมูล เพราะมีความถูกต้องแม่นยำ มี Parameter ครบถ้วน (เพิ่มเรื่องความเค็ม) ระบบนี้ควรนำเสนอภาพแต่ละฤดูกาล การแสดงผล ซึ่งจะเห็นภาพข้อมูลเชิงเปรียบเทียบ ทั้งแบบ แผนตั้งต้น แผนแนะนำ และแผนจริง
- มีการฝึกอบรม และควบรวมกับระบบปัจจุบัน โดยมีหน่วยงานเป็นผู้รับมอบหลัก อย่าง EGAT และ กรมชลประทาน
สิ่งที่รัฐสนับสนุนได้ในระดับนโยบาย คือ งบประมาณเพื่อที่จะนำไปสู่การใช้งาน การดูแลรักษา ระบบ Cloud การเก็บข้อมูล นอกจากนี้การแชร์ข้อมูล เป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้ข้อมูลเข้มแข็ง เห็นข้อมูลแชร์ร่วมกันทุกหน่วยงาน รวมถึงเกษตรกรด้วย ซึ่งจะนำมาสู่การดึงข้อมูลแต่ละหน่วยงานมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อสรุป SANDBOX (โครงการท่อทองแดงประหยัดน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ)
จากความร่วมมือ 2 ภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และเกษตรกร ในระบบนี้มีการจัดการน้ำแบบอัตโนมัติ โดยจะมีเจ้าหน้าที่เป็นสื่อกลางประมวลสถานการณ์แสดงผล มีการ Monitor ติดตามการใช้น้ำ วัดการใช้น้ำรายแปลง มี Sensor วัดระดับน้ำ มี Sensor วัดความชื่นในดิน พอเห็นข้อมูลร่วมกันก็ควบคุมการส่งน้ำปล่อยน้ำเข้าพื้นที่ ระหว่างทางเกษตรกรก็จะเห็นข้อมูลชุดเดียวกัน รู้สถานการณ์ทุกอย่างที่หน่วยงานเห็น ทุกคนจะดูข้อมูลได้ทาง LINE เมื่อเป็นเช่นนั้น ทุกฝ่ายก็เข้าใจกัน ลดความขัดแย้ง ระหว่างเจ้าหน้าที่ปล่อยน้ำ และเกษตรกรผู้ใช้น้ำ
ข้อเสนอจากผู้เข้าร่วมประกอบด้วย
- อยากให้เพิ่มความละเอียด อย่างรัศมีการครอบคลุมแหล่งน้ำ ช่วงเวลาของพืชแต่ละชนิด หน้าที่การบำรุงรักษา
2. สร้างการเข้าถึงนวัตกรรม จัดอบรมในพื้นที่
3. ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
4. มีโมเดลทุกภูมิภาคแล้วค่อยขยายผล
สิ่งที่รัฐสนับสนุนได้ในระดับนโยบาย คือ ความร่วมมือจากสื่อ ติดตามนำเสนอข่าว เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนด้านการใช้น้ำและสร้างสมดุล สร้าง Soft Power วิถีเกษตรกรรมยั่งยืน และที่สำคัญต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ
ระบบภูมิสารสนเทศเพื่อน้ำชุมชน GIS
นี่เป็นระบบการจัดการน้ำชุมชนแบบมีส่วนร่วม ที่คนในชุมชนเข้าใจและทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งมาจากการช่วยกันเก็บข้อมูล ช่วยกันทำข้อมูล ทำผังน้ำและเส้นทางน้ำชุมชนร่วมกัน จากนั้นนำข้อมูลเข้าสู่ระบบสารสนเทศ วิเคราะห์ด้วยระบบ GIS (Geographic Information System) ระบบภูมิสารสนเทศ
ขณะเดียวกันยังมีการวัดปริมาณน้ำฝนและอุณหภูมิรายพื้นที่ มีการพยากรณ์อากาศระดับพื้นที่ และนำมาสู่การบริหารจัดการระดับพื้นที่ นำมาซึ่งแผนชุมชน ที่มีทั้งข้อบัญญัติ การสนับสนุน งบประมาณ รวมถึงการปรับวิถีประกอบอาชีพ สู่การจัดการน้ำอย่างยั่งยืน แปลงน้ำเป็นรายได้
ข้อเสนอจากผู้เข้าร่วมประกอบด้วย
- สร้างความเข้าใจก่อนนำไปปฎิบัติ เพราะทีมวิจัยที่ให้ข้อมูล ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย เข้าถึงชุมชน
- มีพี่เลี้ยงช่วยทำข้อมูล
- พัฒนาคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน
- คำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูล
- ปรับข้อมูลวิชาการให้เข้าใจง่าย
- แสดงภาพชัดเจน สร้างการมีส่วนร่วม แจ้งเตือนบอกข่าวสาร มี Index ชัดเจน
สิ่งที่รัฐสนับสนุนได้ในระดับนโยบาย คือ มีหน่วยงานดูแลต่อเนื่อง มีงบประมาณ ขยายโครงการลงพื้นที่ครอบคลุม มีข้อมูลโดยชุมชน สทนช. บรรจุเป็นแนวทางหลัก จัดตั้งคณะกรรมการจัดการน้ำเพื่อติดตามการทำงาน